ความเคลื่อนไหวล่าสุด นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ผู้สมัคร ส.ส.บัญชรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ได้เปิดเผยว่า ในวันพุธที่ 24 พ.ค.2566 เวลา 10.00 น.จะมีการยื่นเอกสารเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับกรณี นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ถือหุ้น ITV ให้กับคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) โดยหวังให้กกต.จะพิจารณาในเรื่องนี้เร็วขึ้น
ในมุมของเศรษฐกิจไทยนั้น ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) เห็นว่า การจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ของไทยยังมีความไม่แน่นอยู่สูง ซึ่งเมื่อการจัดตั้งรัฐบาลได้ช้า คาดว่าจะส่งผลกระทบลบในไตรมาสที่ 4/2566 เพราะเมื่อจัดตั้งรัฐบาลล่าช้าก็จะส่งผลต่อการประกาศใช้พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 ซึ่งคาดว่าจะกลับมาเร่งเบิกจ่ายได้ ตั้งแต่ต้นปี 2567
ภาพรวมเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ระดับก่อนเกิดโควิดได้ในช่วงกลางปีนี้ จากแรงสนับสนุนของภาคการท่องเที่ยว และการบริโภคที่ขยายตัวได้ดี เห็นได้จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ส่วนการลงทุนและการผลิตมีสัญญาณที่ดีขึ้นในไตรมาส 2/2566 และคาดว่ามูลค่าส่งออกของไทยปีนี้จะโต 1.2% แม้จะคาดว่าในไตรมาส 2/2566 ตัวเลขการส่งออกจะหดตัวก็ตาม แต่จะปรับตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลในปีนี้
ขณะที่เศรษฐกิจโลกปีนี้ยังมีความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้น เห็นได้จากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ การฟื้นตัวของภาคการผลิตและภาคบริการยังมีความแตกต่างกันมาก รวมถึงปัญหาเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินและความไม่แน่นอนในการขยายเพดานหนี้ของรัฐบาลสหรัฐฯ ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจของจีนได้ขยายตัวชะลอลงในเดือนเม.ย.2566 ด้านเศรษฐกิจยุโรปเองก็ยังมีความอ่อนแออยู่ ทำให้เศรษฐกิจโลกในช่วงครึ่งหลังปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง ขณะที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะปรับลดลงอย่างชัดเจนในเดือนพ.ค.2566 ผลจากราคาพลังงานที่ลดลง แต่ยังมีความเสี่ยงด้านต้นทุนที่สูงขึ้นส่งไปยังราคาผู้บริโภค
ด้านอัตราเงินเฟ้อโลกมีแนวโน้มปรับตัวลดลงเข้าใกล้กรอบเป้าหมายของธนาคารกลางมากขึ้น ผลจากราคาพลังงานโลกที่ลดลง โดย SCB EIC คาดว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีแนวโน้มจะยุติการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย และจะคงนโยบายดอกเบี้ยไว้ตลอดปี ขณะที่ธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) และธนาคารกลางอังกฤษ (บีโออี) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 2 ครั้ง สู่ระดับ 3.75% และ 5% ตามลำดับ เนื่องจากภูมิภาคยุโรปกำลังเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อรุนแรงกว่า ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) มีแนวโน้มที่จะใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายน้อยลง เนื่องจากได้มีแรงกดดันด้านเงินเฟ้อที่สูงขึ้น และตัวเลขเศรษฐกิจญี่ปุ่นออกมาดีกว่าที่คาด ทำให้คาดว่าในเดือนก.ค.2566 นี้ บีโอเจจะมีการปรับเงื่อนไขนโยบายควบคุมอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Yield Cure Control)
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยของไทย คาดว่านโยบายการเงินไทยจะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง สู่ระดับที่ 2.5% ในไตรมาส 3/2566 ตามเศรษฐกิจไทยที่ขยายตัว และแรงกดดันด้านเงินเฟ้อยังมี
ค่าเงินบาทไทยมีแนวโน้มผันผวนสูง จากปัจจัยเหล่านี้
แนะนำให้ลูกค้าป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน จากปัจจัยความเสี่ยงที่การจัดตั้งรัฐบาลมีความไม่แน่นอนสูงโดยเสนอกลยุทธ์ที่ช่วยปิดความเสี่ยง จาก 3 scenarios ของการจัดตั้งรัฐบาล ดังนี้
1. หากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากได้รับเลือกเป็นนายกรัฐมนตรี เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มไหลกลับเข้าตลาดการเงินไทย ทำให้เงินบาทอาจแข็งค่าขึ้นปานกลาง โดยอาจแตะระดับ 33.70-33.90 บาท/ดอลลาร์ ได้
FX Strategy : แนะผู้ส่งออกซื้อ put option ที่ราคาใช้สิทธิ 34.40 บาท/ดอลลาร์ เพื่อปิดความเสี่ยงบาทแข็ง หรือเข้าทำ Easy Sure Capped อายุ 3 เดือน ที่ราคาใช้สิทธิ 34.40 บาท/ดอลลาร์ และ capped level ที่ 33.80 บาท/ดอลลาร์
2. หากพรรคการเมืองที่ได้เสียงข้างมากสามารถจัดตั้งรัฐบาล แต่ชื่อที่เสนอไม่ได้รับเลือกให้เป็นนายกรัฐมนตรี เงินบาทอาจอ่อนค่าในช่วงแรกสู่ระดับ 34.95-35.15 บาท/ดอลลาร์ แต่อาจกลับมาแข็งค่าสู่กรอบ 33.90-34.20 บาท/ดอลลาร์ ได้ หลังได้นายกฯ จากพรรคร่วมรัฐบาล
FX Strategy : แนะผู้นำเข้าซื้อ call option ที่ราคาใช้สิทธิ 34.30 บาท/ดอลลาร์ เพื่อปิดความเสี่ยงบาทอ่อน หรือเข้าทำ Easy Sure Capped อายุ 3 เดือน ที่ราคาใช้สิทธิ์ 34.20 บาท/ดอลลาร์ และ capped level ที่ 34.80 บาท/ดอลลาร์
3. เกิดการประท้วงผลการเลือกตั้งเป็นวงกว้าง หรือไม่สามารถแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีได้ หรือรัฐบาลไม่สามารถผ่านมติได้ (เกิด political gridlock) จนต้องจัดการเลือกตั้งใหม่ เงินบาทอาจอ่อนค่าเร็ว โดยอาจเกินระดับ 35.35 บาท/ดอลลาร์ได้
FX Strategy : แนะผู้นำเข้าซื้อ call option ที่ราคาใช้สิทธิ 34.30 บาท/ดอลลาร์ เพื่อปิดความเสี่ยงบาทอ่อน โดยไม่ต้องมี capped level