ข่าวเศรษฐกิจ

เปิดประวัติ 'คามาลา แฮร์ริส' กับเส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ

19 ส.ค. 67
เปิดประวัติ 'คามาลา แฮร์ริส' กับเส้นทางสู่การเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของสหรัฐฯ

ศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ หลังจากที่ ‘โจ ไบเดน’ (Joe Biden) ออกมาประกาศถอนตัวออกจากการเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งปธน. สหรัฐฯ ของพรรคเดโมแครต ในการเลือกตั้งปี 2024 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 21 ก.ค. 2024 ที่ผ่านมา พร้อมดัน ‘คามาลา แฮร์ริส’ (Kamala Harris) รองประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เป็นตัวแทนชิงชัยตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ให้กับพรรคแทน

ในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปี 2020 คามาลา แฮร์ริส เคยสร้างประวัติศาสตร์ในหน้าการเมืองสหรัฐฯ มาครั้งหนึ่งแล้วด้วยการเป็นผู้หญิง และผู้มีเชื้อสายแอฟริกันและเอเชียใต้ คนแรกที่ได้รับตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ 

ในตอนนี้ หลังได้รับเลือกเป็นตัวแทนชิงตำแหน่งปธน. จากพรรคเดโมแครตอย่างเป็นทางการในการประชุมใหญ่พรรคเดโมแครตที่เกิดขึ้นในวันที่ 19-22 สิงหาคมนี้ ที่เมืองชิคาโก หลายๆ คนจึงจับตามองต่อว่า แฮร์ริสจะสามารถสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้งด้วยการได้รับเลือกเป็นเป็นผู้หญิงคนแรก และคนเชื้อสายอินเดียน-แอฟริกันคนแรกที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ หรือไม่ 

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมารู้จัก ‘คามาลา แฮร์ริส’ ตัวแทนพรรคเคโมแครตในการเลือกตั้งสหรัฐฯ 2024 กันว่าเป็นใคร? มีผลงานทางการเมืองอะไร? และการเข้ามาของแฮร์ริสจะสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างต่อทั้งเดโมแครตและรีพับลิกันในศึกชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีครั้งนี้?

รู้จัก 'คามาลา แฮร์ริส' ตัวเต็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับเส้นทางสู่ประธานาธิบดีหญิงผิวดำคนแรก หลัง 'โจ ไบเดน' ถอนตัว

จากอัยการสู่รองปธน.: เส้นทางการเมืองของ ‘คามาลา แฮร์ริส’

‘คามาลา เดวี แฮร์ริส’ หรือที่บางสื่อเรียกแบบไทยว่า ‘กมลา แฮร์ริส’ เกิดวันที่ 20 ตุลาคม ปี 1964 ในเมืองโอ๊คแลนด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กับบิดาผู้อพยพเชื้อสายจาไมกา และมารดาผู้อพยพเชื้อสายอินเดีย ปัจจุบันบิดาทำงานเป็นอาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ส่วนมารดาเสียชีวิตแล้วจากโรคมะเร็ง แต่เคยทำงานเป็นนักวิจัยมาก่อน

ทั้งนี้ แม้บิดามารดาของแฮร์ริสจะไม่มีใครเคยทำงานการเมืองโดยตรง ทั้งคู่ก็เป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิพลเมืองและสิทธิมนุษยชน และมีการเคลื่อนไหวทางการเมืองอยู่บ่อยครั้ง ทำให้แฮร์ริสเติบโตใกล้ชิดกับการเรียกร้องสิทธิ และมีแนวคิดสนับสนุนสิทธิมนุษยชนมาตั้งแต่เด็กๆ 

หลังจบชั้นมัธยมปลาย แฮร์ริสเข้าเรียนระดับอุดมศึกษาในมหาวิทยาลัยโฮเวิร์ด (Howard University) สาขา รัฐศาสตร์ และเศรษฐศาสตร์ ก่อนที่จะเรียนต่อด้านกฎหมายจากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย (University of California) ในเมืองซานฟรานซิสโก และเลือกเข้าสู่เส้นทางอาชีพด้วยการเป็นอัยการ เพราะเชื่อว่าการเปลี่ยนแปลงสามารถทำได้เช่นกันด้วยการทำงานในระบบ ไม่เพียงแต่ด้วยการลงถนนขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงเหมือนพ่อและแม่เท่านั้น

ในปี 2003 แฮร์ริสเริ่มเข้าสู่วงการการเมืองครั้งแรกด้วยการดำรงตำแหน่งเป็นอัยการเขตของเมืองซานฟรานซิสโก ก่อนที่ในปี 2010 จะก้าวสู่วงการการเมืองระดับชาติ ด้วยการรับตำแหน่งเป็นอัยการสูงสุดของรัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งแฮร์ริสเป็นผู้หญิง และคนผิวดำคนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้ ก่อนที่ในปี 2016 แฮร์ริสจะสร้างประวัติศาสตร์อีกครั้ง ด้วยการรับตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภาของแคลิฟอร์เนีย กลายเป็นผู้หญิงผิวดำคนที่สองและผู้หญิงเอเชียใต้คนแรกที่ได้รับตำแหน่งนี้

คามาลา แฮร์ริส เข้ามามีบทบาทครั้งแรกในสนามเลือกตั้งปธน. ในการเลือกตั้งปธน.สหรัฐฯ ปี 2020 โดยก่อนหน้าที่จะกลายเป็นคู่หูชิงตำแหน่งรองปธน. กับโจ ไบเดน ในเดือนสิงหาคมปี 2020 แฮร์ริสเคยหาเสียงเพื่อเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการชิงตำแหน่งปธน. มาก่อน แต่ก็ได้รับเสียงสนับสนุนไม่เพียงพอจนต้องถอนตัวออกจากแข่งขันในเดือนธันวาคมปี 2019 

ปัจจุบัน แฮร์ริสดำรงตำแหน่งเป็นรองประธานาธิบดีของสหรัฐฯ โดยขึ้นรับตำแหน่งตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม ปี 2021 และกลายเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในการชิงเก้าอี้ประธานาธิบดีในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ปีนี้ หลังไบเดนออกแถลงการถอนตัวจากการเลือกตั้งในปีนี้อย่างเป็นทางการ

ด้านชีวิตส่วนตัว ปัจจุบัน แฮร์ริสแต่งงานกับ ดักลาส เอ็มฮอฟฟ์ (Doug Emhoff) ทนายความชาวสหรัฐฯ และมีลูกบุญธรรมสองคน ทำให้ คามาลา แฮร์ริส มีชื่อเล่นอีกชื่อว่า "Momala" ซึ่งมาจากคำว่า Mom ซึ่งแปลว่าแม่ ผสมกับชื่อ Kamala

แนวคิดและแนวทางนโยบายของ คามาลา แฮร์ริส

จากการทำงานและผลงานที่ผ่านมา คามาลา แฮร์ริส มีความโดดเด่นในด้านการเรียกร้องและปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิพลเมือง สิทธิสตรี และความเท่าเทียม โดยแนวคิดดังกล่าวของแฮร์ริสมีพื้นฐานมาจากการที่ทั้งพ่อและแม่ของเธอเป็นผู้อพยพ ทำให้แฮร์ริสเห็นความสำคัญของความเท่าเทียมในการเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน และโอกาสในการพัฒนาชีวิต โดยไม่จำกัดเชื้อชาติ หรือเพศ มาตั้งแต่เด็กๆ

ขณะทำงานเป็นอัยการและสมาชิกวุฒิสภา คามาลา แฮร์ริส มีชื่อเสียงในฐานะอัยการและ ส.ว. ที่มีสไตล์การไต่สวนและถามคำถามที่ดุดัน โดยเฉพาะในคดีที่เกี่ยวข้องกับการใช้ความรุนแรง การลักลอบค้าขายยาเสพติด และทารุณกรรมทางเพศ ซึ่งเธอมักจะผลักดันให้มีการลงโทษผู้กระทำผิดรุนแรงเด็ดขาดอยู่เสมอ

โดยหนึ่งในการไต่สวนที่เป็นภาพจำของคามาลา แฮร์ริส ขณะดำรงตำแหน่งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ประจำรัฐแคลิฟอร์เนีย คือ ในตอนที่เธอถาม เบรตต์ คาวานอห์ (Brett Kavanaugh) ตุลาการศาลสูงสุดของสหรัฐฯ ในประเด็นทำแท้งเสรีว่า "ในสหรัฐฯ มีกฎหมายข้อใดบ้างหรือไม่ที่จำกัดสิทธิเสรีภาพของผู้ชายในเนื้อตัวของตัวเอง" เพื่อชี้ให้เห็นถึงความสองมาตรฐานในการควบคุมสิทธิในร่างกายของประชาชนในสหรัฐฯ ซึ่งนาย คาวานอห์ ก็ยอมรับว่าในสหรัฐฯ ไม่มีกฎหมายข้อใดจำกัดสิทธิของผู้ชาย เหมือนกฎหมายจำกัดการทำแท้งที่ใช้กับผู้หญิง

ด้วยแนวคิดดังกล่าว แฮร์ริสจึงให้ความสำคัญกับนโยบายที่สนับสนุนความเท่าเทียมเป็นพิเศษ ทั้งสิทธิในการทำแท้ง ที่เธอคิดว่ารัฐควรจะมีสิทธิแทรกแซงน้อยที่สุด และสิทธิในการเข้าถึงบริการขั้นพื้นฐาน (Basic Services) เช่น โภชนาการ สุขภาพ น้ำ-สุขอนามัย-และสุขาภิบาล การศึกษา พลังงาน ที่อยู่อาศัย รวมไปถึงเรื่องของการจัดเก็บขยะ เทคโนโลยี-อินเตอร์เน็ต และการเคลื่อนที่โดยระบบคมนาคมและการขนส่ง

คามาลา แฮร์ริส มองว่า สิทธิในการเข้าถึงบริการพื้นฐานอย่างถ้วนหน้ามีความสำคัญมาก เพราะสิทธินี้จะเป็นพื้นฐานให้ประชาชนสามารถพัฒนาตัวเองได้อย่างเต็มความสามารถของตัวเองโดยไม่มีข้อจำกัด และการที่จะทำเช่นนั้นได้ รัฐต้องเน้นเก็บภาษีกับผู้มีรายได้สูง และให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ที่ยังมีรายได้ต่ำ

จากแนวคิดดังกล่าว ในการเลือกตั้งปี 2024 นี้เอง หนึ่งในนโยบายสำคัญของแฮร์ริส จึงเป็นการเพิ่มอัตราการเก็บภาษีเงินได้ของบุคคลรายได้สูงให้มากขึ้น ขณะที่ให้การยกเว้นภาษีหรือคืนภาษีแก่ครอบครัวอเมริกันที่มีรายได้ต่ำ

โดยในการหาเสียงวันที่ 16 สิงหาคมที่ผ่านมา คามาลา แฮร์ริส กล่าวว่า หากพรรคเดโมแครตได้เป็นรัฐบาล และเธอได้เป็นประธานาธิบดี เธอจะออกมาตรการยกเว้นหรือคืนภาษีให้ครอบครัวรายได้ต่ำ และรายได้ปานกลางกว่า 100 ล้านครัวเรือน รวมถึงควบคุมราคาอาหาร ข้าวของเครื่องใช้ และบริการด้านสุขภาพต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ และลดภาระในการใช้จ่ายของประชาชน

artboard1copy2_3

คามาลา แฮร์ริส มีสิทธิชนะทรัมป์หรือไม่? 

สำนักข่าว Reuters รายงานโดยอ้างแหล่งข่าวภายใน เผยว่า โจ ไบเดน ตัดสินใจถอนตัวจากการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพราะเห็นว่าผลโพลสำรวจเสียงของผู้มีสิทธิเลือกตั้งใน ‘Swing States’ ของตนนั้นแพ้ทรัมป์ทั้งหมด

คะแนนเสียงใน Swing States เช่น โคโลราโด, ฟลอริดา, ไอโอวา, มิชิแกน, นอร์ธแคโรไลนา, เพนซิลเวเนีย, เวอร์จิเนีย และ วิสคอนซิน มีความสำคัญมากในการเลือกตั้งสหรัฐฯ เพราะประชากรในรัฐเหล่านี้ค่อนข้างมีความเป็นกลางทางเมือง ทำให้ตัวแทนพรรคจากทั้ง 2 พรรค มีสิทธิชนะได้เท่าๆ กันหากสามารถเสนอนโยบาย และดำเนินการหาเสียงเพื่อเรียกความนิยมได้สำเร็จ จนรัฐเหล่านี้มีชื่อเรียกอีกอย่างว่า 'Battleground States' เลยทีเดียว 

จากการรายงานของ Al Jazeera โพลสำรวจความเห็นของผู้มีสิทธิเลือกตั้งในสหรัฐฯ ล่าสุด ชี้ว่า ปัจุบัน คามาลา แฮร์ริส มีความนิยมและได้รับคะแนนเสียงพอๆ กับ โดนัลด์ ทรัมป์ ในบาง Swing States เหล่านี้ ทำให้แฮร์ริสเป็นตัวแทนที่เหมาะกว่าไบเดนในการชิงตำแหน่งปธน. สหรัฐ

นอกจากนี้ คามาลา แฮร์ริสยังมีข้อได้เปรียบในฐานะผู้ที่มีเชื้อสายแอฟริกัน และอินเดียน ทำให้มีฐานเสียงชาวผิวดำ และชาวผิวสีในสหรัฐฯ ที่ค่อนข้างใหญ่ อีกทั้ง ยังเป็นผู้ออกตัวสนับสนุนสิทธิในการทำแท้งและสิทธิมนุษยชนอื่นๆ ชัดเจน ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่มีค่านิยมและความเห็นไปในทางเดียวกันอาจเลือกแฮร์ริสมากกว่าทรัมป์ที่มีประวัติไม่ดีนักเกี่ยวกับการเหยียดเชื้อชาติ เหยียดสีผิว และเหยียดเพศ

อดีตที่ปรึกษาของแฮร์ริส Jamal Simmon ให้สัมภาษณ์แก่ Reuters ว่า เขามองว่า คามาลา แฮร์ริส สามารถชนะได้ หากทีมแคมเปญชูประเด็นที่ คามาลา แฮร์ริส มีเชื้อสายแอฟริกันและเอเชียใต้ เพราะแฮร์ริสมีภาพลักษณ์ที่ดีในฐานะคนที่ต่อสู้กับอคติทางเชื้อชาติและทางเพศ เป็นสัญลักษณ์ของความหลากหลายและความก้าวหน้า และผู้เลือกตั้งที่มีแนวคิดก้าวหน้าอาจหันมาสนับสนุน คามาลา แฮร์ริส เพราะเห็นจุดดีในข้อนี้

ทั้งนี้ รีพับลิกันก็มีประเด็นมาโจมตี คามาลา แฮร์ริส ได้เช่นกัน โดยเฉพาะประเด็นการจัดการปัญหาวิกฤตการอพยพที่พรมแดนสหรัฐฯ-เม็กซิโกที่ล้มเหลว ที่ทำให้ประชาชนบางกลุ่มไม่พอใจ เพราะมองว่าผู้อพยพเข้ามาสร้างความไม่สงบ และแย่งงานคนในประเทศ โดยมาตรการกีดกันผู้อพยพเป็นนโยบายหนึ่งที่ทรัมป์ใช้หาเสียงเรียกคะแนนจากฝ่ายอนุรักษ์นิยม

นอกจากนี้ ในหมู่ผู้มีหัวก้าวหน้า และฝ่ายซ้ายบางกลุ่ม คามาลา แฮร์ริส ก็มีข้อวิจารณ์ที่อาจทำให้เสียฐานเสียงเช่นกัน เพราะแฮร์ริสออกตัวสนับสนุนอิสราเอลมาตลอด และทำงานให้กับไบเดนที่ให้การสนับสนุนอิสราเอลในการต่อสู้กับกลุ่มฮามาสและโจมตีกาซา ซึ่งผู้มีสิทธิเลือกตั้งบางกลุ่มไม่เห็นด้วยกับการกระทำนี้ เพราะมองว่าเป็นการสนับสนุนการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) 

ดังนั้น ภายในอีกไม่กี่เดือนก่อนถึงการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายนนี้ ก็ต้องมาติดตามดูกันต่อไปว่า คามาลา แฮร์ริส และทีม จะสามารถออกนโยบาย หรือแสดงวิสัยทัศน์อะไรออกมาจูงใจประชาชนได้บ้าง เพราะแม้จะเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตที่มีหวังชนะมากกว่าไบเดน ระยะเวลาสั้นๆ ที่แฮร์ริสมีในการหาเสียงก็อาจไม่เพียงพอต่อการในการชิงชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้

เปิดประวัติ 'คามาลา แฮร์ริส' ตัวเต็งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ กับเส้นทางสู่ประธานาธิบดีหญิงผิวดำคนแรก หลัง 'โจ ไบเดน' ถอนตัว 

ที่มา: Al Jazeera, Reuters, AP, CNBC

advertisement

Relate Post

SPOTLIGHT