APEC = Asia-Pacific Economic Cooperation หรือ ความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก มีสมาชิกทั้งหมด 21 เขตเศรษฐกิจ ดังนี้ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ จีน ฮ่องกง นิวซีแลนด์ สหรัฐอเมริกา บรูไน อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ ไทย จีนไทเป ชิลี เม็กซิโก ปาปัวนิวกินี เปรู รัสเซีย และเวียดนาม
21 เขตเศรษฐกิจ APEC ถือว่ามีความสำคัญอย่างมากค่ะ เพราะมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก ทั้ง สหรัฐ จีน ญี่ปุ่น นี่คือTOP 3 ของโลก และยังมีรัสเซีย เป็นหนึ่งในสมาชิกเอเปคอีกด้วย ในแง่ประชากรใน APEC รวมกันกว่า 2,900 ล้านคน ประมาณ 1 ใน 3 ของโลก GDP APEC มูลค่าเกินครึ่งโลก คือ 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐหรือ ประมาณ 1,700 ล้านล้านบาทมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก
สาระสำคัญของการประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพหัวข้อหลักการประชุม คือ Open Connect Balance หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุลประเทศไทยจะนำเสนอแนวคิด BCG คือเศรษฐกิจหมุนเวียน เศรษฐกิจสีเขียวมาเป็นแนวคิดหลักเพื่อขับเคลื่อนความร่วมมือต่อไป
ขณะนี้มีการตอบรับ 15 เขตเศรษฐกิจ ตัวแทนผู้นำเข้าร่วม 6 เขตเศรษฐกิจ แขกพิเศษเข้าร่วม 3 เขตเศรษฐกิจ ซึ่ง APEC2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ถือว่า เป็นการจัดประชุมแบบ Onsiteครั้งแรกในรอบ 3 ปีหลังสถานการณ์โควิด 19 คลี่คลาย ซึ่งเราคงจะได้เห็นความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศในเขต APEC ได้หารือกันในครั้งนี้ค่ะ
นายกรัฐมนตรี จะให้การต้อนรับการมาเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีเหวียน ซวน ฟุก ของเวียดนาม ในวันที่ 17 พ.ย.2565 นี้พร้อมมีการหารือทวิภาคี การเป็นสักขีพยานในพิธีแลกเปลี่ยนความตกลงและบันทึกความเข้าใจ การแถลงข่าวร่วม และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารค่ำแก่ผู้นำเวียดนามและภริยาด้วย
วันที่ 18 พฤศจิกายน ช่วงค่ำ นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการรับเสด็จฯ เยือนอย่างเป็นทางการของเจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อัลซะอูด มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุฯ พร้อมมีการหารือทวิภาคี พิธีการแลกเปลี่ยนความตกลงและบันทึกความเข้าใจ และเป็นเจ้าภาพงานเลี้ยงถวายพระกระยาหารค่ำแก่มกุฎราชกุมารและนายกรัฐมนตรีซาอุฯ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรี จะหารือกับนาง คริสตาลินา กอร์เกียวา กรรมการจัดการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ: IMF ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ด้วย
วันที่ 19 พฤศจิกายน ช่วงเที่ยง นายกรัฐมนตรีมีกำหนดการต้อนรับการมาเยือนของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน พร้อมมีการหารือทวิภาคี พิธีการแลกเปลี่ยนความตกลงและบันทึกความเข้าใจ และเป็นเจ้าภาพเลี้ยงอาหารกลางวันแก่ผู้นำจีนและภริยา
นอกจากการหารือแบบเต็มคณะกับ 3 ประเทศนี้แล้วนายกรัฐมนตรีมีกำหนดการหารือทวิภาคีกับนายเอมานูว์แอล มาครง ประธานาธิบดีแห่งฝรั่งเศส นายคิชิดะ ฟูมิโอะ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น นายแอนโทนี แอลบาเนซี นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย และนายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์ ส่วนช่วงเย็นของวันที่ 19 หารือทวิภาคีกับนางคามาลา เดวี แฮร์ริส รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำเนียบรัฐบาลด้วย
“การเป็นเจ้าภาพการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปกของไทย ตลอดจนการพบหารือกับผู้นำประเทศต่างๆ นี้ เป็นช่วงเวลาสำคัญของไทยที่จะแสดงบทบาทในเวทีระหว่างประเทศ เป็นโอกาสให้ได้กระชับความสัมพันธ์ระหว่างกันกับผู้นำแบบพบหน้ากันและเป็นโอกาสให้ได้ขยายความร่วมมือกับมิตรประเทศ การเป็นเจ้าภาพเอเปกของไทยจึงสะท้อนให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าไทยได้รับการยอมรับจากนานาชาติ และคงเป็นประเทศที่มีบทบาทสำคัญในเวทีโลก"