Logo site Amarintv 34HD
Logo LiveSearch
Search
Logo Live
Logo site Amarintv 34HD
ช่องทางติดตาม AMARINTV
  • facebook AMARIN TV 34 HD
  • x AMARIN TV 34 HD
  • line AMARIN TV 34 HD
  • youtube AMARIN TV 34 HD
  • instagram AMARIN TV 34 HD
  • tiktok AMARIN TV 34 HD
  • RSS Feed AMARIN TV 34 HD
IMF เตือนไม่ควรผ่อนคลายนโยบายการเงิน จับตาหนี้สาธารณะพุ่งสูง
โดย : อมรินทร์ทีวีออนไลน์

IMF เตือนไม่ควรผ่อนคลายนโยบายการเงิน จับตาหนี้สาธารณะพุ่งสูง

23 ต.ค. 66
14:00 น.
|
306
แชร์

บทความโดย : มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล

การประชุมใหญ่ประจำปี2023 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือIMF ร่วมกับธนาคารโลกที่เมืองมาราเกซ ราชอาณาจักรโมร็อกโกเพิ่งผ่านพ้นไปพร้อมกับอุณหภูมิการเมืองโลกที่ร้อนระอุจากการสู้รบกันระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสซึ่งอาจยกระดับเป็นสงครามภูมิภาคได้เมื่อชาติมหาอำนาจต่างแสดงตัวเลือกข้างสนับสนุนอย่างชัดเจน ทั้งที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนยังมีอยู่ต่อเนื่องกว่า 600 วันและยังไม่เห็นแสงสว่าที่ปลายอุโมงค์ ทำให้แทบจะทุกวงเสวนาของการประชุมใหญ่ครั้งนี้ออกโรงเตือนเรื่องเงินเฟ้อที่เกิดจากแรงกดดันจากราคาพลังงานและขอให้รัดเข็มขัดพร้อมรับสิ่งที่ไม่คาดคิดในวันข้างหน้า

 เวทีโลกคุยอะไรกัน?…สรุปการประชุมใหญ่ IMF Annual Meeting 2023? 

“Higher for longer” คือประโยคสั้นๆแต่ทรงพลังของคริสตาลิน่า กิออกิเอว่า ผู้อำนวยการกอง IMF ที่พูดถึงทิศทางดอกเบี้ยนโยบายที่บางกลุ่มประเทศอาจต้องขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพิ่มอีกและคงระดับที่สูงนี้เอาไว้ให้นานพอ สอดคล้องพอดิบพอดีกับแถลงของเจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลาสหรัฐหรือเฟดที่พูดถึงเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาว่าเงินเฟ้อนั้นยังสูงเกินไป (Too High) สะท้อนว่าโจทย์เศรษฐกิจนี้จะกินเวลานานกว่าที่คาดและปัจจัยเศรษฐกิจถดถอยน่าจะกลับมาถูกพูดถึงอีกครั้ง

ที่งานประชุมใหญ่นี้ IMF แถลงคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกหรือ World Economic Outlook รอบเดือนตุลาคมโดยมองว่าเริ่มเห็นการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจทั่วโลกชัดเจนมากขึ้นแต่ว่าระดับการเติบโตยังอยู่ในระดับต่ำ โดยประเมินว่าปี 2023 นี้จะเศรษฐกิจโลกจะโตได้ 3.0 % ซึ่งปรับลดลงมาจาก 3.5% จากการคาดการณ์ก่อนหน้าและเศรษฐกิจในปี 2024 จะเติบโตแผ่วลงที่2.9% และมองต่อไปถึงปี 2028 คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจโลกจะเติบโตต่ำกว่า 4% เศรษฐกิจประเทศพัฒนาแล้วขยายตัวต่ำกว่า 2% และ เศรษฐกิจของประเทศเกิดใหม่จะเติบโตได้ราว 4% สิ่งที่เป็นอุปสรรคสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจคือเงินเฟ้อที่จะอยู่ในระดับสูงต่อไปและตัวเลขเงินเฟ้อทั่วโลกน่าจะยังไม่กลับเข้าอยู่กรอบเงินเฟ้อที่ตั้งไว้ได้จนกว่าจะถึงปี 2025 

แม้ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาจะมีมูลค่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเท่ากับช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของโควิด19 แล้ว แต่ IMF ยังเน้นว่าประเทศรายได้น้อยและตลาดประเทศเกิดใหม่ยังไม่สามารถผลักดันเศรษฐกิจให้กลับไปที่จุดเดิมได้ ซึ่งกลุ่มประเทศในเอเชียเจอแรงกดันดันเรื่องเงินเฟ้อน้อยกว่าสหรัฐอเมริกาและยุโรป ตัวเลขเงินเฟ้อของเอเชียกลับมาใกล้เคียงกับระดับที่เหมาะสมแล้วและประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ทำได้ดีคือ อินโดนีเซียและไทย ซึ่งมีระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสม

คริสตาลิน่า กิออกิเอว่า ผู้อำนวยการ IMF และ อาเจย์ บังกา ประธานธนาคารโลก
(ซ้าย) คริสตาลิน่า กิออกิเอว่า ผู้อำนวยการ IMF
(ขวา) อาเจย์ บังกา ประธานธนาคารโลก

 

IMF ประเมินทิศทางเศรษฐกิจโลกยังมีปัจจัยลบอยู่เยอะทั้งปัญหาหนี้ทั่วโลกรวมทั้งปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ที่เข้ามาใหม่น่าจะเป็นตัวกดดันให้ราคาน้ำมันและเงินเฟ้อรุนแรงมากขึ้น กลุ่มประเทศเกิดใหม่เป็นกลุ่มที่น่าเป็นห่วง

โดยเฉพาะประเทศที่ต้องนำเข้าสินค้าและบริการจากต่างประเทศในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีแนวโน้มแข็งค่ามากขึ้นและเน้นการให้ความสำคัญกับการผลักดันการค้าเสรีตามข้อตกลงขององค์การการค้าโลกเพื่อลดปัญหาการแบ่งข้างทางเศรษฐกิจหรือ Economic Fragmentation รวมทั้งความร่วมมือด้านการเกษตรและอาหารเพื่อแก้ไขปัญหาวิกฤตการณ์ด้านอาหารด้วย โดย IMF ร้องขอให้ประเทศต่างๆหลีกเลี่ยงการจำกัดการส่งออกอาหารเพื่อไม่ให้ป้ญหาเรื่องนี้รุนแรงมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ 

ส่วนการแถลงรายงานการติดตามนโยบายการคลัง (Fiscal Monitor) ซึ่งเป็นการสำรวจนโยบายการคลังทั่วโลกเพื่อประเมินความเสี่ยงและความเปราะบางของแต่ละเขตเศรษฐกิจนั้น IMF เน้นหนักเรื่องหนี้สาธารณะที่อยู่ในระดับสูงทั่วโลกจากดำเนินงบประมาณขาดดุลมายาวนาน สอดคล้องกับข้อจำกัดด้านภาษีเพื่อการจัดเก็บรายได้เข้ารัฐที่ยังไม่สมดุล นั่นคือนอกจากรายได้เข้ารัฐน้อยลงจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัวแล้ว ยังต้องชดเชยสารพัดอย่างทั้งราคาพลังงาน สาธารณูปโภคพื้นฐานและการอุดหนุนกลุ่มคนที่เปราะบาง ภาระหนี้จึงโตขึ้นแบบก้าวกระโดดคาดว่าในปี 2023 นี้ ระดับหนี้สาธารณะต่อเศรษฐกิจจะแตะ 93% และมีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้นจนแตะ 100% ในปี 2030  ซึ่ง IMF แนะนะว่าเศรษฐกิจโลกยังจำเป็นต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวดอยู่เพื่อรับมือกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจโดยเฉพาะภาวะเงินเฟ้อที่จะยังสูงต่อไปพร้อมกับการจัดลำดับความสำคัญของมาตรการทางการคลังเพื่อรักษาขีดความสามารถด้านนโยบาย (Policy Space) เอาไว้

IMF Annual Meeting 2023

IMF Annual Meeting 2023 ณ ราชอาณาจักรโมร็อกโก

 เร่งทุกภาคส่วนปรับตัวสู่เป้าหมายความยั่งยืนให้เป็นรูปธรรม 

สิ่งที่ไม่พูดถึงไม่ได้ก็คือการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศตามข้อตกลงปารีสและเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ IMF คาดว่าการเปลี่ยนผ่านของประเทศต่างๆทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน การสนับสนุนพลังงานสะอาดเพื่อบรรลุเป้าประสงค์การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ต้องใช้เงินมหาศาลขนาด45-50% ของขนาดเศรษฐกิจภายในปี 2050 กดดันให้ระดับหนี้สาธารณะเพิ่มมากขึ้นอีก ดังนั้นการสนับสนุนจากภาครัฐเพียงอย่างเดียวนั้นไม่พอ ต้องเกิดความร่วมมือกันทั้งภาคจากเอกชนและการปรับตัวของผู้บริโภคด้วย โดยขอให้รัฐบาลต่างๆยกเลิกการอุดหนุนราคาพลังงานเพื่อเสถียรภาพทางการคลังและเร่งให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นรูปธรรมและจากนี้ต้นทุนด้านคาร์บอน (Carbon Pricing) จะมีบทบาทมากขึ้นเรื่อยๆและเชื่อมโยงกับการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจทั้งการแก้ไขความยากจนและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย 

IMF ให้ความสำคัญคือการช่วยเหลือและทำงานกับประเทศที่ประสบปัญหาภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลให้เกิดภาระทางการคลังในการฟื้นฟูเยียวยาและเกิภาระด้านการคลังเกินจะแบกรับ จึงถึงเวลาที่แต่ละประเทศที่มีสถานะเป็นลูกค้าหรือเจ้าหนี้ในการพัฒนาหลักเกณฑ์ร่วมกันเพื่อช่วยสนับสนุนมาตรการที่เกี่ยวเนื่องกับการแก้ไขการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดย IMFกล่าวชมประเทศญี่ปุ่นในฐานะพันธมิตรที่ดีที่สนุบสนุนเม็ดเงินถึง 20% สำหรับกองทุนขนาดใหญ่เพื่อการปล่อยกู้ดอกเบี้ย 0% ให้กับประเทศสมาชิกที่ผลักดันการเปลี่ยนผ่านสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืนด้วย 

ดังนั้น การปรับโครงสร้างภาษีจึงเป็นเรื่องจำเป็นเพื่อทำให้รัฐมีรายได้ที่เพิ่มขึ้นสอดคล้องกับการขาดดุลทางการคลังที่เกิดขึ้นมายาวนานรวมทั้งกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวของภาคเอกชนในระบบเศรษฐกิจเพื่อลดการปล่อยมลพิษและการพึ่งพาพลังงานดั้งเดิม สนับสนุนพลังงานสะอาด ถ้าประเทศต่างๆปรับแก้กฏหมายต่างๆให้เหมาะสมได้มากขึ้น จะสามารถสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ถึง 2-5% ของขนาดเศรษฐกิจเลยทีเดียว

 บทสรุปที่สำคัญจากงานประชุม 

คือ คำแนะนำเรื่องนโยบายทางเศรษฐกิจโดยรวมที่เหมาะสมในมุมของ IMF ได้แก่ 

  1. แก้ไขปัญหาเงินเฟ้อและเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงินโดยยังคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูง 
  2. การกำกับดูแลด้านเสถียรภาพอย่างมีประสิทธิภาพ  
  3. สำหรับมาตรการทางการคลังขอให้รัฐบาลทั่วโลกช่วยกันลดระดับหนี้สาธารณะที่พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว จัดลำดับความสำคัญของการใช้มาตรการที่เหมาะสมกับบริบทของเศรษฐกิจพร้อมกับการกระตุ้นการลงทุนให้มากขึ้น
  4. ช่วยกันกระตุ้นให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจระยะกลางทั้งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน สนับสนุนเทคโนโลยีสีเขียวและการเตรียมความพร้อมของแรงงานอยู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตด้วย

ถือเป็นการบ้านกองโตที่ทุกเขตเศรษฐกิจทั่วโลกต้องนำกลับไปแก้และปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น สำหรับประเทศไทยนั้นนอกจากนโยบายด้านเศรษฐกิจแล้ว อีกบทบาทหนึ่งที่ต้องเตรียมพร้อมคือการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมใหญ่ของ IMF และ ธนาคารโลกในปี2026 ซึ่งเป็นปกติที่จะเวียนจัดในต่างประเทศทุกๆ 3 ปี เดิมเราเคยรับหน้าที่นี้เมื่อปี 1991 หรือ 32 ปีที่แล้ว และทำให้เกิดศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ขึ้นมา นี่จึงเป็นการกลับมารับหน้าที่สำคัญอีกครั้ง ซึ่งเมื่อวันที่ 15 ตุลาคม ที่ผ่านนา ตัวแทนจากประเทศไทย ดร. ชญาวดี ชัยอนันต์ ผู้ช่วยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยและ กฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังร่วมลงนามใน MOU เพื่อรับหน้าที่เจ้าภาพการจัดประชุมปี2026อย่างเป็นทางการร่วมกับคริสตาลิน่า กิออกิเอว่า ผู้อำนวยการ IMF และ อาเจย์ บังกา ประธานธนาคารโลก โดยคาดว่าจะจัดที่กรุงเทพมหานครและใช้ศูนย์ประชุมฯสิริกิติ์เช่นเดิม เนื่องจากเพิ่งปรับปรุงใหม่และมีศักยภาพในการรองรับการประชุมระดับโลกมากที่สุดจุดหนึ่ง


แชร์
IMF เตือนไม่ควรผ่อนคลายนโยบายการเงิน จับตาหนี้สาธารณะพุ่งสูง