Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
กรณีศึกษาความสำเร็จในการใช้โซเชียลมีเดียของพรรคการเมือง  
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

กรณีศึกษาความสำเร็จในการใช้โซเชียลมีเดียของพรรคการเมือง  

17 พ.ค. 66
23:45 น.
|
782
แชร์

ผ่านวันเลือกตั้ง 14 พ.ค.66 มา 3 วันแล้ว คนไทยทั้งประเทศคงกำลังลุ้นการจัดตั้งรัฐบาลใหม่โดยพรรคก้าวไกล ผู้ชนะอันดับ 1 ว่าจะสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จหรือไม่  

หากย้อนกลับไปก่อนที่แต่ละพรรคจะมาถึงเส้นชัยได้เข้าไปนั่งในสภาได้ผ่านขั้นตอนการหาเสียงกันอย่างหนักหน่วง เพื่อจะสามารถเข้าไปนั่งในหัวใจของประชาชนให้มากที่สุด ซึ่งกลยุทธ์การหาเสียงที่เห็นกันทั่วไป แบบดั้งเดิม เช่น การปิดป้ายหาเสียงทั่วเมือง เรียกว่าหันไปทางไหนก็เจอแต่ป้ายผู้สมัคร  หรือ จะเป็นการเปิดเวทีปราศรัย การลงพื้นที่พบปะพี่น้องประชาชน ซึ่งวิธีการเหล่านี้ทำกันทุกพรรคการเมืองค่ะ ป้ายมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับขนาดของพรรค พรรคใหญ่งบประมาณมากหน่อยก็มีความได้เปรียบจำนวนป้ายมากกว่าพรรคเล็ก 

แต่ที่กลยุทธ์การหาเสียงที่ไม่ใช่ทุกพรรคการเมืองจะทำ คือ การใช้โซเชียลมีเดีย Facebook IG TikTok Twitter วันนี้ทีมงาน SPOTLIGHT หยิบกรณีศึกษาของการใช้โซเชียลมีเดีย โดยเฉพาะ TikToK และ Facebook ของพรรคการเมืองหลักๆ มาดูสถิติกันว่าเป็นอย่างไร

ทำไม ‘พรรคก้าวไกล’ ถึงยืนหนึ่งครองTikTok  ? 

ประเทศไทยมีประชากรทั้งหมด 71.75 ล้านคน ข้อมูลถึงเดือนมกราคม 2566 โดยมีผู้ใช้อินเตอร์เน็ตกว่า 61.21 ล้านคน มีอัตราการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตอยู่ที่ 85.3 % ในจำนวนนี้มีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียถึง 52.25 ล้านคน ซึ่งนับเป็นตัวเลขที่สูงมาก

แม้ว่า Facebook จะเป็นแอปพลิเคชั่นที่คนไทยเข้าถึงมากที่สุดโดยมีผู้ใช้งานกว่า 48.10 ล้านคน แต่แอปวีดีโอสั้นอย่าง TikTok ก็มีผู้ใช้งาน 40.28 ล้านคน ซึ่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งไปกว่านั้นผู้ใช้งานส่วนใหญ่ของติ๊กต็อกเป็นกลุ่มคนเจน Y เเละ Z หรือกลุ่มคนรุ่นใหม่ซึ่งการเลือกตั้ง 2566 ของไทยครั้งนี้ คน Y เเละ Z ที่มีสิทธิเลือกตั้งมีอยู่ประมาณ 19 ล้านคะเเนนเสียง เรียกว่าหากพรรคการเมืองไหนที่ทําคอนเทนต์บนติ๊กต็อกเป็น โดนใจคนไทยที่เล่น TikTok  กว่า 40 ล้าน ก็ยิ่งมีโอกาสเพิ่มความนิยมเเบบที่เรียกว่า หัวคะเเนนธรรมชาติให้กับพรรคตนได้ไม่ยาก

 เปิด TikTok ในช่วงก่อนการเลือกตั้งและหลังการเลือกตั้ง คงจะเห็นคุณพิธา เต็มไปหมด ทั้งนี้เพราะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่ประสบความสำเร็จบนแพลตฟอร์ม TikTok มากที่สุดในบรรดาทุกพรรคที่เข้ามาสร้างคอนเท้นท์การรับรู้ผ่านช่องทางนี้ ดูได้จากจำนวนผู้ติดตามในแอคเค้าท์ของพรรคก้าวไกล รวมไปถึงจำนวนผู้ชมคลิป 

พรรคก้าวไกล ยอดผู้ติดตามใน TikTok สูงถึง  2,900,000 คน ขณะที่ยอดผู้ชมมีจำนวนรวมกันมากกว่า 300 ล้านวิว ยอดไลค์มากกว่า 37 ล้านไลค์ เรียกว่าพรรคก้าวไกล โดยเฉพาะคุณ พิธา ไม่ต่างจากศิลปิน ดาราไปแล้ว เพราะมีเเฟนคลับที่เรียกตัวเองว่า ‘ด้อมส้ม’ แถมยังมีวลียอดฮิตอย่าง ‘ส้มรักพ่อ’ ‘พ่อก็รักส้มครับ’ หรือ ‘พรรคที่จะล้อม พร้อมที่จะรัก ไวรัลในโซเชี่ยลมีเดียอย่างมาก  ด้วยวิธีการสื่อสารที่เข้าถึงง่าย ทั้งการลงพื้นที่ การอัดคลิปพูดคุยกับประชาชน ที่ดูมีความสนุกเข้ากับบุคลิกของคนดูใน TikTok

ส่วนพรรคการเมืองอื่นที่ใช้แพลตฟอร์ม TikTok ด้วยเช่นกัน คือ พรรคเพื่อไทย ยอดผู้ติดตาม   276,300   คน พรรครวมไทยสร้างชาติ ยอดผู้ติดตาม 14,700 คน  พรรคประชาธิปัตย์ ยอดผู้ติดตาม 9,852 คน    ขณะที่พรรคพลังประชารัฐ เเละพรรคภูมิใจไทย ไม่ได้สร้างเเอคเค้าท์ในติ๊กต็อก จึงทําให้ผู้ชมอาจต้องไปดูนโยบายพรรค หรือการหาเสียงของส.ส. ผ่านทางโซเซียลมีเดียแพลตฟอร์มอื่น                                                                                                                                    เพื่อไทย โดดเด่นใน Facebook 

screenshot2023-05-18162655

หลังการยุบสภา ซึ่งเป็นช่วงที่มีการสมัคร-จับเบอร์ประจำพรรคและผู้สมัครระหว่างวันที่  20 มี.ค. – 10 เม.ย.66  มีข้อมูลจากบริษัทไวซ์ไซท์ (WiseSight)  ที่รวบรวมข้อมูลจากเพจเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการของแต่ละพรรค โดยเลือกเฉพาะเฟซบุ๊กเนื่องจากยังคงเป็นโซเชียลมีเดียหลักที่คนไทยใช้งานมาก พบว่า พรรคการเมืองที่สื่อสารกับประชาชนมากที่สุด คือ

1.พรรคเพื่อไทยที่โพสต์ข้อความไปแล้วถึง 1,463 ข้อความ ในระยะเวลาแค่ราว 20 วัน  เฉลี่ยวันละมากกว่า 70 ข้อความ  คอนเทนต์ของพรรคเพื่อไทยที่มีผู้ใช้เข้ามามีส่วนร่วม หรือเอนเกจเมนต์มากที่สุดคือ โพสต์โปรโมตงาน คิดใหญ่ ทำเป็น เพื่อไทยทุกคน ตอน ‘ONE TEAM FOR ALL THAIS : หนึ่งทีม เพื่อไทยทุกคน โดยมีไฮไลต์คือ เตรียมพบกับ 3 แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีจากพรรคเพื่อไทย โพสต์นี้มีคนเข้ามากดแสดงความรู้สึกถึง 56,000 ครั้ง ความคิดเห็นกว่า 2,000 รายการ และแชร์อีกมากกว่า 260 ครั้ง 

screenshot2023-05-18162510

2.พรรคก้าวไกล 1,199 ข้อความ TOP โพสต์ของก้าวไกลที่มีคนเข้ามีส่วนร่วมมากที่สุด เป็นคลิปสั้น เกียรติยศของนักการเมือง คือการได้รับแต่งตั้งโดยประชาชน ซึ่งรวมไฮไลต์จากงานดีเบต “อนาคตประเทศไทย #นับถอยหลังวันพิพากษา” คลิปนี้มีผู้เข้ามาแสดงความรู้สึกสูงถึง 140,000 ครั้ง ความคิดเห็นอีก 14,000 รายการ และยอดดูอีกกว่า 1.4 ล้านครั้ง

3.พรรคประชาธิปัตย์ โพสต์คอนเทนต์อยู่ที่ 1,011 ข้อความ TOP คอนเทนต์ที่ประชาธิปัตย์ได้เอนเกจเมนต์สูงสุด คือ สารจากหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เนื่องในโอกาสต้อนรับเดือนรอมฎอน ประจำปี พ.ศ.2566  คอนเทนต์นี้มีคนเข้ามาแสดงความรู้สึกกว่า 6,400 ครั้ง คอมเมนต์ 522 รายการ และแชร์ 175 ครั้ง

อันดับที่ 4  พรรครวมไทยสร้างชาติโพสคอนเท้นท์  709 ข้อความ TOP คอนเทนต์คือการไลฟ์สดความยาว 3 ชั่วโมง กับการปราศรัยหาเสียงครั้งแรกในกรุงเทพมหานครของพรรครวมไทยสร้างชาติ ไลฟ์นี้มีคนกดแสดงความรู้สึก ราว 8,800 ครั้ง แสดงความเห็น 11,000 ครั้ง และยอดรับชมกว่า 110,000 ครั้ง

อันดับที่ 5 คือ พรรคภูมิใจไทย โพสต์คอนเทนต์ไป 465 ข้อความ แต่ที่ได้รับความนิยมสูงสุดคือประกาศชัยชนะเหนือ "ชูวิทย์ กมลวิศิษฎ์" 

อันดับที่ 6 คือ พรรคพลังประชารัฐ โพสคอนเท้นท์อยู่ที่ 382 ข้อความ และโพสต์ที่ได้รับเอนเกจเมนต์สูงสุด เป็นไลฟ์สดความยาวเกือบ 2 ชั่วโมง งานเปิดตัว ว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรทั่วประเทศ 400 เขต

แม้ว่า ผลการเลือกตั้ง 2565 ของประเทศไทยจะยังไม่ได้ประกาศรับรองโดย กกต. แต่การเลือกตั้งครั้งนี้ก็ถือว่า เป็นครั้งประวัติศาสตร์ เพราะคนไทยออกมาใช้สิทธิเกิน  75% มากที่สุดในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นั่นคือการสะท้อนท่สำคัญที่สุดว่าคนไทยตื่นตัวกับการเมือง และต้องการเห็นประเทศไทยมีการเมืองที่มีเสถียรภาพ  โซเชี่ยลมีเดียก็ป็นส่วนหนึ่งที่สามารถสร้างการตระหนักรู้ในการออกไปใช้สิทธิ รวมทั้งเป็นเครื่องมือสำคัญในยุคดิจิทัลที่พรรคการเมืองสามารถสื่อสารนโยบายออกไปถึงมือประชาชนได้ง่ายที่สุด  ไม่ว่าพรรคไหนจะชนะ หรือ พ่ายแพ้ก็เชื่อว่า การใช้โซเชี่ยลมีเดีย สำหรับพรรคการเมืองในการเลือกตั้ง 2566 นี้จะเป็นกรณีศึกษา ให้กับการเมืองไทยด้วยเช่นกัน 



แชร์
กรณีศึกษาความสำเร็จในการใช้โซเชียลมีเดียของพรรคการเมือง