ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดข้อมูลสภาพัฒน์ฯ ทำไมเศรษฐกิจไทยแย่ลง ? กสิกรหั่นเป้า GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.6%

19 ก.พ. 67
เปิดข้อมูลสภาพัฒน์ฯ ทำไมเศรษฐกิจไทยแย่ลง ? กสิกรหั่นเป้า GDP ปีนี้ลงเหลือ 2.6%

“สภาพัฒน์ฯ” แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัว 1.9% ต่ำกว่าเป้าหมายเดิมที่ 2.5% ไตรมาส 4 ปี 66 ขยายตัวได้ 1.7% จากการใช้จ่ายภาครัฐหดตัว 3% ภาคการลงทุนรวมยังติดลบ 0.4% แต่การส่งออกขยายตัวได้ 3.4% ภาคการท่องเที่ยวฟื้นตัว นายกชี้ถึงเวลาแบงก์ชาติควรลดดอกเบี้ย?

img_0200

แนวโน้มปี 2567 สภาพัฒน์ฯ คาดการณ์ขยายตัวที่ 2.7% หรือช่วง 2.2 - 3.2% จากเดิมที่คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวได้ประมาณ 3.2% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา

img_0199

โดยคาดว่าการอุปโภคบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.0% และ 3.5% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ขยายตัว 2.9% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.9 - 1.9% และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.4% ของ GDP การฟื้นตัวของภาคการท่องเทื่ยว โดยคาดการณ์รายได้นทท.ต่างชาติปี 2567 ที่ 1.22 ล้านล้านบาท จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 35 ล้านคน

โดยนายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ 1.7% เป็นการขยายตัวต่อเนื่องจาก 1.4% ในไตรมาส 3/66 โดยมีปัจจัยหลักมาจากการส่งออกสินค้าและบริการเร่งขึ้น การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนยังขยายตัว

img_0202

ขณะที่การใช้จ่ายรัฐบาลลดลง เป็นผลจากรายจ่ายค่าซื้อสินค้าและบริการในระบบตลาด และการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ประกอบกับการลงทุนรวมลดลง ทำให้ภาพรวมเศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวได้เพียง 1.9% ซึ่งต่ำกว่าที่สภาพัฒน์เคยประมาณการไว้ก่อนหน้านี้ (เดือนพ.ย.66) ว่าจะขยายตัวได้ 2.5% 

แต่ภาคการผลิตในไตรมาส 4/66 ขยายตัวได้ 1.7% ต่อเนื่องจาก 1.4% ในไตรมาส 3/66 เป็นผลจากการผลิตภาคนอกเกษตร ขยายตัวได้ 2.0% การผลิตภาคบริการ ขยายตัว 3.9% ขณะที่การผลิตภาคอุตสาหกรรม ลดลง 1.5% ตามการลดลงของการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง 

สำหรับการลงทุนภาครัฐในไตรมาส 4/66 ลดลงถึง 20.1% โดยลดลงมากเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/66 ที่ลดลง 3.4% ปัจจัยหลักมาจากความล่าช้าในการประกาศใช้ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 

ขณะที่การลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ขยายตัว 7% เร่งขึ้นจากในไตรมาส 3/66 ที่ลดลง 3.3% ขณะที่การลงทุนภาคเอกชน ขยายตัวได้ 5% ซึ่งเป็นการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้าง และด้านเครื่องมือเครื่องจักร

สำหรับการใช้จ่ายภาครัฐ ในไตรมาส 4/66 มีการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่าย ประจำปี 2566 ไปพลางก่อน จำนวน 910,163 ล้านบาท ลดลง 7.3% เบิกจ่ายงบเหลื่อมปี 53,621 ล้านบาท ลดลง 9% และการเบิกจ่ายจากเงินกู้ ตาม พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากสถานการณ์โควิด-19 จำนวน 188 ล้านบาท รวมยอดเบิกจ่ายในไตรมาส 4/66 ทั้งสิ้น 9.63 แสนล้านบาท 

ขณะที่การบริโภคภาคเอกชน ขยายตัว 7.4% ชะลอลงจาก 7.9% ในไตรมาส 3/66 ปัจจัยสำคัญมาจากกิจกรรมที่มีความเกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวชะลอตัวตามจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ชะลอลง 

img_0203

สำหรับไตรมาสนี้ มีปัจจัยสนับสนุนกำลังซื้อของครัวเรือน คือ อัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 3/66 ส่วนหนึ่งเป็นผลจากมาตรการภาครัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพให้ภาคครัวเรือน

ส่วนการส่งออกสินค้า ขยายตัวได้ 3.4% ในไตรมาส 4/66 ปัจจัยสำคัญ มาจากการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม ที่ขยายตัวตามการส่งออกสินค้ากลุ่มอุปกรณ์สื่อสารโทรคมนาคม ชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์โลหะ ชิ้นส่วนยานยนต์ และผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม 

ขณะที่การส่งออกสินค้าเกษตร ขยายตัวได้จากการส่งออกข้าวที่ขยายตัวต่อเนื่อง โดยในปี 2566 สามารถส่งออกข้าวได้รวมทั้งสิ้น 8.8 ล้านตัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้นำเข้าต้องการสร้างความมั่นคงทางด้านอาหาร และมีปัจจัยสนับสนุนจากการที่อินเดีย ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวรายใหญ่ ได้ใช้มาตรการควบคุมการส่งออกข้าว เพื่อบรรเทาภาวะเงินเฟ้อ และสร้างเสถียรภาพทางอาหารภายในประเทศ

ปัจจัยเสี่ยงเศรษฐกิจไทยในปี 2567

สำหรับปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทยในปี 2567 คือ

  1. เรื่องของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ
  2. หนี้สินครัวเรือนยังเป็นปัจจัยเสี่ยง
  3. ปัญหาผลกระทบจากภัยแล้งทึ่มาจากอุณหภูมิที่สูงขึ้นส่งผลต่อการผลิตภาคการเกษตร
  4. อีกส่วนที่ต้องจับตา เรื่องความผันผวนเศรษฐกิจโลก
  5. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ ความขัดแย้งระหว่างประเทศ ส่งผลต่อค่าระวางเรือ ค่าขนส่งมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มเติมขึ้น
  6. เศรษฐกิจจีนก็มีปัจจัยสำคัญส่งผลต่อเศรษฐกิจไทย

ศูนย์วิจัยกสิกรปรับ GDP ปี 2567 ลงเหลือ 2.6% จากเดิม 3.1%

เศรษฐกิจไทยปี 2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.9% ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับประมาณการปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.6% จากเดิม 3.1%

เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4/2566 ขยายตัวต่ำกว่าคาดที่ 1.7% YoY และหากเปรียบเทียบกับไตรมาสก่อนหน้าหดตัวที่ -0.6% QoQ สะท้อนโมเมนตัมเศรษฐกิจไทยที่อ่อนแรงลง

สำหรับปี 2567 ศูนย์วิจัยกสิกรไทยปรับการคาดการณ์เศรษฐกิจไทยลงมาอยู่ที่ 2.6% จาก 3.1% ตามโมเมนตัมเศรษฐกิจที่ชะลอลง

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรกของปี 2567 คาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้า ถึงแม้ว่ายังไม่มีการอนุมัติงบประมาณปี 2567 แต่มีความเป็นไปได้ที่ภาครัฐจะเร่งเบิกจ่าย ขณะที่การส่งออกไทยก็คาดว่าจะทรงตัวจากไตรมาสก่อนหน้าตามอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

“เศรษฐา” ชี้ GDP ปี 66 ต่ำกว่าเพื่อนบ้าน เหตุยังเบิกจ่ายงบประมาณไม่ได้

นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ได้เผยถึงกรณีที่เศรษฐกิจไทยไตรมาส 4 ปี 66 ขยายตัว 1.7% และทั้งปีขยายตัวได้เพียง 1.9% ซึ่งต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ว่า ว“ ยอมรับว่ารัฐบาลชุดนี้ไม่สามารถเบิกจ่ายงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจได้ จึงทำให้ไม่มีเม็ดเงินลงทุนใหม่เข้าสู่ในระบบ”

กดดันให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

แต่มาตรการที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนได้ โดยไม่ต้องใช้เงินงบประมาณเลย คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ย แต่ก็ยังไม่ได้มีการปรับลดลง "วันนี้ ต้องยอมรับว่าไม่มีเม็ดเงินใหม่เข้าไปในระบบเลย

ขณะที่มีการปรับประมาณการณ์ GDP ลงอย่างต่อเนื่องในหลายสำนักฯ รัฐบาลได้พยายามดำเนินการทุกมาตรการที่มีอยู่

”โดยส่วนตัวขอฝากไว้ว่า นโยบายดอกเบี้ย ไม่ต้องใช้งบประมาณ ซึ่งขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายอยู่ที่ 2.5% หากลดลงเหลือ 2.25% เพียงสลึงเดียว ก็จะช่วยบรรเทาภาระของพี่น้องประชาชนทุกคนได้ แต่เขาไม่ลดกัน" นายเศรษฐา กล่าว 

สภาพัฒน์ฯ หนุนให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ย

นายกรัฐมนตรี กล่าวอีกว่า ได้มีการพูดคุยกับเลขาธิการสภาพัฒน์ และบอกว่ารัฐบาลได้ทำทุกวิถีทางแล้ว และได้สอบถามเลขาธิการสภาพัฒน์ว่ามีความเห็นอย่างไรเกี่ยวกับการลดอัตราดอกเบี้ย ซึ่งเลขาธิการสภาพัฒน์ระบุว่า ได้คุยกับผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ว่าถึงเวลาที่จะต้องลดดอกเบี้ยลง  

นายกรัฐมนตรี กล่าวกับเลขาสภาพัฒน์ฯ ว่า "ทำไมไม่พูดคุยต่อหน้าสาธารณะชนบ้าง และพูดคุยในภาษาที่ชัดเจน และไม่ว่าจะเป็นเลขาสภาพัฒน์ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติ ผมก็จบเศรษฐศาสตร์มา ตรงนี้เราไม่ได้มาเอาชนะกัน แต่ถึงเวลาแล้วหรือยัง ที่จะมีการลดดอกเบี้ยเกิดขึ้น เพื่อรองบประมาณที่จะคลอดออกมา...ผมได้สอบถามกับเลขาธิการสภาพัฒน์ว่าสามารถทำอะไรได้อีกหากมีอะไรที่ทำได้ ก็ขอให้เสนอมา ผมไม่ได้จมปรักอยู่กับการลดดอกเบี้ยอย่างเดียว“ 

นายกรัฐมนตรี ชี้ว่าการลดดอกเบี้ยเป็นการแบ่งเบาภาระของประชาชน คนไทยทุกคน ซึ่งเห็นอยู่แล้วสำหรับตัวเลขที่ออกมา อย่างเช่นนโยบายดิจิทัลวอลเล็ต ก็พยายามที่จะออกมาให้เร็วที่สุด

ส่วนข้อกังวลในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจถึง 500,000 ล้านบาทนั้น จะส่งผลให้เกิดเงินเฟ้อที่สูงขึ้นนั้น นายกรัฐมนตรี เผยว่า ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อติดลบอยู่แล้ว หากจะบอกว่าติดลบจากการที่รัฐบาลช่วยเหลือประชาชนผ่านมาตรการลดราคาน้ำมัน หรือพยุงค่าไฟฟ้า แต่หากถอดมาตรการช่วยเหลือนี้ออกไป เงินเฟ้อก็ยังขึ้นมาไม่ถึง 1% ยังไม่ถึงกรอบล่างด้วยซ้ำ จากกรอบเงินเฟ้อ 1-3%

advertisement

SPOTLIGHT