ข่าวเศรษฐกิจ

‘เฟด’ ชี้คงดอกเบี้ยสูงนานเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ ห่วงตัวเลขคนว่างงานสหรัฐฯ เพิ่ม

10 ก.ค. 67
‘เฟด’ ชี้คงดอกเบี้ยสูงนานเสี่ยงกระทบเศรษฐกิจ ห่วงตัวเลขคนว่างงานสหรัฐฯ เพิ่ม

‘เจอโรม พาวเวลล์’ (Jerome Powell) ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ชี้การตรึงดอกเบี้ยไว้ในระดับสูงมากเกินไป อาจเป็นการทำร้ายเศรษฐกิจและการจ้างงาน หลังตัวเลขคนว่างงานสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 3 เดือนติดต่อกัน ขอรอดูตัวเลขอัตราเงินเฟ้อ หากมีแนวโน้มลดลงถึงเป้าในระยะยาว ก็มีโอกาสพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย

อัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด เป็นที่จับตามองของนักลงทุนและนักวิเคราะห์ทั่วโลก เพราะจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ช่องว่างระหว่างอัตราดอกเบี้ยสหรัฐฯ และอัตราดอกเบี้ยของประเทศต่างๆ ลดลง ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินดอลลาร์อ่อนลง รวมถึง ทำให้ธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ ปรับลดดอกเบี้ยตามเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจทั่วโลก

ล่าสุด นาย เจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟด ได้แถลงต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ว่า เศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง และมีแนวโน้มเติบโตได้ดี แต่เฟดมีความกังวลในด้านการจ้างงาน เพราะในเดือนกรกฎาคม ตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติตต่อกัน จาก 3.8% ในเดือนเมษายน มาเป็น 4.1% ในเดือนกรกฎาคม

นาย พาวเวลล์ กล่าวว่า เงินเฟ้อไม่ใช่ความเสี่ยงเดียวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ แต่ยังเป็นสถานการณ์ในตลาดแรงงาน ที่มีแนวโน้มย่ำแย่ลง ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่เฟดคงดอกเบี้ยไว้ในระดับมายาวนาน ดังนั้น เฟดต้องชั่งน้ำหนักให้ดี เพราะการตรึงอัตราดอกเบี้ยไว้สูงยาวนาน แม้จะช่วยลดอัตราเงินเฟ้อได้ แต่ก็ทำให้ประชาชนและธุรกิจบางส่วนเดือดร้อน

เฟดชี้มีโอกาสลดดอกเบี้ย หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มลงถึง 2%

ปัจจุบัน เฟดกำลังพิจารณาข้อมูลและสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ เพื่อพิจารณานโยบายอัตราดอกเบี้ย ภายหลังจากที่ผ่านมาได้มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 11 ครั้งจาก 0.25% ในเดือนมกราคมปี 2022 มาเป็น 5.25%-5.50% ในเดือนกรกฎาคมปี 2023 ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดในรอบมากกว่า 20 ปี เพื่อควบคุมเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นในช่วงที่มีการระบาดของโควิด และรัฐบาลได้มีการอัดฉีดเงินช่วยเหลือประชาชน 

ดังนั้น เมื่ออัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงจากจุดสูงสุด และวิกฤตจากการระบาดของโควิด-19 ได้ผ่านไปแล้ว ในปี 2023 ที่ผ่านมา นักวิเคราะห์หลายคนมองว่า เฟดจะลดดอกเบี้ยประมาณ 3 ครั้งในปี 2024 เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ และลดภาระของประชาชนผู้กู้

อย่างไรก็ตาม เมื่อเข้าสู่ปี 2024 สถานการณ์เศรษฐกิจสหรัฐฯ กลับผิดคาด เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงมีความร้อนแรงอยู่ ทั้งในอุตสาหกรรมเทคโนโลยี มูลค่าการใช้จ่าย ตำแหน่งงานในระบบ และอัตราเงินเฟ้อที่ยังลงมาไม่ถึงกรอบ 2% ทำให้ตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน เฟดยังไม่ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยเลย และยังไม่ได้ให้สัญญาณที่ชัดเจนว่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงเมื่อไหร่

ทั้งนี้ เมื่อนาย พาวเวลล์ ออกกล่าวถึงภาวะการจ้างงานของสหรัฐฯ ที่เลวร้ายลง นักวิเคราะห์ จึงองว่า ปัจจุบัน เฟดเริ่มให้ความสำคัญกับสภาวะในตลาดแรงงานมากขึ้น จากที่เคยให้น้ำหนักกับเสถียรภาพของราคาสินค้าเป็นหลัก และถ้าหากตัวเลขการว่างงานของสหรัฐฯ เลวร้ายลงอีก ตามที่นักวิเคราะห์คาด โอกาสที่เฟดจะตัดสินใจปรับลดดอกเบี้ยในเดือนกันยายนก็ดูจะใกล้ความจริงมากยิ่งขึ้น

โดยในการแถลงต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา พาวเวลล์ก็ได้แสดงจุดยืนว่า ธนาคารกลางจะพิจารณาปรับลดอัตราดอกเบี้ย หากตัวเลขเศรษฐกิจต่างๆ รวมถึงอัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงมาถึงระดับเป้าหมายที่ 2% ซึ่งการลดดอกเบี้ยเร็วหรือมากเกินไปก็อาจส่งผลเสียต่อการดูแลอัตราเงินเฟ้อของเฟดได้

ในช่วงที่มีการระบาดของโควิด-19 อัตราเงินเฟ้อของสหรัฐฯ เคยพุ่งขึ้นไปสูงถึง 7.1% ในเดือนมิถุนายน ปี 2022 แต่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องหลังมีการเพิ่มดอกเบี้ย จนล่าสุดในเดือนพฤษภาคมลดลงมาอยู่ที่ 2.6% ซึ่งยังสูงกว่าเป้าเล็กน้อย

 

 

ที่มา: Bloomberg, CNBC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT