วงการอสังหาฯ จีนเจอข่าวช็อกอุตสาหกรรมต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อจันทร์ (25 ก.ย.) Evergrande อดีตบริษัทอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุดของจีนออกมาประกาศว่าเจรจาแผนปรับโครงสร้างหนี้มูลค่าราว 1.15 ล้านบาทไม่สำเร็จ พร้อมๆ กับที่ China Oceanwide Holdings บริษัทอสังหารายใหญ่อีกราย ถูกศาลในประเทศเบอร์มิวดาสั่งยกเลิกกิจการหลังได้รับคำขอจากเจ้าหนี้
โดยหลังจากมีข่าวนี้ออกมา อุตสาหกรรมอสังหาฯ ของจีนที่มีวิกฤตความเชื่อมั่นอยู่แล้วก็ยิ่งสั่นคลอนหนัก ทำหุ้นในวงการอสังหาฯ ร่วงทั้งกระดาน ทั้งตัว Evergrande เองที่วันนี้ตกลงถึง 4.65% ปิดการซื้อขายช่วงเช้าที่ 0.41 ดอลลาร์ฮ่องกง และ China Oceanwide ที่หล่น 5.10% ไปอยู่ที่ 2.79 หยวน
ขณะที่ บริษัทอสังหาใหญ่ที่กำลังมีปัญหาเหมือนกันอย่าง China Aoyuan Group บริษัทอสังหาจากกวางโจวที่เพิ่งกลับมาซื้อขายในวันที่ 25 ก.ย. หลังถูกพักการซื้อขายในเดือนมีนาคมปี 2022 หุ้นร่วง 76% ทันทีในช่วงกลางวัน ปิดที่ 0.325 เซนต์ฮ่องกง ก่อนร่วงอีก 10.77% ในวันนี้มาปิดช่วงเช้าอยู่ที่ 0.29 ดอลลาร์ฮ่องกง ส่วน Country Garden ที่มีปัญหาผิดชำระหนี้ก่อนหน้านี้ ร่วง 7.69% ก่อนร่วงอีก 3.12% มาปิดช่วงเช้าที่ 0.93 ดอลลาร์ฮ่องกง
ในวันที่ 25 ก.ย. Evergrande ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกงว่า ทางบริษัทจะต้องเลื่อนการประชุมเพื่อพูดคุยเกี่ยวกับการปรับโครงสร้างหนี้กับเหล่าเจ้าหนี้ไปก่อน โดยให้เหตุผลว่าข้อตกลงยังไม่เรียบร้อย และต้องมีการเจรจาแก้ไขกันอีก ทำให้อนาคตของบริษัทอสังหาฯ ยักษ์ใหญ่นี้ยังคงอยู่ในความไม่แน่นอน ซึ่งแน่นอนว่าจะส่งผลเป็นทอดๆ ต่อบริษัทอื่นๆ
นอกจากนี้ Evergrande ยังได้ออกมาเปิดเผยในวันอาทิตย์ (24 ก.ย.) อีกด้วยว่า บริษัทลูกอย่าง Hengda Real Estate จะไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อระดมทุนมาใช้ในแผนปรับโครงสร้างหนี้ได้ เพราะมีการสืบสวนจากหน่วยงานกำกับดูแลอยู่จากการทำผิดกฎด้านการเปิดเผยข้อมูล
ข่าวร้ายเหล่านี้ทำให้เกิดความกังวลขึ้นทั่วตลาดอสังหาฯ จีน เพราะหลังจาก Evergrande ได้ยื่นล้มละลายต่อศาลสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม ทางบริษัทก็ต้องเร่งหาเจรจาหาวิธีจัดการสินทรัพย์ และแก้หนี้ที่เป็นที่พึงพอใจของเจ้าหนี้ หรือได้รับการอนุมัติจากเจ้าหนี้เกิน 75% ให้สำเร็จ ก่อนจะต้องไปให้การกับศาลฮ่องกงซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 30 ต.ค. ที่จะถึง
จากการรายงานของ Reuters บริษัท Evergrande มีหนี้ที่ต้องจัดการถึง 3.17 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 1.15 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมไปถึงหุ้นกู้ หลักประกัน และข้อกำหนดในการซื้อสินทรัพย์คืนต่างๆ ทำให้ Evergrande เป็นหนึ่งในบริษัทอสังหาฯ ที่มีหนี้มากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม Evergrande ก็ไม่ใช่บริษัทอสังหาฯ รายเดียวที่กำลังมีปัญหาสภาพคล่อง เพราะหลายๆ บริษัทที่เคยเติบโตได้ดีจนกลายมาเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจสำคัญคือคิดมูลค่าเป็นประมาณ 25% ของ GDP จีน ก็ต่างได้รับผลกระทบจากการมาตรการป้องกันการเก็งราคาอสังหาฯ ของรัฐบาลจีนในปี 2021 ทั้งหมด ทำให้หลายๆ บริษัทที่เริ่มอุ้มตัวเองไม่ไหว เริ่มล้มกันในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมานี้
นอกจาก Country Garden ที่มีข่าวผิดชำระหนี้แล้ว ล่าสุดก็มี China Oceanwide ที่ถูกศาลเบอร์มิวดาสั่งยกเลิกกิจการ หลังมีเจ้าหนี้ในสหรัฐฯ ยื่นคำร้องไป พร้อมแต่งตั้งผู้ชำระบัญชีชั่วคราวร่วมกัน (JPL) ในเบอร์มิวดา 2 คน และในฮ่องกง 1 คน เพื่อมาดูแลเรื่องการจัดการทรัพย์สินและชำระบัญชี
จากการรายงานของ Reuters บริษัท China Oceanwide มีปัญหาคล้ายกับ Evergrande คือไม่สามารถชระหนี้คืนได้ตรงเวลาได้ เพราะประสบปัญหาสภาพคล่อง ไม่สามารถจ่ายเงินค่าวัสดุและก่อสร้าง เพื่อสร้างที่อยู่อาศัยส่งให้ลูกค้า หรือจำหน่ายสต็อกที่อยู่ที่มีเพื่อหารายได้มาหมุนได้ เพราะซัพพลายมากกว่าดีมานด์ และผู้บริโถคจีนก็ยังไม่กลับมาซื้อที่อยู่อาศัย และสินค้าอื่นๆ จากความไม่เชื่อมั่นใจสภาพเศรษฐกิจ จนเกิดภาวะเงินฝืดอย่างที่เป็นปัญหาในปัจจุบัน
จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีน ในปลายเดือนสิงหาคม ในจีนมีบ้านและห้องพักที่ยังไม่ถูกขายพื้นที่รวมถึง 648 ล้านตารางเมตร ซึ่งสะท้อนว่าหากไม่มีการช่วยเหลือจากนักลงทุนและธนาคารแล้ว บริษัทอสังหาฯ เหล่านี้ก็อาจจะอยู่ไม่ได้ ซึ่งถ้าล้มก็จะส่งไปอีกเป็นทอดๆ ทั้งการจ้างงาน GDP ของประเทศ รวมไปถึงประชาชนหรือนักลงทุนที่ซื้อหุ้นกู้ หรือธนาคารหรือธุรกิจการเงินที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทเหล่านี้
โดย China Oceanwide เองก็มีความสำคัญกับวงการการเงิน เพราะบริษัทนี้เป็นหนึ่งในผู้ถือหุ้นใหญ่ของ China Minsheng Bank หรือซึ่งหรือในผู้ให้กู้ที่ใหญ่ที่สุดในจีนแผ่นดินใหญ่ ทำให้หากมีการขายหุ้นเอาเงินมาหมุนขึ้นมาก็อาจจะส่งกระทบต่อไปอีก
นอกจากนี้ ปัญหานี้ก็อาจจะส่งผลต่อไทยในทางอ้อม เพราะในปัจจุบันไทยกำลังต้องการกำลังซื้อของนักท่องเที่ยวจีน ที่เราหวังจะให้มาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในบ้านเรา ดังนั้นถ้าเศรษฐกิจในจีนเลวร้ายลง นักท่องเทีย่วจีนที่มาไทยในปีนี้ก็อาจจะไม่เข้าเป้าด้วย ถึงแม้จะมีนโยบายต่างๆ เช่น ฟรีวีซ่ามาช่วยแล้ว
ตลาดหุ้นไทยภาคบ่ายปรับตัวลงกว่า 10 จุด หลุดระดับ 1,500 จุดตามตลาดภูมิภาค ปิดตลาดวันนี้ (26 ก.ย.66) ดัชนีหุ้นไทยอยู่ที่ 1,494.02 ลดลง 13.34 จุด ซึ่งเป็นจุดต่ำสุดของวัน มูลค่าการซื้อขายกว่า 55,000 ล้านบาท
นายณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยภาคบ่ายปรับตัวลงไปกว่า 10 จุด หลุดแนวรับที่ระดับ 1,500 จุดลงมา เป็นไปตามตลาดหุ้นอื่นในภูมิภาคทั่วโลก รวมถึงตลาดหุ้นยุโรปเปิดมาก็ปรับตัวลง จากความกังวลต่อดอกเบี้ยในหลายประเทศทรงตัวในระดับสูงยาวนานกว่าคาด และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยีลด์) พุ่งขึ้นทั่วโลก กดดันต่อสินทรัพย์เสี่ยง
ขณะที่บ้านเรา คาดนักลงทุนยังรอดูความชัดเจนแหล่งที่มาของเงินดิจิทัลวอลเล็ต และยังไม่มีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาสนับสนุนในช่วงนี้ด้วย รวมถึงดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ทำให้เงินทุนต่างชาติ (ฟันด์โฟลว์) ไหลออกต่อเนื่อง โดยมองนักลงทุนคงจะขายสุทธิหุ้นไทยออกไปก่อน จนกว่าจะมีปัจจัยที่หนุนต่อการกลับเข้ามาลงทุนอีกครั้ง
ด้าน บล. โกลเบล็ก (GBS) ประเมินหุ้นไทยสัปดาห์นี้แกว่งตัว Sideway ออกข้างจากความกังวลตัวเลขผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐแตะระดับสูงสุดในรอบ 16 ปี ส่วนปัจจัยในประเทศยังคงรอลุ้นนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ จึงให้กรอบดัชนี 1,500-1,550 จุด แนะลงทุนในหุ้น 3 กลุ่มเด่นรับประโยชน์นโยบายรัฐ ลดค่าไฟฟ้า-ฟรีวีซ่า-แจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท
นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิจัย GBS กล่าวว่า ปัจจัยที่ต้องจับตาในประเทศ วันที่ 27 ก.ย. ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 5/2566 (นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่ในผลสำรวจที่จัดทำโดยสำนักข่าวรอยเตอร์คาดการณ์ว่า ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะตรึงอัตราดอกเบี้ยนโยบายเอาไว้ที่ 2.25%)
ขณะที่ภาพรวมเศรษฐกิจโลกเริ่มส่งสัญญาณเชิงลบ เมื่อไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของจีนไม่สามารถออกหุ้นกู้ใหม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบครั้งใหม่ต่อแผนการปรับโครงสร้างหนี้ของเอเวอร์แกรนด์ และปัญหาความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ยังมีอยู่จากการที่รัฐมนตรีต่างประเทศรัสเซียจะเดินทางไปเยือนเกาหลีเหนือในเดือนหน้า ส่วนสหรัฐกำลังเจรจากับเวียดนามเกี่ยวกับข้อตกลงการขายอาวุธครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ซึ่งอาจสร้างความไม่พอใจให้กับจีนและกีดกันรัสเซียจากการขายอาวุธให้กับเวียดนาม
ดังนั้น แนะนำกลยุทธ์การลงทุนในหุ้น 3 กลุ่มเด่นที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายภาครัฐ อาทิ 1. กลุ่มที่ได้ประโยชน์มาตรการลดค่าไฟฟ้าตามมติ ครม. ได้แก่ HMPRO, GLOBAL, DOHOME, CPALL, CPAXT และ CRC 2. หุ้นที่ได้รับประโยชน์นโยบายฟรีวีซ่า ได้แก่ AOT, CENTEL, ERW, SPA, RP และ AU 3. หุ้นที่รับประโยชน์จากนโยบายแจกเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ได้แก่ HMPRO, DOHOME, GLOBAL, ILM, COM7, CPALL, CRC, MAKRO, TNP KK
ส่วนทิศทางการลงทุนในทองคำ นายณัฐวุฒิ วงศ์เยาวรักษ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล. โกลเบล็ก ประเมินภาพรวมทองคำสัปดาห์นี้แนะนำติดตามตัวเลขเศรษฐกิจ ความเชื่อมั่นผู้บริโภคสหรัฐ สุนทรพจน์ประธานเฟด และอัตราเงินเฟ้อส่วนบุคคลสหรัฐ
ฝ่ายวิจัยประเมินราคาทองคำในสัปดาห์นี้เคลื่อนไหว Sideway ในกรอบ 1,900-1,940 เหรียญสหรัฐ/ออนซ์ เนื่องจากยังถูกกดดันจากการปรับตัวขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐอายุ 10 ปีที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องทำจุดสูงสุดในรอบ 22 ปีที่ 4.49% อีกทั้งความกังวลว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือน พ.ย. เป็นปัจจัยกดดันต่อการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในระยะกลาง
ที่มา: Nikkei Asia, Reuters, CNBC