การประชุมเศรษฐกิจโลก หรือการประชุมประจำปีของสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum) เริ่มขึ้นแล้วปีนี้ที่เมืองดาวอส ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นปีแรกที่เหล่านักธุรกิจมหาเศรษฐี และบุคลากรรัฐระดับสูงของประเทศได้กลับมาพบปะหารือกันต่อหน้าในสกีรีสอร์ทสุดหรูหลังการระบาดของโควิด-19 ทำให้ผู้มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจเหล่านี้ต้องประชุมกันทางออนไลน์เมื่อต้นปีที่ผ่านมา
โดยในปีนี้ หัวข้อหลักที่จะนำการสนทนาทั้งการประชุมทั้ง 5 วัน ระหว่างวันที่ 16-20 มกราคม ก็คือ “Cooperation in a Fragmented World” หรือ “ความร่วมมือในโลกที่แตกแยก” ซึ่งจะเน้นการหารือเพื่อแก้ไขปัญหาที่กำลังส่งผลกระทบต่อทั้งโลก อย่างเช่น ปัญหาเงินเฟ้อ ค่าครองชีพสูง วิกฤติพลังงาน สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ปัญหาความมั่นคงทางอาหาร และปัญหาเกี่ยวกับสภาพอากาศ
ในโอกาสที่ผู้มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจทั่วโลกได้กลับมาพบปะกันในคราวนี้ ทีมข่าว Spotlight จึงอยากชวนทุกคนมาย้อนดูคร่าวๆ กันว่าการประชุมเศรษฐกิจโลก หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า “การประชุมดาวอส” ตามชื่อที่จัดนี้มีความเป็นมาอย่างไร และมีความสำคัญอย่างไรบ้างกับเศรษฐกิจโลก รวมไปถึงว่าในปีนี้ผู้นำเศรษฐโลกมีประเด็นฮอตอะไรต้องรีบพูดคุยกันบ้าง
การประชุมที่รวมสุดยอดผู้มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจจากภาครัฐและเอกชนจากทั่วโลก
สภาเศรษฐกิจโลก หรือ World Economic Forum เป็นองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรสัญชาติสวิส ที่ก่อตั้งขึ้นในปี 1971 โดยศาสตราจารย์เคล้าส์ ชวอบ (Klaus Schwab) ศาสตราจารย์ชาวเยอรมัน สาขาวิชาธุรกิจ แห่งมหาวิทยาลัยเจนีวา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการบริหารของ WEF
WEF เป็นองค์กรอิสระนานาชาติที่ได้รับความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน สมาชิกประกอบด้วย ผู้นำรัฐบาล รัฐมนตรีคลัง รัฐมนตรีการค้า รัฐมนตรีต่างประเทศ ผู้ว่าการธนาคารกลาง ผู้บริหารสูงสุดหรือซีอีโอของบริษัทชั้นนำทั่วโลก ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ องค์กรนานาชาติ เยาวชน ผู้คิดค้นนวัตกรรมเทคโนโลยี และตัวแทนประชาสังคม ที่มารวมตัวประชุมกันที่เมืองดาวอส ซึ่งเป็นเมืองสกีที่อยู่ในจุดที่สูงที่สุดของทวีปยุโรปเป็นประจำกันทุกปีเพื่อหารือและสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาของโลก โดยมีหลักการสำคัญคือความเป็นอิสระ ไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และไม่มีผลประโยชน์พิเศษซ่อนเร้น
ในคราวแรก ศาสตราจารย์ชวอบตั้งใจจัดการประชุมนี้ขึ้นมาเพื่อรวมตัวซีอีโอและผู้บริหารระดับสูงของบริษัทชั้นนำต่างๆ ทั่วยุโรปและสหรัฐอเมริกาให้มาปรึกษาหารือเรื่องการทำธุรกิจกัน ในช่วงแรกๆ ที่มีการจัดประชุม การประชุมดาวอสจึงมีภาพลักษณ์ว่าเป็นการประชุมของ ‘เหล่าอีลีตทางธุรกิจ’ มาพูดคุยเรื่องผลประโยชน์กันมากกว่าที่จะเป็นเวทีที่ให้ผู้นำมาพูดคุยเพื่อหาวิธีแก้ไขปัญหาระดับโลก
อย่างไรก็ตาม เมื่อการประชุมนี้เป็นที่สนใจมากขึ้นจากบุคลากรสำคัญจากทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก การประชุมที่ดาวอสก็กลายเป็นเวทีพบปะพูดคุยของบุคคลผู้มีอิทธิพลของโลกไป และทำให้มีความสำคัญในฐานะเวทีที่อาจกำหนดแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงบางอย่างในโลก จาก ‘การพูดคุยเล็กๆ’ อย่างไม่เป็นทางการที่ย่อมมีสิทธิเกิดขึ้นหากจับคนสำคัญทั่วโลกมาอยู่ด้วยกันในสกีรีสอร์ท
โดยตลอด 52 ปีที่มีการประชุมมา มีหลายๆ ไอเดียเกิดขึ้นมาจากการพูดคุยของเหล่าอีลีตด้านเศรษฐกิจกลุ่มนี้ แต่บางไอเดียก็ไปได้ไกลกว่าเพื่อน และกลายมาเป็นสนธิสัญญาและกรอบความร่วมมือจริงจังระหว่างประเทศ อย่างเช่น ในปี 1988 ที่มีการเซ็นสนธิสัญญา Davos Declaration กันที่การประชุม ซึ่งเป็นสนธิสัญญาที่ช่วยยุติความขัดแย้งระหว่างตุรกีและกรีซในขณะนั้น
ปี 1994 ที่มีการเสนอให้มีความตกลงการค้าเสรีอเมริกาเหนือ หรือ NAFTA ซึ่งเป็นกรอบการค้าเสรีระหว่างสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก
หรือปี 2000 ที่มีการก่อตั้ง Global Alliance for Vaccines and Immunisation (Gavi) องค์กรที่รวมทั้งภาคเอกชนและองค์กรระหว่างประเทศเข้าด้วยกัน โดยมีสมาชิกอย่างเช่น UNICEF มูลนิธิบิลและเมลินด้า เกตส์ และองค์การอนามัยโลก และมีจุดมุ่งหมายเพื่อจัดหาวัคซีนให้กับผู้ด้อยโอกาส และเด็กทั่วโลก
ในปี 2020 WEF ได้ออก Davos Manifesto เพื่อประกาศเจตนารมณ์ขององค์กรในการร่วมแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และปัญหาด้านสังคมเพิ่ม ซึ่งเป็นการปรับภาพลักษณ์ของเวทีการประชุมให้มีความเป็นธุรกิจน้อยลง และมุ่งเพิ่มการหารือเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม การประชุมดาวอสก็ยังได้รับคำวิพากษ์วิจารณ์ และเสียงประท้วงจากองค์กรด้านการพัฒนาทั่วโลก เพราะหลายๆ คนมองว่าการประชุมดาวอสเป็นการประชุมที่ให้ผู้มีอิทธิพลด้านเศรษฐกิจที่ร่ำรวยล้นฟ้าอยู่แล้วมาร่วมประชุมกันเพื่อหาผลประโยชน์ให้ตัวเอง ไม่ได้มีผลดีกับประชากรโดยรวม รวมไปถึงเป็นการประชุมที่เปลืองทรัพยากรธรรมชาติ และสร้างมลพิษเป็นจำนวนมากจากการที่ผู้นำและผู้บริหารทั้งหลายต้องนั่งเจ็ตส่วนตัวไปร่วมประชุม
การประชุมดาวอสเริ่มเสื่อมความสำคัญ?
ปีนี้ผู้นำ G7 เมินไม่เข้าร่วม แต่ภาคธุรกิจยังคึกคัก
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะเป็นการประชุมระดับโลกที่สื่อทั้งโลกยังคงจับตามอง สื่อต่างประเทศหลายเจ้าต่างก็ให้ข้อสังเกตว่าการประชุมดาวอสอาจเริ่มเสื่อมความสำคัญในด้านการเมืองลงไปมากแล้ว เพราะการประชุมในปีนี้มีผู้นำจากประเทศ G7 เข้าร่วมการประชุมเพียงประเทศเดียว คือ นายกรัฐมนตรีโอลาฟ โชลซ์ (Olaf Scholz) จากเยอรมนี ส่วนประเทศอื่น ๆ ส่งตัวแทนเข้าร่วม สะท้อนว่าผู้นำระดับโลกอาจไม่ได้มองว่าเวทีการประชุมนี้เหมาะกับการหารือเรื่องกิจการความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอีกต่อไปแล้ว
โดยจากรายชื่อผู้ตอบรับเข้าร่วมประชุม งาน WEF ปีนี้จะมีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 2,658 คนทั่วโลก ประกอบด้วย
โดยจากการรายงานของสำนักข่าว Bloomberg ในปีนี้ ไม่มีมหาเศรษฐีจากรัสเซียและจีนเข้าร่วมการประชุมดาวอสเลย คาดว่าเกิดขึ้นจากปมความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน และระหว่างรัสเซียกับผู้นำตะวันตกทั่วโลก เพราะมีรายงานว่าผู้นำของยูเครนจะปรากฎตัวในงานประชุม แต่อาจจะเป็นการพูดคุยทางวีดีโอ
ส่วนทางด้านไทย ในปีนี้ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรมว.สาธารณสุข และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เป็นตัวแทนเข้าร่วมประชุม โดยมีกำหนดเข้าร่วมประชุมในวันที่ 17-18 มกราคม ในหัวข้อ Health Systems Transformation ซึ่งที่ประชุมจะหารือกันถึงความร่วมมือระดับโลกทั้งภาครัฐและเอกชนเกี่ยวกับระบบดูแลสุขภาพที่มีความยั่งยืน และหัวข้อ The Pulling Power of ASEAN เกี่ยวกับบทบาทของอาเซียนท่ามกลางการแข่งขันทางภูมิเศรษฐศาสตร์ที่รุนแรง และบทบาทการมีส่วนช่วยสร้างเสถียรภาพและความมั่งคั่งของโลกตลอดจนความร่วมมือในภูมิภาค
นอกจากนี้ รองนายกรัฐมนตรียังมีกำหนดการร่วมหารือกับผู้นำจากประเทศต่างๆ ในหัวข้อ How to Restart Global Cooperation ซึ่งจะว่าด้วยความร่วมมือระดับโลกในระยะต่อไปเพื่อรับกับความท้าทายระดับโลกในประเด็นหลักๆ ไม่ว่าจะเป็นภาวะโลกร้อน เศรษฐกิจที่อ่อนแอลง วิกฤตการณ์ด้านอาหารและพลังงาน รวมถึงมีกำหนดการพบปะกับผู้แทนประเทศและผู้บริหารองค์กรธุรกิจระดับโลกเป็นการเฉพาะหลายรายด้วยกัน
5 ประเด็นหลักของการประชุมดาวอส 2023
สืบเนื่องมาจากวิกฤติต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปีที่ผ่านมา การประชุมดาวอสในปีนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อร่วมหาวิธีแก้ปัญหาระดับโลกและป่องกันความเสี่ยงในระดับโครงสร้างต่างๆ ที่กำลังส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจทั่วโลกในปัจจุบัน โดยมี 5 หัวข้อใหญ่ๆ ดังนี้คือ
ที่มา: World Economic Forum, Quartz, Bloomberg, Reuters, รัฐบาลไทย