ข่าวเศรษฐกิจ

#แบนเที่ยวเกาหลี เป็นเหตุ 4 เดือนแรก ยอดคนไทยไปเกาหลีใต้ดิ่ง 21.1% เหตุไม่พอใจตม. ชอบส่งกลับ

20 มิ.ย. 67
#แบนเที่ยวเกาหลี เป็นเหตุ 4 เดือนแรก ยอดคนไทยไปเกาหลีใต้ดิ่ง 21.1% เหตุไม่พอใจตม. ชอบส่งกลับ

องค์การส่งเสริมการท่องเที่ยวเกาหลี เผยข้อมูลนักท่องเที่ยว 4 เดือนแรกของปี 2024 พบ นักท่องเที่ยวจากไทยเดินทางเข้าเกาหลีใต้ลดลง 21.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า คาดเป็นเพราะนักท่องเที่ยวชาวไทยไม่พอใจที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองเกาหลีใต้กีดกันไม่ให้นักท่องเที่ยวเข้าประเทศ แม้มีตั๋วเครื่องบิน แผนการท่องเที่ยว รวมถึงใบอนุญาต K-ETA

ในช่วง 4 เดือนแรกของปี จำนวนนักท่องเที่ยวไทยในเกาหลีใต้ลดลงมา 21.1% เหลือเพียง 119,000 คน สวนทางกับนักท่องเที่ยวจากประเทศอื่นๆ ที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่มขึ้น 470% นักท่องเที่ยวญี่ปุ่นที่เพิ่มขึ้น 86% นักท่องเที่ยวฟิลิปปินส์ที่เพิ่มขึ้น 76% และ อินโดนีเซียที่เพิ่มขึ้น 51% 

แม้ทางการเกาหลีใต้จะไม่ได้ให้เหตุผลว่าชัดเจนว่า ทำไมนักท่องเที่ยวไทยจึงลดลง แนวโน้มการเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวของไทยที่สวนทางกับประเทศอื่นๆ สะท้อนว่า ปัจจัยที่ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงเป็นปัจจัยที่เกิดขึ้นเพียงระหว่าง 2 ประเทศ และทำให้นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นเพราะนักท่องเที่ยวไทยไม่พอใจที่ตม. เกาหลีใต้มักกีดกันไม่ให้คนไทยเข้าประเทศโดยไม่มีหลักเกณฑ์ที่แน่นอนเชื่อถือได้

ตม. เกาหลีส่งคนกลับไม่มีเหตุผล คนไทยกลัวมีประวัติติดพาสปอร์ต

กระแส #แบนเกาหลี และ #แบนเที่ยวเกาหลี เริ่มรุนแรงขึ้นในโซเชียลมีเดียตั้งแต่ปี 2023 ที่ผ่านมา เพราะเกิดกรณีคนไทยถูกปฏิเสธไม่ให้เข้าประเทศเกาหลีใต้มากขึ้น แม้มีตั๋วเครื่องบิน แผนการท่องเที่ยว รวมไปถึงได้ขอใบ K-ETA หรือระบบคัดกรองคนเข้าประเทศเกาหลีใต้แบบออนไลน์ เรียบร้อยแล้ว

นอกจากนี้ เมื่อถูกปฏิเสธ ตม. เกาหลีใต้ก็ไม่สามารถให้เหตุผลได้ชัดเจน โดยจากการเล่าประสบการณ์ของผู้ใช้แอป X (Twitter) ที่ประเด็นนี้เป็นที่พูดถึงอย่างกว้างขวาง สาเหตุการปฏิเสธอาจมีได้ทั้งพูดภาษาเกาหลีไม่คล่อง พูดภาษาเกาหลีคล่องเกินไปจนน่าสงสัย ไม่สามารถแจกแจงได้ว่าแต่ละวันจะรับประทานอะไร หรือไม่รู้ค่ารถเข้าโรงแรม ซึ่งไม่คงที่หรือสมเหตุสมผล

การกระทำนี้ทำให้นักท่องเที่ยวไทย มองว่าตม. เกาหลีใต้ไม่มีมาตรฐานในการทำงาน ไม่มีหลักการในการตรวจสอบจริงๆ ว่าใครเป็นนักท่องเที่ยว และใครที่เป็นผู้ลักลอบเข้าไปทำงาน และการกีดกันไม่ให้นักท่องเที่ยวบางรายเข้าไปนั้นเกิดจากการสุ่มมากกว่าการตรวจเอกสาร

การพูดคุยแชร์ประสบการณ์กันในโลกออนไลน์ ทำให้คนเริ่มรณรงค์ไม่ให้คนเดินทางเข้าไปเที่ยวประเทศเกาหลีใต้เพื่อเป็นการประท้วง และเรียกร้องให้เกิดการเปลี่ยนแปลง พร้อมให้เหตุผลว่าการท่องเที่ยวเกาหลีไม่คุ้มกับการเอาประวัติเดินทางเข้าไปเสี่ยง เพราะถ้าหากมีประวัติเคยถูกปฏิเสธเข้าเมืองที่ใด การขอวีซ่าหรือเดินทางเข้าเมืองอื่นๆ ทั่วโลกจะยุ่งยากขึ้นตามไปด้วย

 

การท่องเที่ยวเกาหลีใต้เร่งแก้ปัญหา ตั้งเป้ารับนทท. 20 ล้านคนต่อปี

สำหรับประเทศเกาหลีใต้ที่ภาคการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหญ่ การลดลงของนักท่องเที่ยวไทยถือว่าสร้างผลกระทบ เพราะนักท่องเที่ยวไทยเคยเป็นนักท่องเที่ยวอันดับหนึ่งจากอาเซียน แต่ในปัจจุบันตกลงไปอยู่อันดับที่สาม 

นอกจากนี้ ในปี 2023-2024 รัฐบาลไทยและรัฐบาลเกาหลีใต้ยังได้สร้างความร่วมมือเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ โดยตั้งให้ปี 2023-2024 เป็น “Korea-Thailand Mutual Visit Year” หรือปีแห่งการท่องเที่ยวไทย-เกาหลีใต้ ทำให้รัฐบาลเกาหลีใต้ต้องรีบแก้ไขปัญหาและสร้างมาตรฐานใหม่ในการตรวจคนเข้าเมืองโดยด่วน เพื่อเรียกความมั่นใจของนักท่องเที่ยวไทยกลับมา 

โดยในกรณีนี้ กระทรวงกีฬาและการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ได้ออกมาเผยว่า ได้มีการขอความร่วมมือไปทางกระทรวงยุติธรรมให้ยกเว้นการขอ K-ETA ในปีนี้แล้วเพื่อกระตุ้นการท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวให้ขึ้นไปถึง 20 ล้านคนต่อปีอย่างที่ตั้งเป้า แต่กระทรวงยุติธรรมไม่เห็นด้วย และยังยืนยันว่ามาตรการนี้ยังจำเป็นเพื่อป้องกันไม่ให้มีแรงงานต่างชาติเข้ามาลักลอบทำงานในประเทศ



advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT