“ เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้า เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของเราไปมาก เพราะเงินบาทอ่อนค่าหนักกว่าสกุลเงินเอเชียอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมาจากปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบอนด์ หลังนักลงทุนต่างชาติต่างไม่มั่นใจต่อแนวโน้มปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาล”
ช่วงนี้ค่าเงินบาทไทยค่อนข้างมีความผันผวน โดยเมื่อคืนก่อนหน้า ค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ในช่วงกรอบ 35.92-36.08 บาทต่อดอลลาร์ ตามการปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ แต่ทิศทางของค่าเงินบาทไทยจะเป็นอย่างไร
SPOTLIGHT จะพาไปดูมุมมองของ Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน มีมุมมองกับทิศทางค่าเงินบาทของไทยอย่างไร?
“ เรามองว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในวันก่อนหน้า เป็นสิ่งที่เหนือความคาดหมายของเราไปมาก เพราะเงินบาทอ่อนค่าหนักกว่าสกุลเงินเอเชียอย่างเห็นได้ชัด สะท้อนว่า การอ่อนค่าของเงินบาทอาจมาจากปัจจัยภายในประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากแรงขายสินทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะบอนด์ หลังนักลงทุนต่างชาติต่างไม่มั่นใจต่อแนวโน้มปริมาณการออกบอนด์ของรัฐบาล”
ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้ส่งออกได้ชะลอลงไปมาก เนื่องจากผู้ส่งออกส่วนใหญ่อาจทยอยขายเงินดอลลาร์ไปพอสมควรแล้วในช่วงก่อนหน้า ทำให้การอ่อนค่าทะลุโซนแนวต้าน 35.85 บาทต่อดอลลาร์ เปิดทางให้เงินบาทอ่อนค่าทดสอบ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ได้ไม่ยาก
ทั้งนี้ การอ่อนค่าของเงินบาทที่มากกว่าคาดนั้น ได้เปิดโอกาสให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าต่อทดสอบโซนแนวต้านถัดไปแถว 36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้เช่นกัน ซึ่งต้องจับตาทิศทางฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติว่าจะเดินหน้าเทขายสินทรัพย์ไทยเพิ่มขึ้นหรือไม่?
โดยเฉพาะในส่วนบอนด์ หลังบอนด์ยีลด์ฝั่งสหรัฐฯ ยังคงปรับตัวสูงขึ้น แต่เรามองว่า ค่าเงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว เนื่องจากผู้เล่นส่วนใหญ่ต่างรอลุ้น ผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ของวันพรุ่งนี้
ประเมินว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสแข็งค่าขึ้นต่อได้บ้าง หาก Dot Plot ใหม่ ชี้ว่าเฟดมีโอกาสเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่ออีก 1 ครั้งในปีนี้ และเฟดอาจไม่ได้ลดดอกเบี้ยลงเกินกว่า -1% ในปีหน้า ตามที่เคยประเมินไว้ใน Dot Plot เดือนมิถุนายน โดยภาพดังกล่าวอาจหนุนให้เงินบาททยอยอ่อนค่าทดสอบโซน 36.30 บาทต่อดอลลาร์ได้
ขณะที่ หาก Dot Plot ใหม่ ไม่ได้บ่งชี้ว่า เฟดพร้อมเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อ หรือ สะท้อนว่า เฟดอาจลดดอกเบี้ยลงราว -1% (หรือมากกว่านั้น) ในปีหน้า ทำให้คาดว่า เงินดอลลาร์อาจย่อตัวลงบ้าง หนุนให้เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าหลุดระดับ 36.00 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน
สถานการณ์ในช่วงนี้ทุกสินทรัพย์ยังอยู่ในช่วงเผชิญความผันผวนสูง จากทั้งความไม่แน่นอนของทิศทางนโยบายการเงิน ความกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน จึงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน และนอกเหนือจากการใช้เครื่องมือดังกล่าว การเลือกทำธุรกรรมในสกุลเงินท้องถิ่น (Local Currency) ก็เป็นอีกแนวทางในการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนที่น่าสนใจ ซึ่งผู้ประกอบการควรเปรียบเทียบต้นทุนในการทำธุรกรรมและแผนการป้องกันความเสี่ยงก่อนตัดสินใจทุกครั้ง
“ ค่าเงินบาทในวันนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 36.00-36.15 บาท/ดอลลาร์ ในช่วงก่อนทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC และ ประเมินกรอบเงินบาท ในช่วง 35.80-36.30 บาทต่อดอลลาร์ ในช่วงทยอยรับรู้ผลการประชุม FOMC”
ส่วนไฮไลท์สำคัญที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิด คือ ผลการประชุม FOMC ซึ่งจะรับรู้ในช่วงเวลา 1.00 น. ตามเวลาในประเทศไทยของเช้าตรู่วันพฤหัสฯ โดยประเมินว่า เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 5.25-5.50%
อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินจะผันผวนไปตาม การปรับคาดการณ์เศรษฐกิจ และคาดการณ์แนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) โดยแนวโน้มการชะลอตัวลงต่อเนื่องของอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอาจทำให้เฟดปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน Core PCE ลงบ้างในปีนี้และปีหน้า แต่การปรับตัวขึ้นของราคาพลังงานในช่วงที่ผ่านมาอาจทำให้เฟดคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไป หรือ ปรับขึ้นเล็กน้อยในปีนี้
ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดที่ยังคงสะท้อนภาพเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าคาด อาจทำให้เฟดไม่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองต่อแนวโน้มการขยายตัวของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ ในส่วนของ Dot Plot ใหม่ นั้น ประเมินว่า อาจสะท้อนว่า เฟดได้จบรอบการขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ตามแนวโน้มการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในส่วนการจ้างงาน
ล่าสุดอาจได้รับผลกระทบจากการหยุดงานประท้วงของสหภาพแรงงานยานยนต์ (United Auto Workers:UAW) อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่รัฐบาลสหรัฐฯ อาจเผชิญภาวะ Government Shutdown ในช่วงปลายปีได้
อย่างไรก็ตาม ยังไม่ปิดโอกาสที่ Dot Plot ใหม่จะยังคงชี้ว่า เฟดมีโอกาสขึ้นดอกเบี้ยต่อได้ 1 ครั้งในปีนี้ ซึ่งจะไม่ต่างจาก Dot Plot ก่อนหน้า เนื่องจากการประท้วงของ UAW หากประสบความสำเร็จก็อาจยิ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อชะลอลงช้า ตามการปรับเพิ่มขึ้นค่าแรง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาพลังงานก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น และคาดว่าเฟดพร้อมคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 1 ครั้ง ในปีนี้ และลดดอกเบี้ยลง -1% ตามที่ประเมินไว้ใน Dot Plot ครั้งก่อน เงินดอลลาร์ก็อาจไม่ได้แข็งค่าขึ้นมากนักหรืออาจทรงตัว sideway
ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงเผชิญแรงขาย เพื่อลดความเสี่ยงของบรรดาผู้เล่นตลาด ก่อนที่จะถึงการประชุม FOMC ของเฟด และการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังส่งผลให้บรรดาหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ต่างปรับตัวลง หรือ ทรงตัว (Amazon -1.7%, Microsoft -0.1%) ทำให้โดยรวมดัชนี S&P500 ปิดตลาดลดลง -0.22%
ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี stoxx600 ย่อตัวลงเล็กน้อย -0.04% กดดันโดยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มสินค้าแบรนด์เนม (Hermes -1.5%, Dior -1.2%) เพราะผู้เล่นบางส่วนยังไม่มั่นใจต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ขณะเดียวกันเศรษฐกิจยุโรปก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงมากขึ้น โดยตลาดหุ้นยุโรปยังพอได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงาน (Total Energies +1.7%, Shell +0.9%) ตามการปรับตัวขึ้นต่อเนื่องของราคาน้ำมันดิบ
ในฝั่งตลาดบอนด์ มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มคาดการณ์ว่า Dot Plot ใหม่ของเฟดอาจยังคงสะท้อนว่า เฟดอาจเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยต่อได้อีก 1 ครั้งในปีนี้ และเฟดอาจลดดอกเบี้ยลงไม่ได้มากเท่ากับที่เฟดเคยประเมินใน Dot Plot ก่อนหน้า ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ทยอยปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 4.37% (ซึ่งเปิดโอกาสให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นทดสอบโซน 4.40%)
ทั้งนี้ มองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจยังคงแกว่งตัว sideway และควรรอจับตา Dot Plot ใหม่ของเฟดซึ่งอาจส่งผลต่อทิศทางบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ (ปรับตัวขึ้นต่อ หรือ พลิกกลับมาย่อตัวลง)
ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ทยอยปรับตัวแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และภาวะปิดรับความเสี่ยงในตลาดการเงินโดยรวมที่ยังหนุนการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย ทำให้โดยรวมดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 105.1 จุด (กรอบ 104.8-105.2 จุด)
สำหรับราคาทองคำ การพลิกกลับมาปรับตัวขึ้นของทั้งบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ และเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ ราคาทองคำ (สัญญาทองคำตลาด COMEX ส่งมอบเดือน ธ.ค.) ยังไม่สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่องได้ ก่อนที่จะย่อตัวลงใกล้ระดับ 1,952 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อีกครั้ง ซึ่งเรามองว่า ผู้เล่นในตลาดอาจรอจับตาผลการประชุม FOMC ก่อนที่จะมีการปรับเปลี่ยนสถานะถือครองที่ชัดเจนต่อไป
สำหรับวันนี้ ก่อนที่ผู้เล่นในตลาดจะรับรู้ผลการประชุม FOMC ในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดจะให้ความสนใจต่อรายงานอัตราเงินเฟ้อ CPI ของอังกฤษ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่ธนาคารกลางยุโรป (ECB) เพื่อประเมินแนวโน้มการดำเนินนโยบายการเงินของทั้ง ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) และ ECB ซึ่งปัจจุบันผู้เล่นในตลาดต่างเริ่มคาดการณ์ว่า ทั้งสองธนาคารกลางอาจใกล้ถึงจุดยุติการเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยแล้ว หลังเศรษฐกิจชะลอตัวลงมากขึ้น