ภารกิจนายกรัฐมนตรี ในการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปคครั้งที่ 30 (2023 APEC Economic Leaders Meeting) ระหว่างวันที่ 12-19 พ.ย. 2566 ณ นครซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนียร์ สหรัฐอเมริกา เกิดความร่วมมือกับบริษัทเอกชนยักษ์ใหญ่ระดับโลกหลายแห่งที่แสดงความสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยซึ่งนายกฯเศรษฐา ประกาศความพร้อม ‘ ถึงเวลาเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว ‘
บนเวที APEC CEO Summit 2023 ที่เป็นในฝั่งของภาคธุรกิจเอกชนในกลุ่ม APEC นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เศรษฐา ทวีสิน ได้เน้นย้ำว่า
"ประเทศไทยพร้อมร่วมมือทางธุรกิจอย่างเต็มรูปแบบแล้ว ด้วยบรรยากาศทางการเมืองที่มีเสถียรภาพ รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มที่ ผ่านนโยบายทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะมีการบังคับใช้อย่างจริงจัง โดยให้ความสำคัญกับการขยายการเติบโต กระตุ้นความสามารถในการแข่งขัน และยกระดับตำแหน่งของประเทศในฐานะจุดหมายปลายทางที่โดดเด่นสำหรับการค้าและการลงทุน การสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยและดึงดูดการลงทุน ส่งเสริมนวัตกรรมและความเป็นผู้ประกอบการ ขณะเดียวกันต้องส่งเสริมความร่วมมือเพื่อการเติบโตและการพัฒนาที่ยั่งยืนด้วย"
"นายกรัฐมนตรี เน้นย้ำว่า ขณะนี้ถึงเวลาที่จะเข้ามาลงทุนในประเทศไทยแล้ว และไทยพร้อมที่จะทำงานร่วมกับพันธมิตรทุกรายจากทั่วโลก เพื่อพบปะและพูดคุยกับผู้นำธุรกิจ APEC ที่โดดเด่นจากทั่วภูมิภาค ซึ่งถือเป็นผู้ขับเคลื่อนที่สำคัญทางเศรษฐกิจ เอเปคถือเป็นภาคส่วนที่ทรงพลัง เป็นที่ตั้งของประชากรมากกว่า 1 ใน 3 ของโลก และสามารถสร้างการค้าเกือบครึ่งหนึ่งของโลก"
ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เอเปคประสบความสำเร็จในการช่วยให้ผู้คนหลายล้านคน หลุดพ้นจากความยากจน ด้วยการเปิดการค้าและการลงทุน ซึ่งความสำเร็จดังกล่าวเกิดจากความร่วมมือกับชุมชนธุรกิจ ความสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะกับ ABAC ซึ่งถือเป็นความพิเศษและเป็นรากฐานสำหรับความสำเร็จร่วมกันในปัจจุบัน
นายกรัฐมนตรี ได้แสดงวิสัยทัศน์และเสนอแนวทางความร่วมมือ เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย โดยเน้นย้ำ 3 ด้านสำคัญ ดังนี้
-
ด้านความยั่งยืน
ไทยมีเป้าหมายกรุงเทพว่าด้วยเศรษฐกิจ BCG (Bangkok Goals on BCG Economy) ซึ่งผู้นำเอเปคทุกคนได้นำมาใช้เมื่อปีที่แล้ว ซึ่งปี 2566 นี้ ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 ของ SDG Index ที่หนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดด้วยการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียว และการเปลี่ยนแปลงด้านพลังงานให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น ขณะเดียวกัน จะเพิ่มความพยายามเป็น 2 เท่า เพื่อให้บรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และทำให้การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065
ด้วยเหตุนี้ ไทยจึงส่งเสริมด้านการเงินสีเขียวอย่างแข็งขัน ผ่านการออกพันธบัตร พันธบัตรเพื่อความยั่งยืน (Sustainability -Linked Bonds) สนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าด้วย เป้าหมายคือการสร้างห่วงโซ่อุปทานของ EV ที่ครอบคลุม ซึ่งรวมถึงยานยนต์ไฟฟ้าทุกประเภท ชิ้นส่วนและส่วนประกอบทั้งหมด นอกจากนี้ จะปรับปรุงระบบนิเวศเพื่อสนับสนุนและอำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจดังกล่าว
-
ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม
การเกิดขึ้นของเทคโนโลยี เช่น generative AI, Blockchain และ Internet of Things (IoT) กำลังเปลี่ยนภูมิทัศน์ทางธุรกิจ กระบวนการผลิต และชีวิตประจำวัน ซึ่งความก้าวหน้าเหล่านี้ นำมาซึ่งโอกาสใหม่ ๆ สำหรับการเติบโต
โดยในประเทศไทย รัฐบาลกำลังวางแผนที่จะใช้เทคโนโลยีบล็อคเชน เพื่อดำเนินโครงการกระเป๋าเงินดิจิทัล (Digital Wallet) ซึ่งสิ่งนี้ไม่เพียงแต่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศของเราเท่านั้น แต่ยังจะยกระดับการรับรู้ และทักษะด้านดิจิทัลอีกด้วย โดยในระยะยาว รัฐบาลมุ่งมั่นที่จะเปลี่ยนผ่านสู่รัฐบาลดิจิทัล ส่งเสริมการทำงานร่วมกัน เพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลของบริการสาธารณะของประเทศ รวมทั้งพร้อมจะต้อนรับการลงทุน และแรงงานที่มีทักษะ เพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมดิจิทัล
-
ด้านการค้าและการลงทุน
เอเปคมีบทบาทสำคัญในการขยายการค้าและการลงทุนภายในภูมิภาค ซึ่งจะช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนนับล้าน ซึ่งตัวเลขสะท้อนเป็นผลในตลอดหลายปีที่ผ่านมา การค้าทั่วทั้ง APEC เพิ่มขึ้นเกือบสี่เท่าภายใน 2 ทศวรรษ จาก 7.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในปี ค.ศ. 2001 ขึ้นมาเป็นกว่า 27 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ ในปี ค.ศ. 2021 ซึ่งเขตการค้าเสรีเอเชีย - แปซิฟิก (FTAAP) ยังคงเป็นปณิธานที่สำคัญ และจะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย รวมทั้งการเร่งสถาปัตยกรรมการค้าทวิภาคีและภูมิภาคอื่น ๆ เพื่อสร้างพันธมิตรใหม่ และไทยจะยกระดับ FTA เพื่อตอบสนองต่อความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงระหว่างเศรษฐกิจร่วมกัน ขณะเดียวกันได้เปิดโอกาสทางการค้าและการลงทุนใหม่ ๆ ให้กับพันธมิตรของเราอีกด้วย
นายกรัฐมนตรี ระบุว่า ไทยตระหนักถึงความจำเป็นในการรักษาห่วงโซ่อุปทานให้เปิดกว้าง และยืดหยุ่นต่อการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้ความสำคัญกับการปรับปรุงการเชื่อมต่อทางกายภาพ และการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งรวมถึงการพัฒนาสนามบินหลายแห่งทั่วทั้งเขตเศรษฐกิจของเรา
นอกจากนี้ จะใช้ประโยชน์จากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ในภูมิภาคนี้อย่างเต็มที่ และกำลังดำเนินโครงการขนาดใหญ่เพื่อพัฒนาสะพานข้ามทะเล เพื่อเชื่อมต่อทะเลอันดามันกับอ่าวไทย (Landbridge) ซึ่งจะช่วยลดเวลาการเดินทางระหว่างมหาสมุทรอินเดียและมหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้า และโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคภายในทศวรรษนี้
เศรษฐาจับมือเทคยักษ์ใหญ่ เซลล์แมนชวนลงทุนในไทย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี นำเสนอนโยบายรัฐบาลและศักยภาพของไทย ต่อบริษัทชั้นนำในหลายประเทศตั้งแต่ช่วงต้นของการเดินทางเยือน นครซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา ซึ่งเห็นผลเป็นการลงทุนในไทยจาก 3 บริษัทชั้นนำระดับโลก ด้วยมูลค่ามากกว่า 100,000 ล้านบาทต่อบริษัท ดังนี้
Amazon Web Service (AWS) ลงทุนก่อสร้าง AWS Asia Pacific (Bangkok) Region สร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจในไทย เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ปรับปรุงประสิทธิภาพภาครัฐ และช่วยสร้างแรงงานทักษะสูงที่ไทยขาดแคลน
Microsoft ลงนาม MOU กับไทย เพิ่มโอกาสพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล ช่วยปรับปรุงการให้บริการสาธารณะผ่านการเปลี่ยนแปลงบริการรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์
Google ลงนาม MOU กับ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล และพิจารณาไทยเป็นสถานที่ตั้งศูนย์ข้อมูล (Data Center) เพิ่มเติมเป็นแห่งที่ 4 ในบริเวณภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และเป็นแห่งที่ 11 ของโลก
โฆษกรัฐบาล นายสัตวแพทย์ชัย วัชรงค์ เผยความสำเร็จในการดึงดูดการลงทุนของนายกรัฐมนตรี เกิดการลงทุนแล้ว 3 บริษัท AWS (Amazon Web Services), Microsoft และ Google มูลค่ารวมกว่า 3 แสนล้านบาท
รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ ประกาศความร่วมมือ
ขับเคลื่อนไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัลและ AI
ในวันนี้ 16 พ.ย. 2566 รัฐบาลไทยและไมโครซอฟท์ได้ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือภายใต้วิสัยทัศน์ในการยกระดับประเทศไทยให้มุ่งสู่ก้าวต่อไปกับนวัตกรรมดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI)
โดยข้อตกลงฉบับนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะนำเทคโนโลยีคลาวด์และ AI ที่เปี่ยมประสิทธิภาพจากไมโครซอฟท์มาเสริมความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของประเทศไทย สร้างโอกาสใหม่ๆ ในการจ้างงานที่ยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทย และปูทางให้ประเทศไทยมุ่งสู่ความเป็นผู้นำในระดับภูมิภาค ทั้งในด้านนวัตกรรมดิจิทัลและความยั่งยืน
ในโอกาสนี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนายสัตยา นาเดลลา ซีอีโอของไมโครซอฟท์ ได้ร่วมพบปะหารือกันที่เมืองซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา เพื่อร่วมพูดคุยถึงจุดประสงค์ของบันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับดังกล่าว ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
ขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยนวัตกรรมดิจิทัล
ไมโครซอฟท์จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับหน่วยงานภาครัฐเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่สอดคล้องกับนโยบายด้านรัฐบาลดิจิทัลและการใช้บริการระบบคลาวด์ภาครัฐ หรือ Cloud First ของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยมุ่งเน้นไปที่การสนับสนุนภาคการเกษตร สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการศึกษา นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังจะร่วมพิจารณาแผนการลงทุนก่อสร้างศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย เพื่อยกระดับการใช้งานคลาวด์และ AI ต่อไปในอนาคต และพร้อมกันนี้ ไมโครซอฟท์จะให้การสนับสนุนกับรัฐบาลไทยในด้านการรักษาความปลอดภัยทางไซเบอร์ ด้วยการนำเสนอแนวทางการปฏิบัติที่ดีที่สุด พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญจากบุคลากรชั้นนำของบริษัท
ปูทางสู่อนาคตที่ขับเคลื่อนด้วย AI
ไมโครซอฟท์จะทำงานร่วมกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมในการพัฒนาและผสมผสานเทคโนโลยี AI เข้ากับโครงการด้านรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) และบริการสาธารณะต่างๆ เพื่อประโยชน์แก่คนไทย นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังมีแผนที่จะร่วมกันจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศเชิงกลยุทธ์ด้าน AI (AI Center of Excellence) เพื่อยกระดับโครงการที่ใช้เทคโนโลยี AI ของภาครัฐ จัดทำโรดแมปที่จะช่วยให้การนำเทคโนโลยี AI มาใช้งานเกิดขึ้นได้จริง และส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในภาคส่วนและอุตสาหกรรมต่างๆ ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมยังจะร่วมหารือกับไมโครซอฟท์เกี่ยวกับการกำหนดทิศทางนโยบายและกรอบการกำกับดูแล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถนำ AI มาใช้งานได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และมีประสิทธิภาพ
เสริมทักษะคนไทยเพื่อชีวิตในยุคหน้า
ไมโครซอฟท์จะสานต่อพันธกิจในการยกระดับทักษะแห่งอนาคตสำหรับคนไทยกว่า 10 ล้านคน ผ่านทางความร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและหน่วยงานอื่นๆ โดยครอบคลุมทักษะสำคัญในหลากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นภาษาที่สองเพื่อการสื่อสารหรือความรู้ความเข้าใจในเทคโนโลยีขั้นพื้นฐาน ไปจนถึงการฝึกฝนนักพัฒนานวัตกรรมรุ่นใหม่ในทุกสายอาชีพ (Citizen Developers) ในรูปแบบที่เปิดให้ประชาชนสามารถเข้าถึงโอกาสในการเรียนรู้ได้อย่างทั่วถึงยิ่งขึ้น
ยกระดับประเทศไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
หน่วยงานภาครัฐของไทยจะทำงานร่วมกับไมโครซอฟท์เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 ผ่านทางการสร้างพื้นที่ทดสอบสำหรับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (Sustainability Sandbox) เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน นับตั้งแต่ภาครัฐ องค์กรเอกชนขนาดใหญ่ ไปจนถึงผู้ประกอบการรายย่อย นอกจากนี้ ไมโครซอฟท์ยังมีแผนที่จะนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้งานเต็ม 100% ในโครงการและแผนการลงทุนในอนาคตอีกด้วย
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “พันธกิจของประเทศไทย นับตั้งแต่ด้านการสร้างสรรค์อนาคตที่ยั่งยืนไปจนถึงการใช้พลังงานหมุนเวียน นับว่ามีทิศทางที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของไมโครซอฟท์ โดยความร่วมมือในครั้งนี้จะช่วยเสริมสร้างทั้งความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจและศักยภาพเชิงดิจิทัลของประเทศไทยไปพร้อมกัน”
นายอาเหม็ด มาซารี ประธาน ไมโครซอฟท์ เอเชีย กล่าวเสริมอีกว่า “เทคโนโลยี AI มีบทบาทที่สำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางและวิธีการทำงานของทั้งผู้คนและองค์กรทั่วโลก สำหรับประเทศไทยนั้น แผนปฏิบัติการของรัฐบาลได้วางเป้าหมายในการนำ AI มาขับเคลื่อนให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วนเป็นมูลค่ากว่า 48,000 ล้านบาท ภายในปี พ.ศ. 2570 และเราก็มีความยินดีอย่างยิ่งที่จะได้ทำงานอย่างใกล้ชิดยิ่งขึ้นกับรัฐบาลไทยเพื่อมุ่งสู่อนาคตที่มี AI เป็นนวัตกรรมคู่คิดของประเทศไทย”
สำหรับภารกิจของนายกรัฐมนตรีเศรษฐา ยังได้พบปะกับ CEO ของ TikTok โชว ซื่อ ชิว แพลตฟอร์มโซเชี่ยล มีเดียระดับโลก รวมไปถึงผู้บริหารบริษัท Citi สถาบันการเงินยักษ์ใหญ่อีกด้วย ขณะเดียวกันภารกิจของนายกฯเศรษฐา ยังได้ไปเยี่ยมชม บริษัท Tesla ณ Tesla Fremont Factory และได้แสดงความพร้อมของไทยในการต้อนรับการลงทุนยายนต์ไฟฟ้าอีกด้วย
นายกรัฐมนตรีเศรษฐา พบปะกับ โชว ซื่อ ชิว CEO ของ TikTok โดยได้ขอให้ทาง TikTok มาสร้างศูนย์ฝึกอบรมในไทย เพื่อให้คำแนะนำในการเล่นโซเชียลมีเดียที่มีประสิทธิภาพสูง ขณะที่คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ได้เสนอสิทธิประโยชน์ด้านภาษีเพื่อจูงใจ ซึ่งทาง TikTok ให้ความสนใจ