ข่าวเศรษฐกิจ

เงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐฯส่อเลื่อนจ่ายไม่ทัน ก.พ.66 รอเก้อมั้ย?

21 ต.ค. 66
เงินดิจิทัล 10,000 บาท รัฐฯส่อเลื่อนจ่ายไม่ทัน ก.พ.66 รอเก้อมั้ย?
ไฮไลท์ Highlight
“ผมเป็นคนสั่งให้เลื่อนการประชุม เพราะส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายเลขาฯ มาหารือมีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปพอที่จะเสนอกับคณะอนุกรรมการฯ กระบวนการทำข้อสรุปค่อนข้างใช้เวลา จึงขอชะลอไปก่อน  และขอให้ไปประชุมในส่วนที่ยังค้างคาเพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุมที่สุด ฝ่ายเลขาฯ จะนัดประชุม อีกครั้งสัปดาห์หน้า"  จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

เงินดิจิทัล10,000 บาท นโยบายเรือธงของรัฐบาลใหม่ที่นำโดยพรรคเพื่อไทยกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ถูกตรวจสอบ และจับตาอย่างใกล้ชิด ทั้งจากประชาชนในฐานะผู้ที่จะได้รับเงินดิจิทัลรวมไปถึงนักเศรษฐศาสตร์แถวหน้าของประเทศที่เป็นห่วงกรอบวินัยการเงินการคลังในระยะต่อไปตลอดจนภาคประชาสังคมที่เรียกร้องให้หน่วยงานอย่าง กกต. ป.ป.ช. มาร่วมกันตรวจสอบความโปร่งใสของนโยบายนี้ด้วย 

นโยบายเงินดิจิทัล10,000บาทมีกระแสและอยู่ในความสนใจมาตั้งแต่พรรคเพื่อไทยหาเสียงแล้วด้วยซ้ำเพราะเป็นนโยบายที่มีวงเงินมหาศาล 560,000 ล้านบาท เติมเงินถึงมือประชาชนมโหฬารถึง 50 กว่าล้านคนเพราะผู้มีสิทธิได้เงินดิจิทัลนี้ มีเงื่อนไขว่าอายุตั้งแต่ 16 ปีขึ้นไปทุกคน ซึ่งเมื่อพรรคเพื่อไทยขึ้นมาเป็นรัฐบาล จึงได้มีการตั้งคณะกรรมการนโยบายโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ขึ้นมาเป็นคณะกรรมการชุดใหญ่ที่นายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน เป็นประธานในการประชุมและมีการตั้งคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการเติมเงิน 10,000 บาทขึ้นมาอีก 1 คณะเพื่อลงรายละเอียดในการทำโครงการนี้ให้สำเร็จ โดยมี นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เป็นประธาน

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา คณะอนุกรรมการฯชุดนี้ได้นัดประชุมกันเป็นครั้งแรกเพื่อนำข้อห่วงใย ข้อสังเกตุต่างๆจากหลายฝ่ายมาหารือกัน และนัดพูดคุยต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 19 ตุลาคม ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่าการประชุมต้องถูกเลื่อนออกไป พร้อมด้วยการชี้แจงจากทางนายจุลพันธ์ ว่า 

“ผมเป็นคนสั่งให้เลื่อนการประชุม เพราะส่วนงานที่เกี่ยวข้อง ฝ่ายเลขาฯ มาหารือมีหลายประเด็นที่ยังไม่ได้ข้อสรุปพอที่จะเสนอกับคณะอนุกรรมการฯ กระบวนการทำข้อสรุปค่อนข้างใช้เวลา จึงขอชะลอไปก่อน  และขอให้ไปประชุมในส่วนที่ยังค้างคาเพื่อให้เกิดความรอบคอบรัดกุมที่สุด ฝ่ายเลขาฯ จะนัดประชุม อีกครั้งสัปดาห์หน้า" 

จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง
จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

รมช.คลัง ยอมรับว่า มีความเป็นห่วงเรื่องกรอบระยะเวลาของโครงการซึ่งโจทย์ที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง วางไว้คือ 1 ก.พ. 67 ซึ่งเป็นเวลาที่ค่อนข้างตึง และไม่ง่าย ดังนั้นหากมีความจำเป็นต้องเลื่อน ก็ต้องเลื่อนออกไป โดยเชื่อว่านายกรัฐมนตรีจะไม่ติดใจในประเด็นนี้ หากเป็นการเลื่อนด้วยเหตุผลที่เหมาะสม และมีความจำเป็นจริง ๆอย่างไรก็ตาม นาจุลพันธ์ ก็ระบุเดตไลน์ของนโยบายนี้ว่า จะต้องออกมาแน่นอนไม่เกินไตรมาส 1ของปีหน้า

นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 ยังติดขัดตรงไหน ? 

ปัจจัยที่ทำให้การทำนโยบายเงินดิจิทัล10,000 บาทไม่ง่าย ไม่เร็ว อย่างที่ตั้งใจไว้มีหลายส่วนที่รัฐบาลต้องดำเนินการ  

  • ที่มาของเงินที่จะนำมาใช้ในโครงการนี้ 

แม้ช่วงแรกมีการระบุว่า ไม่จำเป็นต้องกู้ เพราะนำมาจากการบริหารจัดการภาษี และงบประมาณประจำปี แต่ในความเป็นจริงอาจไม่ได้ง่ายเช่นนั้น คำถามเรื่องการหาแหล่งเงินมาใช้ที่จะไม่กระทบต่อกรอบวินัยการเงินการคลังของประเทศ ตามที่อดีตผู้ว่าแบงก์ชาติ และ นักเศรษฐศาสตร์เกือบ 100 คน ท้วงติงไว้แต่แรก ก็เป็นสิ่งที่คณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโยบายนี้คงต้องมีทางออกให้เหมาะสม

  • ระบบที่จะใช้รองรับการใช้จ่ายของประชาชนกว่า 50 ล้านคน

ประเด็นเรื่องระบบก็ยังเป็นที่ถกเถียง เพราะบล็อคเชน ที่รัฐบาลอยากนำมาใช้กับการนโยบายนี้ ยังมีข้อจำกัดในการใช้งานกับประชาชนจำนวนมากพร้อมกัน ยังไม่ได้นับรวมเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ความมั่นคงของตัวระบบ กระบวนการทำแอปพลิเคชัน ที่ล้วนแล้วแต่ใช้เวลาทั้งสิ้น ซึ่งนับจากวันนี้ ถึงเดือน ก.พ.2567 เหลือเวลาอีกราว 4 เดือน หากยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน ก็ดูจะเป็นงานที่ท้าทายและเร่งด่วนที่รัฐบาลจะทำให้ทันตามที่รับปากกับประชาชนไว้

  • เงื่อนไขของโครงการ

เงื่อนไขของโครงการเป็นอีกส่วนสำคัญ เพราะ เดิมกำหนดว่าคนไทยผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป ใช้จ่ายในรัศมี 4 กิโลเมตรตามทะเบียนบ้าน ไม่ได้มีการแยกคัดกรองระดับรายได้ ทำให้เกิดคำถามว่า ผู้มีฐานะร่ำรวยจะนำเงินนี้ไปใช้เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจจริงหรือไม่เหมาะสมหรือไม่ คณะทำงานจะมีการกำหนดกรอบผู้ได้รับสิทธิ์อย่างไร จำเป็นจะต้องตัดคนรวยออกหรือไม่ เพราะมีทั้งข้อเสนอให้ตัด และไม่ให้ตัด รวมถึงมีข้อเสนอให้จ่ายเป็นเฟส

เอกชนหนุนให้รัฐฯกระตุ้นเศรษฐกิจ 

นายจุลพันธ์ ย้ำว่า นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทมีความจำเป็นต้องทำ เพราะศรษฐกิจไทยเติบโตในระดับต่ำมาโดยตลอด มีการปรับลดคาดการณ์จีดีพีลงอย่างต่อเนื่อง เหลือ 2.6-2.8% หากรัฐบาลไม่ทำอะไร ปล่อยไว้ หลายส่วนก็คาดว่าจีดีพีอาจจะต่ำไปกว่านี้โดยสัปดาห์ที่ผ่านมา IMF  ได้ปรับประมาณการ GDP ไทยลดลงเหลือ 2.7% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 3.4% และได้ปรับลดคาดการณ์ GDP ไทยในปี 2567 ลงสู่ระดับ 3.2% จากระดับ 3.6%

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

มุมมองของนายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ระบุถึงแนวโน้มโครงการเงินดิจิทัลวอลเล็ต 1 หมื่นบาท ที่รัฐบาลอาจต้องเลื่อนออกไปจากกำหนดเดิมในเดือนก.พ.67 ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องธรรมดาที่ทั่วโลกรวมทั้งไทยทำมาตลอด แต่ครั้งนี้พิเศษ เนื่องจากรัฐบาลมีแผนแจกเงินดิจิทัลให้ประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป ซึ่งมีประมาณ 56 ล้านคน ใช้งบประมาณ 5.6 แสนล้านบาท โดยเป็นเรื่องใหม่ที่นำเทคโนโลยีดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้ ซึ่งระบบดังกล่าว จะเข้ามามีส่วนในการตรวจสอบความแม่นยำ โปร่งใส และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้

การเริ่มโครงการที่อาจจะล่าช้าไปจากเดือนก.พ.นั้น เชื่อว่าไม่มีผลกระทบต่อความเชื่อมั่นมากนัก เนื่องจากมีความเชื่อว่าการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต เป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่พรรคเพื่อไทยต้องทำอยู่แล้ว ส่วนแหล่งที่มาของเงินที่หลายฝ่ายกังวลนั้น ในฐานะของผู้ประกอบการ นักธุรกิจ มองว่ารัฐบาลคงมีวิธีในการหาแหล่งเงินที่ถูกกฎหมายอยู่แล้ว พร้อมเชื่อว่ารัฐบาลจะทำนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ตออกมาแน่นอน

"การแจกเงินกระตุ้นเศรษฐกิจเป็นเรื่องที่ต้องทำ ในภาวะที่ขณะนี้กำลังซื้อลดลง จากทั้งดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตฯ และภาวะเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น" นายเกรียงไกรกล่าว 

ดังนั้น จากประเด็นหลักๆที่ทำให้ นโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน สัปดาห์หน้าเราจึงต้องติดตามการประชุมคณะอนุกรรมการชุดนี้กันอีกครั้งว่า นโยบายนี้จะหลุดออกจากหล่มได้หรือไม่

 

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT