หลังการแถลงนโยบายของรัฐบาลนายกฯเศรษฐา เสร็จสิ้นลง เราคงได้เห็นการเดินหน้าทำงานบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่กันแล้ว เริ่มจากมติครม.เมื่อวันที่ 13 ก.ย.66 ที่ผ่านมา ก็มีมาตรการลดค่าครองชีพออกมาให้ประชาชนหลายส่วน และจากนี้นโยบายต่างๆที่ได้แถลงต่อรัฐสภาก็จะค่อยๆถูกปล่อยออกมาตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลวางไว้ โดยเฉพาะที่หลายฝ่ายจับตาคือ เงินดิจิทัล 10,000 บาทซึ่งเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ จากนักเศรษฐศาสตร์ มธ." เพื่อร่วมกันเสนอแนะถึงสิ่งที่รัฐบาลควรทำในระยะสั้น 1 ปีจากนี้และ สิ่งที่อยากจะเห็นประเทศไทยในอีก 4 ปี เป็นอย่างไร โดยมีนักเศรษฐศาสตร์ ในหลากมิติมาร่วมเสวนา ได้แก่ รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ กลุ่มวิจัยความสามารถในการแข่งขัน (ICRC) ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม (CRISP) ผศ.ดร.ถิรภาพ ฟักทอง กลุ่มเศรษฐศาสตร์ทรัพยากรมนุษย์ นวัตกรรม และการพัฒนา (HIDE) ผศ.ชล บุนนาค ศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) และผศ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green)
ขอเริ่มที่ภาคเศรษฐกิจและพลังงานซึ่งเป็นสิ่งใกล้ตัวคนไทยอย่างมาก รศ.ดร.อาชนัน เกาะไพบูลย์ กลุ่มวิจัยความสามารถในการแข่งขัน (ICRC) มองภาพรวมเศรษฐกิจไทยเสียหายจากโควิด 19 ค่อนข้างมาก และปัจจุบันเศรษฐกิจไทยยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ แม้ที่ผ่านมาจะมีการเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น หากรัฐบาลต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจต้องถอดบทเรียนในอดีต "เข้าใจโจทย์" มุ่งไปการฟื้นเศรษฐกิจจากความเสียหายช่วงโควิด-19 "ต่อยอดสิ่งที่มี" โครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพ และ "ตระหนักถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนไป"
"อยากเห็นรัฐบาลรักษาสมดุล เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น และการลงทุนในระยะยาว อยากให้หนีจากกับดักระยะสั้น เกลี่ยน้ำหนักอย่าประชานิยมมากเกินไป เข้าใจว่าเป็นการเมือง แต่ถ้าทุกอย่างเป็นนโยบายระยะสั้น ผลก็จะจบอยู่แค่นั้น" รศ.ดร.อาชนัน กล่าว
ขณะที่ผศ.ดร.ชโลทร แก่นสันติสุขมงคล ศูนย์วิจัยนโยบายด้านเศรษฐกิจสีเขียว (PRO-Green) ฝากการบ้านรัฐบาลใหม่ทั้งหมด 4 ประเด็น
เสนอปรับลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น โดยการปรับแนวคิดการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ควรใช้การอ้างอิงราคาส่งออกไปสิงคโปร์ แทนที่ราคานำเข้าจากสิงคโปร์, ลดค่าไฟฟ้าด้วยการปรับปรุงระบบการกำหนดราคาก๊าซธรรมชาติ คือ กลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมอื่น ควรซื้อก๊าซธรรมชาติในราคาที่แพงกว่าภาคประชาชน, สนับสนุนการใช้พลังงานหมุนเวียน และปรับปรุงระบบไฟฟ้าให้พร้อมรับการเข้ามาของยานยนต์ไฟฟ้า
แก้ปัญหาฝุ่นจากการเผาในที่โล่งภาคเกษตรด้วยการสร้างความเข้าใจให้ประชาชน,สร้างมาตรการแรงจูงใจในการลดการเผาของสินค้าเกษตร, ตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาทางเลือกมาตรการที่เหมาะสมแต่ละกรณี และการแก้ปัญหาฝุ่นจากการเผาในประเทศเพื่อนบ้าน นอกจากนี้ต้องทำให้การใช้ระบบขนส่งสาธารณะเป็นโหมดการเดินทางหลักของเมือง ทำให้กรุงเทพฯ ไม่เป็นเมืองแห่งรถยนต์ โดยใช้ระบบตั๋วร่วม, การอุดหนุนจากรัฐ, ระบบจอดแล้วจรที่เพียงพอ และเพิ่มต้นทุนการใช้รถยนต์
"รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการเปิดเผยข้อมูลอย่างโปร่งใส ความสำเร็จของรัฐบาล อยู่ที่การมองปัญหา และแก้ปัญหา อย่าให้ผลประโยชน์ส่วนตัว หรือปัญหาความทับซ้อนของผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง"ผศ.ดร.ชโลทร กล่าว
ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล ศูนย์วิจัยความเหลื่อมล้ำและนโยบายสังคม(CRISP)ระบุว่าปัจจุบันประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำในหลายด้านทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุข ที่ดิน การส่งเสริมการแข่งขันขจัดการผูกขาดการกระจายทรัพย์สินและการกระจายอำนาจ
อย่างไรก็ตามนโยบายของรัฐบาลไม่ได้ให้น้ำหนักในเรื่องการกระจายทรัพยากรของประเทศอย่างเป็นธรรมในทุกๆมิติดังนั้นจึงมีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายเพื่อแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ ดังนี้
"ไม่ได้มองว่าการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะสำเร็จได้ใน 1 ปี แต่หากต้องการแก้ปัญหาดังกล่าว รัฐบาลจะต้องเริ่มดำเนินการตั้งแต่วันนี้ รัฐบาลต้องมองการพัฒนาประเทศรอบด้าน การกระตุ้นเศรษฐกิจให้โตเป็นสิ่งที่ดี แต่พอโตแล้ว ต้องดูว่าการกระจายมีความเป็นธรรมหรือไม่"ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว
สามารถติดตามเนื้อหาของนักเศรษฐศาสตร์ทุกท่าน ที่FB: EconTU Official