นายกฯ เศรษฐาเดินทางเยือนจีนระหว่าง 16-19 ตุลาคม เร่งพูดคุยกับหลายบริษัทยักษ์ใหญ่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและดึงการลงทุนเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐาน และสร้างอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทยให้เป็นฮับอีวีของภูมิภาค
ระหว่างวันที่ 16-19 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation: BRF) ครั้งที่ 3 ตามคำเชิญของนายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน และเยือนสาธารณรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นทางการ ตามคำเชิญของนายหลี่ เฉียง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐประชาชนจีน
การเดินทางไปประเทศจีนในครั้งนี้เป็นการเยือนจีนครั้งแรกอย่างเป็นทางการของนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทยหลังเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งหนึ่งในจุดประสงค์หลักก็คือการพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ระดับสูง หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมไปถึงบริษัทใหญ่ของจีน เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และดึงเม็ดเงินการลงทุนจากจีนมายังไทยเพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมต่างๆ ที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย เช่น อุตสาหกรรมเทคโนโลยี อุตสาหกรรมตามแนวทาง BCG หรือ Bio-Circular-Green Economy โครงสร้างพื้นฐาน อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้า
โดยในปัจจุบันจีนเป็นประเทศคู่ค้าอันดับหนึ่งของไทย มูลค่าการค้ารวมเมื่อปี 2565 อยู่ที่ 105,404 ล้านดอลลาร์สหรัฐ นอกจากนี้ จีนยังเป็นนักลงทุนต่างชาติอันดับหนึ่งของไทย โดยในปี 2565 มีจำนวนโครงการที่ยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจำนวน 158 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 77,381 ล้านบาท ทำให้การรักษาให้ความสัมพันธ์ทางการค้าของไทยกับจีนราบรื่นและมีประสิทธิภาพสูงสุดจึงมีความสำคัญมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในอนาคต
ในวันที่ 17-18 ตุลาคม นายเศรษฐาได้เข้าพบเจ้าหน้าที่ระดับสูงขององค์กรและบริษัทยักษ์ของจีนแล้วทั้งหมด 7 แห่ง โดยมีการพูดคุยเกี่ยวกับความร่วมมือและการลงทุนในอนาคต ดังนี้
วันที่ 17 ตุลาคม 2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ให้การต้อนรับและหารือกับ นาย Fan Jiang, CEO บริษัท Alibaba International Digital commerce Group
โดยนายกรัฐมนตรีได้ขอบคุณ Alibaba สำหรับความเชื่อมั่นในศักยภาพของประเทศไทย และเห็นประเทศไทยเป็น strategic partner รวมทั้งยังมีแผนขยายการลงทุนสร้าง smart digital hub ในไทยในอนาคต และหวังว่าจะได้รับการขยายการลงทุนเพื่อสนับสนุนและพัฒนาอุตสาหกรรมดิจิทัลของไทย เพราะเชื่อมั่นว่ายังมีโอกาสในการลงทุนไทยได้อีกมาก
ทั้งนี้ นอกจากแผนการจัดตั้ง smart digital hub ในไทยแล้ว ผู้บริหารบริษัท Alibaba กล่าวว่า Alibaba ยังมีแผนร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยเพื่อสร้าง travel platform สำหรับเป็นมาตรการรักษาความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวด้วยระบบออนไลน์ และเสนอให้มีการอนุญาตให้ใช้ใบขับขี่จีนในไทย เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อีกทางหนึ่ง
Xiaomi เป็นบริษัทผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ โดดเด่นในการผลิตสินค้า Smartphone และอุปกรณ์เครื่องใช้ในบ้านที่ใช้อินเตอร์เน็ต (IOT) นอกจากนี้ยังมีบทบาทในการสร้างอุตสาหกรรมดิจิทัลที่หลากหลาย มีเครือข่ายและธุรกิจทั่วโลก โดย Xiaomi ได้เริ่มธุรกิจในไทยในปี 2018 มีไทยเป็นสำนักงานหลักในภูมิภาค และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่องและมีการจ้างงานคนไทยจำนวนมาก
ในการพบปะวันที่ 17 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีจึงได้กล่าวขอบคุณ Xiaomi ที่ได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี R&D สำหรับโครงการแลนด์บริดจ์ ซึ่งเป็นโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างอ่าวไทยและอันดามัน
และชวนเชิญให้ Xiaomi ขยายการลงทุนและการค้าในไทยโดยเฉพาะการลงทุนด้านเทคโนโลยีที่จะมีโอกาสสามารถขยายฐานการลงทุนในไทยได้เร็วขึ้น เช่นการผลิตชิ้นส่วน Electronics ต่างๆ รวมไปถึงรถยนต์ EV ซึ่งนายกรัฐมนตรีให้ความมั่นใจว่าไทยจะเป็นศูนย์การผลิตรถยนต์ EV ของภูมิภาค ด้วยปัจจัยสนับสนุนที่พร้อมและสภาพแวดล้อมของไทยที่เหมาะสม
กลุ่มบริษัท CITIC Group Corporation หรือกลุ่ม CITIC เป็นบริษัทฯ ใหญ่ของจีนที่ดำเนินธุรกิจการบริการทางการเงินแบบครบวงจร และได้รับการจัดอันดับอยู่ใน Fortune's Global 500 เป็นเวลา 15 ปีติดต่อกันนับตั้งแต่ปี 2552 และอยู่ในอันดับที่ 100 ในปี 2566
ในการพบปะวันที่ 17 ตุลาคม นายกรัฐมนตรี ได้เชิญชวนให้ CITIC มาร่วมลงทุนในอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ 5 อุตสาหกรรม ได้แก่
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้เชิญชวนให้ CITIC มาตั้ง Regional Headquarter ที่ไทยโดยมีเป้าหมายเพื่อผลักดันประเทศไทยไปสู่เศรษฐกิจใหม่ โดย CITIC สนใจลงทุนใน PPP Projects ขนาดใหญ่ของไทย มีความเชื่อมั่นที่จะเข้ามาลงทุนในไทยในหลากหลายธุรกิจ
CRRC Group เป็นรัฐวิสาหกิจจีนที่ผลิตอุปกรณ์ขนส่งทางรางที่ใหญ่ที่สุดในโลก มีสายการผลิตและบริการแบบครบวงจร ครอบคลุมตั้งแต่การวิจัยและพัฒนา ออกแบบ การซ่อมแซม และให้บริการทางเทคนิค ซึ่ง CRRC ได้ทุ่มเทเวลาในการสร้างเครือข่ายและขยายธุรกิจไปสู่ขอบเขตที่กว้างขวาง อาทิ การพัฒนาเมืองสีเขียว และพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
ในการพบปะวันที่ 17 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวเชิญชวน CRRC Group ให้เข้ามาสร้างโรงงานผลิตหัวจักรรถไฟในไทย ซึ่งจะเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการต่อยอดโครงการ landbridge เพื่อสร้างระบบการขนส่งทั้งระบบรถไฟความเร็วสูง และระบบรถไฟรางคู่ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการพัฒนาด้านเศรษฐกิจของไทย เพราะประเทศไทยมีโอกาสอย่างมากในด้านการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ซึ่งรวมถึงในสาขาที่รัฐบาลให้ความสำคัญ ได้แก่ BCG Economy พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และยานยนต์ไฟฟ้า (EV) โดยรัฐบาลพร้อมสนับสนุนการลงทุนของบริษัท เพื่อประโยชน์ร่วมกัน
Ping An เป็น 1 ใน 3 ของผู้ให้บริการทางการเงินครบวงจรที่ใหญ่ที่สุดของจีน ซึ่งบูรณาการด้านการเงินและการบริการด้านสุขภาพเข้าด้วยกัน รวมถึงธุรกิจประกันภัย โดย Ping An ขานรับนโยบายรัฐบาลให้การส่งเสริมการลงทุนสีเขียว (Green Investment) ตั้งเป้าหมายลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ในโครงการที่มีแนวโน้มการปลดปล่อยคาร์บอนสูง (High Carbon-Emitting Assets) รวมทั้งเพิ่มสัดส่วนการปล่อยกู้ (Green Credit) การออกพันธบัตร (Green Bond) รวมทั้งการให้ประกัน (Green Insurance) แก่โครงการที่มีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม
ในการพบปะวันที่ 17 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีได้กล่าวขอบคุณ Ping An Group ที่มีความเชื่อมั่นในรัฐบาลและศักยภาพของไทย มีการดำเนินธุรกิจในไทยในหลากหลายสาขา พร้อมเชิญชวนให้ขยายการลงทุนในสาขาประกันภัยที่บริษัทมีศักยภาพ ใช้ประโยชน์จาก Health Care และ Wellness ของไทย เพราะประเทศไทยมีบริบท แวดล้อมในสังคมที่สนใจด้านสุขภาพและเทคโนโลยี จึงเหมาะสมกับการลงทุนของบริษัท
CHEC เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างในโครงสร้างสาธารณูปโภคใหญ่ที่สุดของจีน โดยดำเนินกิจการในประเทศไทยมายาวนาน ภายใต้ชื่อจดทะเบียนบริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ตั้งแต่ปี 2537 ซึ่งประกอบธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน ระบบการขนส่ง และการให้บริการคำปรึกษาด้านวิศวกรรม
ในการพบปะวันที่ 18 ตุลาคม นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ประเทศไทยยินดีที่ CHEC ได้เข้ามามีลงทุนในไทย เช่น โครงการสร้างทางหลวงและระบบราง เฟส 3 ของแหลมฉบัง และโครงการแลนด์บริดจ์ในการสร้างและขยายสนามบิน และเชิญชวนให้ร่วมลงทุนในโครงการขนาดใหญ่ และตั้ง regional office ในไทย เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในภูมิภาคร่วมกัน
Zhejiang Geely Holding Group (Geely) เป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 7 ของจีน โดยผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ต่างๆ อย่าง Geely Auto, Geometry, Livan, และ Zeekr และภายใต้บริษัทลูกที่ได้เข้าไปซื้อกิจการมาอย่า Volvo Cars, Polestar, Lynk & Co, Proton, และ Lotus
ในวันที่ 18 ตุลาคม นายกฯ ได้เข้าหารือกับนาย Daniel Li ซีอีโอของบริษัท Geely และขอบคุณบริษัทที่เห็นศักยภาพและพิจารณาลงทุนในประเทศไทย รวมทั้งทราบว่าบริษัทมีแผนจะนำรถ EV Pickup ไปจำหน่ายในไทยในเดือนตุลาคม 2566 ซึ่งนายกฯ เห็นว่ายังไม่มีผู้นำตลาดรถกระบะไฟฟ้าภายในประเทศจึงเป็นโอกาสดีของบริษัทที่จะเข้ามาทำตลาดในไทยในฐานะผู้นำตลาดรถกระบะไฟฟ้าในประเทศไทย
นายกรัฐมนตรีเชื่อมั่นว่า ไทยมีโอกาสสำหรับการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าที่ดีที่สุด และมีศักยภาพที่จะเป็น Detroit of Asia ของเอเชียได้ จากศักยภาพในการผลิต ความเหมาะสมของสถานที่ตั้ง และความพร้อมในด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ดังนั้น จึงได้เชิญชวนให้ Geely เข้ามาตั้งฐานการผลิตรถยนต์ EV ทั้งระบบในไทย ตั้งแต่อะไหล่ เครื่องยนต์ จนถึงการประกอบรถยนต์ เพื่อส่งออก
ทั้งนี้ นอกจากการเข้าพบผู้บริหารระดับสูงของบริษัทใหญ่ในจีนแล้ว ในวันที่ 17 ตุลาคม 2566 นายกรัฐมนตรียังได้เข้าหารือทวิภาคีกับนายวลาดิมีร์ ปูติน (Mr. Vladimir Putin) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธรัฐรัสเซีย สรุปสาระสำคัญดังนี้เพื่อยกระดับความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับรัสเซียให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
รัสเซียถือเป็นมิตรประเทศที่มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน ทั้งสองฝ่ายเพิ่งฉลองครบรอบ 125 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างเมื่อปี 2565 โดยนายกรัฐมนตรีเห็นว่าทั้งสองฝ่ายควรร่วมมือกันเพิ่มพูนความสัมพันธ์และความร่วมมือระหว่างกันให้ใกล้ชิดยิ่งขึ้นและเป็นรูปธรรม
นายวลาดิมีร์ กล่าวว่า ปี 2567 จะเป็นปีแห่งการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไทย-รัสเซีย และทั้งสองฝ่ายเห็นควรเพิ่มการอำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างกันมากขึ้น โดยนายกรัฐมนตรีขอให้ฝ่ายรัสเซียส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรระหว่างกัน พร้อมทั้งเชิญชวนให้รัสเซียพิจารณาเพิ่มการลงทุนในไทย