ไทยเร่งเครื่องดึงบริษัทต่างชาติมาตั้งศูนย์ข้อมูลภายในประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพด้านดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ ล่าสุด จ่อผุดอีก 2 โครงการ มูลค่ารวมกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ปัจจุบัน อุตสาหกรรมที่กำลังมีมูลค่าสูงขึ้นเรื่อยๆ คงหนีไม่พ้นอุตสาหกรรมเทคโนโลยี โดยเฉพาะในด้านการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ และ cloud computing และหนึ่งในธุรกิจสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ก็คือ ‘ธุรกิจศูนย์ข้อมูล’ เพราะการพัฒนาเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนต้องการข้อมูล และอุปกรณ์เก็บและประมวลผลข้อมูลระดับสูง ทำให้ธุรกิจนี้ ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมเทคโนโลยี พอๆ กับที่ถนนหนทางหรือท่าเรือเป็นโครงสร้างสำคัญของเศรษฐกิจ
ในด้านของประเทศไทยเองก็ได้มีการดึงดูดให้บริษัทต่างชาติมาลงทุนสร้างศูนย์ข้อมูลภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง จนในปัจจุบันมีศูนย์ข้อมูลอยู่ทั้งหมด 41 ทั่วประเทศ มากที่สุดเป็นอันดับที่ 11 ของเอเชีย ซึ่งมีทั้งศูนย์ข้อมูลที่สร้างโดยองค์กรภายในประเทศ และบริษัทต่างประเทศ
ล่าสุดในเดือนมิถุนายน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สอท.) เพิ่งอนุมัติการลงทุนให้แก่ศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่อีก 2 แห่ง มูลค่ารวมถึง 1.04 หมื่นล้านบาท
โดยแห่งแรกเป็นของบริษัทจากสหรัฐฯ ซึ่งกำลังจะลงทุนเงินจำนวนถึง 7.19 พันล้านบาทเพื่อสร้างศูนย์ข้อมูลในสมุทรปราการ ส่วนแห่งที่สองเป็นของบริษัท True Internet Data Center ซึ่งกำลังจะลงทุนเงินถึง 3.35 พันล้านบาทเพื่อขยายศูนย์ข้อมูล 4 แห่ง ในจังหวัดสมุทรปราการเช่นเดียวกัน
ไทยเร่งดึงต่างชาติลงทุนเทคโนโลยี พัฒนาภาคการผลิต
ปัจจุบัน ปัญหาสำคัญของเศรษฐกิจไทยที่ทุกหน่วยงานพูดถึง คือ ปัญหาโครงสร้างที่ทำให้ศักยภาพในการแข่งขันของเศรษฐกิจไทยลดลง จากการขาดธุรกิจในอุตสาหกรรมใหม่ เช่น เทคโนโลยี ที่สามารถสร้างมูลค่าให้กับเศรษฐกิต และเทคโนโลยีในการผลิตสินค้าเทคโนโลยีระดับสูงที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดโลก
ดังนั้น ไทยจึงเร่งดึงการลงทุนในหลายอุตสาหกรรมใหม่ ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้า โรโบติกส์ โลจิสติกส์ การแพทย์ ผลิตภัณฑ์ชีวเคมีและปิโตรเคมี รวมถึง การสร้างศูนย์ข้อมูลที่สำคัญกับธุรกิจเอไอ คลาวด์ และการผลิตโดยรวม เพราะ AI และเทคโนโลยีระดับสูงอื่นๆ กำลังจะก้าวขึ้นมามีบทบาทสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพของการผลิต ทั้งในการผลิตสินค้าพื้นฐาน และสินค้าเทคโนโลยีระดับสูง
โดยในไตรมาสแรกของปี 2024 ข้อมูลของสอท. ระบุว่า การลงทุนจากต่างประเทศในการสร้างศูนย์ข้อมูลและฐานการผลิตในอุตสาหกรรมอื่นๆ ทำให้มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศในไทยเพิ่มขึ้นเป็นถึง 2.28 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันในปีก่อนหน้า
ขณะที่ในปี 2023 มูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศของไทยเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดใน 5 ปี ที่ 8.48 แสนล้านบาท จากการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมอีวีของบริษัทจีน และการเข้ามาลงทุนในอุตสาหกรรมชีวเคมีและไฟฟ้าจากไต้หวัน สิงคโปร์ และญี่ปุ่น
นอกจากนี้ ในเดือนพฤษภาคม บริษัทระดับโลกอย่าง ‘ไมโครซอฟต์’ (Microsoft) ก็เพิ่งประกาศลงทุน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 3.6 หมื่นล้านบาท เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานธุรกิจคลาวด์และเอไอในประเทศไทย รวมถึง การส่งต่อทักษะและความรู้ด้านเอไอให้กับบุคลากรกว่า 100,000 คน โดยศูนย์ข้อมูลแห่งแรกจะอยู่ในเขตเศรษฐกิจพิเศษตะวันออก (EEC) ในจังหวัดระยอง
แนวโน้มการเติบโตของมูลค่าการลงทุนจากต่างประเทศเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นว่า บริษัทต่างประเทศมองว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการรองรับการผลิตสินค้า และมีทั้งโครงสร้างพื้นฐานและกำลังแรงงานที่เหมาะสมกับการตั้งการผลิตของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานให้ไทยสามารถพัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจ และสร้าง growth engine ใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจได้ต่อไป
ที่มา: Nikkei Asia, CNBC