ข่าวเศรษฐกิจ

ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชี้รัฐฯ ปรับเป้าเงินเฟ้อเสี่ยงทำต้นทุนกู้ยืมสูง การลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

19 มิ.ย. 67
 ผู้ว่าแบงก์ชาติ ชี้รัฐฯ ปรับเป้าเงินเฟ้อเสี่ยงทำต้นทุนกู้ยืมสูง การลดดอกเบี้ยแก้ปัญหาไม่ตรงจุด

‘เศรษฐพุฒิ’ ผู้ว่าฯ แบงก์ชาติให้สัมภาษณ์กับ ‘บลูมเบิร์ก’ ชี้การปรับเป้าเงินเฟ้อให้สูงขึ้นจาก 1-3% เสี่ยงทำต้นทุนกู้ยืมสูง การลดดอกเบี้ยไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด และการแจกเงินดิจิทัล 10,000 บาท ควรมุ่งเจาะเป้าเฉพาะผู้ที่มีความเดือดร้อนทางการเงินจริงเท่านั้น 

ปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นประเด็นยาวนานตั้งแต่รัฐบาลชุดใหม่ นำโดยนาย เศรษฐา ทวีสิน เข้ารับตำแหน่งในเดือนสิงหาคมปี 2023 ที่ผ่านมา เหตุมีความคิดเห็นในการดำเนินนโยบายการเงินและการคลังที่แตกต่างกัน ทั้งในกรณีการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย และการใช้มาตรการเงินดิจิทัล 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

ในประเด็นทั้ง 2 ประเด็นนี้ธปท. มีจุดยืนชัดเจนมาตลอดว่า ไม่เห็นด้วยกับการลดดอกเบี้ยนโยบาย หรือแจกเงินดิจิทัลเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะมองว่าเป็นการแก้ปัญหาปลายเหตุที่จะได้ไม่คุ้มเสีย เพราะการลดดอกเบี้ยอาจทำให้เสถียรภาพการเงินของประเทศสั่นคลอน ขณะที่การแจกเงินใช้งบประมาณมากเกินไปจนเสี่ยงทำให้ปัญหาหนี้สาธารณะรุนแรงกว่าเดิม ขณะที่ไม่ได้สร้างแรงกระเพื่อมทางเศรษฐกิจอะไรมากนัก

ในการให้สัมภาษณ์กับ ‘บลูมเบิร์ก’ นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน ที่กำลังพ้นวาระในเดือนกันยายนปี 2025 ตอกย้ำจุดยืนนี้อีกครั้งว่า การที่รัฐบาลมีความคิดที่จะปรับเป้าเงินเฟ้อจากปัจจุบันที่อยู่ในช่วง 1-3% ไปเป็นสูงกว่า เพื่อทำให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยนโยบายนั้น เป็นมาตรการที่เสี่ยงทำให้เงินเฟ้อ และต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น

นายเศรษฐพุฒิ กล่าวว่า เป้าเงินเฟ้อปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 1-3% นั้นเป็นระดับที่เหมาะสมกับสภาพเศรษฐกิจของไทยแล้ว และการปรับเป้านี้ขึ้นจะเสี่ยงทำให้ภาวะเงินเฟ้อของไทยรุนแรงขึ้นจนส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจ และทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าในระยะยาวจะทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนแย่ลง โดยเฉพาะเมื่อปัจจุบันไทยต้องเผชิญกับปัญหาหนี้ครัวเรือนอยู่แล้ว

อัตราเงินเฟ้อของไทยกลับมาเป็นบวกในเดือนเมษายนและเข้าสู่ช่วงที่ธปท. วางไว้ในช่วงพฤษภาคมที่ผ่านมาหลังจากติดลบมาเป็นเวลา 6 เดือนติดต่อกัน โดย นาย เศรษฐพุฒิ กล่าวว่า อัตราเงินเฟ้อของไทยน่าจะคงระดับเฉลี่ยอยู่ที่ 1.1% ในครึ่งปีหลังของปีนี้ 

การลดดอกเบี้ยไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ตรงจุด รัฐฯ ต้องแก้โครงสร้างเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา ธปท. ได้รับแรงกดดันจากรัฐบาลให้ลดดอกเบี้ยนโยบายเพราะมองว่า ดอกเบี้ยที่สูงทำให้ประชาชนที่มีปัญหาหนี้สินต้องรับภาระเพิ่ม และเงินเฟ้อก็ลดลงจนติดลบแล้ว แต่ธนาคารกลางให้เหตุผลว่าการที่เงินเฟ้อลดลงจนติดลบนั้นเป็นเพราะที่ผ่านมารัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือราคาพลังงาน และเมื่อมาตรการนี้หมดไป อัตราเงินเฟ้อก็จะขึ้นมาอยู่ตามเป้า อย่างที่เกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

ในขณะนี้ นายเศรษฐพุฒิ  ยังมองว่า ดอกเบี้ยระดับปัจจุบันซึ่งอยู่ที่ 2.5% เหมาะสมแล้วกับการดำเนินเศรษฐกิจต่อไปในระยะยาว ซึ่งถ้าสภาวการณ์เปลี่ยนไป ธปท. ก็พร้อมปรับดอกเบี้ยตามความเหมาะสม ไม่ได้ยึดติดว่าจะคงดอกเบี้ยไว้ในระดับนี้ตลอดไป

นอกจากนี้ นายเศรษฐพุฒิ ยังมองว่า การลดดอกเบี้ยนโยบายไม่ใช่การแก้ปัญหาเศรษฐกิจของไทยที่ตรงจุด เพราะไทยมีปัญหาโครงสร้างที่ต้องใช้นโยบายการคลัง และแผนปฏิรูปพัฒนาเศรษฐกิจระยะยาวในการพัฒนา ไม่ใช่เครื่องมืออย่างดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมทั้งย้ำว่า ความเป็นอิสระของธนาคารกลางในการดำเนินนโยบายการเงินนั้นมีความสำคัญมากต่อเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ

ย้ำเงินดิจิทัลควรเจาะเฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อน ไม่ควรหว่านแห

นอกจากประเด็นเรื่องดอกเบี้ยนโยบายแล้ว นายเศรษฐพุฒิ ยังได้แสดงความคิดเห็นถึงนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาท ของรัฐบาลด้วยว่าควรมุ่งให้ความช่วยเหลือแก่กลุ่มที่ต้องการความช่วยเหลือจริงๆ เท่านั้น เช่น ประชาชนกลุ่มที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพราะการช่วยเหลือประชาชนกลุ่มใหญ่ที่ไม่ได้เดือดร้อนทางการเงินจะเป็นการใช้งบประมาณมากเกินไป แต่ได้ผลลัพธ์กลับมาไม่คุ้มค่า

ปัจจุบัน เกณฑ์ของผู้ที่จะได้รับเงินดิจิทัลคือ ผู้ที่มีอายุ 16 ปีบริบูรณ์ ภายในวันที่ 30 ก.ย. 67 รายได้ไม่เกิน 70,000 บาทต่อเดือน และมีเกณฑ์เงินฝากกำหนดไม่เกิน 500,000 บาท นับเฉพาะเงินฝากสกุลบาทรวมกันทุกบัญชี ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์ และธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ ซึ่งเมื่อประเมินแล้วจะมีจำนวนหลายสิบล้านคน

ทั้งนี้ นายเศรษฐพุฒิ มองว่า รัฐบาลควรจะพุ่งเป้าให้เงินช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มที่ได้รับความเดือดร้อนและมีปัญหาทางการเงินจริงๆ เท่านั้น เช่น ผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่มีจำนวนเพียงประมาณ 15 ล้านคน ซึ่งทำให้รัฐบาลไม่ต้องใช้เงินงบประมาณมากถึง 5 แสนล้านบาทอย่างที่คาด

นอกจากนี้ ปัจจุบันอัตราการบริโภคในภาคเอกชนของไทยก็เริ่มฟื้นตัวแล้ว โดยเพิ่มขึ้นมากถึง 7% ในปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะเพิ่ม 4% ในปีนี้ ทำให้ไม่มีความจำเป็นที่รัฐบาลจะต้องออกมาตรการมากระตุ้นการใช้จ่าย โดยธปท. คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะโตประมาณ 2.6% ในปีนี้ และ 3% ในปี 2025 อยู่แล้ว โดยไม่มีมาตรการเงินดิจิทัลออกมาช่วย






ที่มา: Bloomberg (1), Bloomberg (2)

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT