หากให้อธิบายว่าสภาพเศรษฐกิจของไทยโดยรวมเป็นอย่างไร คำจำกัดความหนึ่งที่ต้องออกมาน่าจะเป็นคำว่า ‘ประเทศกำลังพัฒนา’ หรือถ้าให้เป็นวิชาการและสุภาพหน่อยก็คง ‘ประเทศรายได้ปานกลาง’ ที่คุ้นหูหลายๆ คนมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ สะท้อนถึงสภาวะเศรษฐกิจไทยที่ยังย่ำอยู่กับที่ ไม่สามารถทะยานขึ้นมาเป็นประเทศรายได้สูงได้
ตามเกณฑ์ของธนาคารโลก ไทยหลุดจากสถานะประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำตั้งแต่ปี 1987 และ ขึ้นมาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงได้ในปี 2011 ทำให้จนถึงทุกวันนี้ ประเทศไทยก็เป็นประเทศรายได้ปานกลางมา 37 ปีแล้ว ขณะที่เพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกันอย่าง ‘สิงคโปร์’ กลายเป็นประเทศรายได้สูงและหนึ่งในประเทศที่ร่ำรวยที่สุดในโลกได้ในเวลาไม่ถึง 60 ปี
ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาดูกันว่า ปัจจัยอะไรบ้างที่ทำให้ประเทศไทยยังติดหล่ม ‘กับดักรายได้ปานกลาง’ (middle-income trap) อยู่เป็นเวลาหลายสิบปี และไทยอาจทำอย่างไรได้บ้างเพื่อปลดปล่อยตัวเองออกจากสถานะประเทศกำลังพัฒนานี้
หากไปศึกษาเส้นทางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศที่เคยเป็นประเทศรายได้ต่ำแล้วพัฒนามาเป็นประเทศรายได้สูงได้สำเร็จอย่างสิงคโปร์ หรือเกาหลีใต้ จะเห็นได้ว่าหลายๆ ประเทศมีแนวทางคล้ายกัน คือ การเร่งพัฒนาภาคการผลิตและส่งออกขึ้นมาก่อน โดยใช้ทั้ง ‘แรงงานรายได้ต่ำ’ และ ‘ทรัพยากร’ เพื่อดึงทั้งทุนและเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติเข้ามาสร้างงานสร้างรายได้ให้คนในประเทศ
ในระยะตั้งไข่ อุตสาหกรรมการผลิตสินค้าในประเทศเหล่านี้ก็เหมือนกับประเทศไทย คือ เป็นการผลิตสินค้าง่ายๆ ที่มีมูลค่าต่ำแต่ใช้แรงงานมาก (labor-intensive) เช่น เสื้อผ้า อาหาร สินค้าการเกษตร และสินค้าเพื่อการอุปโภคบริโภคอื่นๆ ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนมีรายได้ รัฐบาลสามารถเก็บภาษีมาแก้ไขปัญหาโครงสร้างและลงทุนในสวัสดิการสังคมเพื่อพัฒนาคุณภาพประชากรได้ เช่น การศึกษา ที่พักอาศัย และโครงสร้างพื้นฐานในการขนส่งต่างๆ
สำหรับในภูมิภาคเอเชีย การพัฒนาในช่วงนี้เริ่มต้นตั้งแต่ช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 มาถึงช่วงปี 1970s โดยเป็นช่วงการพัฒนาสำคัญที่ดึงให้หลายๆ ประเทศหลุดจากสถานะประเทศรายได้ต่ำมาเป็นประเทศรายได้ปานกลาง โดยประเทศไทยเองก็มีการเติบโตอย่างก้าวกระโดดในช่วงนี้ โดยในช่วงปี 1960-1996 ไทยมีการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยถึง 7.7% ต่อปี และพีคสุดในปี 1988 ที่เศรษฐกิจเติบโตถึง 13%
การพัฒนาในช่วงนี้ ถือเป็นการวางรากฐานให้ภาคการผลิตของประเทศก้าวสู่การพัฒนาขั้นต่อไป นั่นก็คือ การพัฒนาภาคการผลิตจากอุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้แรงงานมาก มาเป็นภาคการผลิตที่ใช้เงินทุน เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการขับเคลื่อน (labor-intensive)
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่หลายๆ ประเทศกำลังเร่งผลักดันให้ภาคการผลิตเปลี่ยนจากแบบ labor-intensive มาเป็น capital-intensive นี้เอง การพัฒนาของประเทศไทยก็เริ่มสะดุด ไม่ทันเพื่อนที่พัฒนามาด้วยกัน เพราะปัจจัยทางสังคมและการเมืองหลายประการไม่เอื้อให้ภาคการผลิตไทยเปลี่ยนไปเป็นภาคการผลิตระดับสูงที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมได้
ไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบทางการเมือง การทำรัฐประหารและการแทรกแซงการเมืองของทหารและกลุ่มชนชั้นนำเก่า การศึกษาที่ยังไม่มีคุณภาพมากพอ และการที่รัฐบาลไม่ลงทุนส่งเสริมให้มีการวิจัยและพัฒนา หรือมีการส่งต่อเทคโนโลยีจากบริษัทต่างชาติมาสู่พนักงานและบริษัทในไทย
ดังนั้น ขณะที่สิงคโปร์และเกาหลีใต้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการที่มีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น เพื่อเพิ่มมูลค่าและรายได้ให้กับคนในประเทศได้ เช่น การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อื่นๆ การผลิตไทยยังติดอยู่กับสินค้ามูลค่าต่ำ เช่น อาหาร สิ่งทอ และ การเป็น 'ตัวกลางผลิต' หรือ 'ประกอบ’ สินค้าง่ายๆ ซึ่งก็ยังเป็นเช่นนั้นมาจนถึงปัจจุบัน
โดยจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (NESDC) ในปี 2023 ผลผลิตจากอุตสาหกรรมผลิตสินค้ามูลค่าต่ำเหล่านี้ก็ยังคิดเป็นมากกว่า 50% ของผลผลิตของไทยต่อปีอยู่ แม้แต่ในอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ที่ไทยขึ้นชื่อ ก็ยังเน้นเป็นการประกอบตัวรถ ซึ่งมีมูลค่าในการส่งออกต่ำ ไม่ใช่การผลิตชิ้นส่วน หรือเครื่องยนต์ที่มีความซับซ้อน และมีมูลค่าในการส่งออกสูงกว่า
ขณะที่การจัดอันดับ Global Innovation Index ปี 2023 ระบุว่า ในปี 2016 การผลิตที่ใช้เทคโนโลยีระดับสูง (high-tech manufacturing) ในไทยคิดเป็นเพียง 44.01% ของผลผลิตทั้งหมด ซึ่งถือว่าน้อยเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และเกาหลีใต้ที่สัดส่วน high-tech manufacturing คิดเป็นถึง 78.53% และ 56.16% ของผลผลิตทั้งหมด
นอกจากนี้ ไทยยังมีมูลค่าการส่งออกสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงที่ค่อนข้างต่ำเมื่อเทียบกับประเทศอย่างสิงคโปร์และเกาหลีใต้ โดยในปี 2021 ไทยมีมูลค่าการส่งออกสินค้า High-Tech ทั้งหมด 49,287 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่สิงคโปร์อยู่ที่ 192,197 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเกาหลีใต้อยู่ที่ 204,992 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
ในหมู่อุปสรรคที่ขัดขวางความเจริญของไทย การขาดเสถียรภาพทางการเมืองเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้ไทยไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปเป็นประเทศรายได้สูงได้ เพราะการพัฒนาทางเศรษฐกิจต้องอาศัยการวางแผนและดำเนินงานระยะยาว ทำให้หากเกิดการเปลี่ยนรัฐบาล เปลี่ยนขั้วการเมือง นโยบายหลายๆ อย่างจะไม่ได้รับการสานต่อ ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร แม้จะถูกออกแบบมาดีขนาดไหนก็ตาม
ตั้งแต่ประเทศไทยเปลี่ยนระบอบการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นประชาธิปไตย ประเทศไทยมีการรัฐประหารมาแล้ว 13 ครั้ง มากที่สุดในโลกในประวัติศาสตร์ร่วมสมัย และมีทหารหรืออดีตทหารเป็นนายกรัฐมนตรีมาแล้วเป็นจำนวน 11 ราย รวมเวลาดำรงตำแหน่งกว่า 60 ปี จากช่วงเวลา 90 ปีหลังไทยได้ประชาธิปไตย
สถิตินี้สะท้อนว่า ทหารซึ่งมีความเกี่ยวโยงกับชนชั้นนำของไทยมีอิทธิพลและอำนาจสูงมากในแวดวงการเมืองไทย ทั้งที่ไม่ควรเป็นเช่นนั้นในระบอบประชาธิปไตย เพราะการรัฐประหารคือการยึดอำนาจโดยพลการโดยอ้างเหตุผลบางอย่างที่อาจไม่มีมูลเหตุสมควร โดยกลุ่มคนที่ไม่ได้รับเลือกตั้งมาจากประชาชน
อิทธิพลของชนชั้นนำ และการเมืองไทยที่ไม่มีเสถียรภาพ และแทบไม่มีการส่งต่ออำนาจอย่างสงบผ่านการเลือกตั้ง ส่งผลเสียทำให้รัฐบาลพลเรือนแทบไม่มีโอกาสดำเนินนโยบายเศรษฐกิจต่อเนื่องในระยะยาวเกินกว่า 10 ปี อีกทั้งยังต้องอิงความต้องการของคนบางกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นทหาร หรือกลุ่มนายทุน ทำให้เสี่ยงต่อการคอร์รัปชั่น ออกนโยบายเอื้อให้แก่พรรคพวกมากกว่าจะเป็นนโยบายที่ส่งผลดีต่อประชาชนอย่างแท้จริง
สถานการณ์ในไทย แตกต่างจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่แม้จะมีทหารเข้ามามีอำนาจในการเมืองบ้าง แต่ก็แทบไม่มีการรัฐประหาร มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจผ่านการเลือกตั้ง และมีการดำเนินนโยบายตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง จนสามารถปั้นอุตสาหกรรมการผลิตภายในประเทศจากการผลิตสินค้าง่ายๆ มาเป็นสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ รถยนต์ เรือขนส่ง รวมไปถึงบริการเทคโนโลยีการเงินได้ในปัจจุบัน
นอกจากนี้ ด้วยความที่การเมืองประเทศไทยมีความผันผวนมาก นักการเมืองในไทยยังนิยมใช้นโยบายประชานิยมมากกว่านโยบายปฏิรูปเศรษฐกิจในระยะยาวเพื่อรักษาฐานเสียงจากประชาชน เพราะไม่สามารถอยู่ในอำนาจได้นานพอจนสามารถพิสูจน์ประสิทธิภาพนโยบายเชิงโครงสร้างได้ ทำให้ปัจจุบันเศรษฐกิจไทยมีปัญหาเชิงโครงสร้าง ไม่มีอุตสาหกรรมการผลิตสินค้ามูลค่าสูง และการพัฒนานวัตกรรมได้เหมือนประเทศรายได้สูงอื่นๆ
การมีอยู่ของกลุ่มทุนผูกขาดในประเทศไทยเป็นผลโดยตรงมาจากการที่รัฐบาลไม่มีนโยบายสร้างสภาวะเศรษฐกิจที่บังคับให้กลุ่มทุนเอกชนมีการแข่งขัน หรือสนับสนุนให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางเติบโตขึ้นมาให้ตลาดมีผู้เล่น และแข่งกันสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมามากขึ้น
สภาวะการแข่งขันต่ำทำให้ประเทศไทยมีกลุ่มทุนใหญ่ที่ถึงแม้จะมีรายได้สูง และทำกำไรได้ดี ทำให้ภาคเอกชนของไทยเหมือนจะขยายตัวได้ดี แต่ก็เป็นกลุ่มทุนที่ไม่กระตือรือร้นในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพราะผูกขาดตลาด ไม่มีคู่แข่ง ทำให้มองว่าไม่มีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อดึงใจผู้บริโภค
นอกจากนี้ กลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้ยังทำธุรกิจในภาคส่วนที่ไม่เอื้อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่ส่งออกและสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ ไม่ว่าจะเป็น อาหาร สินค้าอุปโภคบริโภค บริการสาธารณูปโภคต่างๆ เช่น การโทรคมนาคม ไม่เหมือนกับกลุ่มทุนในประเทศอย่างเกาหลีใต้ที่ทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับการพัฒนาเทคโนโลยี สร้างสินค้ามูลค่าสูงที่ส่งออกและทำรายได้ได้ทั่วโลก
นอกจากนี้ รัฐบาลประเทศไทยยังไม่ให้ความสำคัญกับการลงทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในประเทศ เพราะจากข้อมูลของธนาคารโลก ประเทศไทยไม่เคยลงทุนกับ R&D ถึง 2% ของ GDP เลยตั้งแต่มีการเก็บข้อมูลมาในปี 1996
โดยในปี 2020 ไทยลงทุนกับ R&D เป็นมูลค่าเพียง 1.33% ของ GDP เท่านั้น ขณะที่สิงคโปร์ลงทุนกับ R&D ไปถึง 2.16% ของ GDP และ เกาหลีใต้ลงทุนถึง 4.8% ของ GDP ซึ่งแน่นอนว่าด้วยความที่ GDP ของประเทศเหล่านี้สูงกว่าไทย ในความเป็นจริงเม็ดเงินที่ประเทศเหล่านี้ลงทุนกับ R&D จะสูงกว่าไทยมาก แม้สัดส่วนจะอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
อัตราการลงทุนใน R&D ที่ต่ำ สะท้อนออกมาในตัวเลขการจ้างงานของแรงงานทักษะสูงที่ค่อนข้างต่ำในประเทศ โดยในปี 2021 อัตราการจ้างงานในตำแหน่งงานทักษะและความรู้สูง (knowledge-intensive employment) ในไทยคิดเป็นเพียง 13.66% ของการจ้างงานในประเทศ ขณะที่ในเกาหลีใต้สูงถึง 39.59% และสิงคโปร์สูงถึง 59.87%
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้กล่าวมา จะเห็นได้ว่า สิ่งที่ทำให้ไทยยังติดกับดักรายได้ปานกลางเป็นการผสมผสานของปัญหาในหลายด้านด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาทางการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ โดยเฉพาะปัญหาการเมือง เพราะหากการเมืองไทยยังไม่มีเสถียรภาพ การดำเนินนโยบายระยะยาวเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจในระดับโครงสร้างก็แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาเหล่านี้ ประเทศไทยจะต้องปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมการเมือง สนับสนุนให้มีการเปลี่ยนผ่านอำนาจอย่างโปร่งใสและสงบผ่านการเลือกตั้งตามแนวทางประชาธิปไตย ไม่มองว่าการยึดอำนาจจากองค์กรหรือหน่วยงานที่ไม่ควรเข้ามาเกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการประเทศอย่างทหารเป็นเรื่องปกติ เพราะการพัฒนาเศรษฐกิจในเชิงโครงสร้างต้องใช้ระยะเวลา และการส่งต่อดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ไม่ถูกรบกวนโดยการแย่งอำนาจของกลุ่มชนชั้นนำ
และเมื่อการเมืองมีเสถียรภาพแล้ว รัฐบาลควรเร่งพัฒนาคุณภาพทรัพยากรมนุษย์ สร้างแรงงานที่มีความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยี รวมไปถึงออกมาตรการด้านภาษี หรืออื่นๆ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะสร้างสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีที่มีศักยภาพในการขับเคลื่อนประเทศด้วยการสร้างสรรค์สินค้าและบริการมูลค่าสูงที่สามารถส่งออกได้ เหมือนประเทศรายได้สูงอื่นๆ
อ้างอิง: PIER, Our World in Data, WIPO, World Bank