เมื่อเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เปิดให้ประชาชนลงทะเบียนรับสิทธิ์วันแรก ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา แม้จะมีเสียงประชาชนทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยกับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตก็ตาม แต่ประชาชนจำนวนไม่น้อยก็ให้การตอบรับจนล่าสุด เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2567 เวลา 19.00 น. มีผู้ลงทะเบียนแล้ว 23.3 ล้านคนเลยทีเดียว
อะไรก็ตามที่เป็นที่สนใจ มิจฉาชีพจะปรับตัวและหาโอกาสจากสิ่งนั้นเช่นกัน ปลอมทุกอย่างทั้งแอปพลิเคชัน ทั้งหลอกลวงคนเฒ่าคนแก่ คนวัยเกษียณ และเล่นกับความต้องการเงินของประชาชน
ล่าสุด กระทรวงดีอีจัดตั้งคณะทำงานเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมออนไลน์ที่เกี่ยวข้องกับโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” พบข่าวปลอมระบาดหนัก โดยแอบอ้างชื่อหน่วยงานรัฐบิดเบือนข้อมูล ดังนั้นประชาชนควรตรวจสอบก่อนตกเป็นเหยื่อ
นับตั้งแต่โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ซึ่งได้มีการจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพิจารณาเนื้อหาข่าวสารและข้อมูลที่เข้าข่ายผิดกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ เพื่อเฝ้าระวังการก่ออาชญากรรมออนไลน์ และสร้างความเชื่อมั่นในการใช้งานดิจิทัลของประชาชนนั้น
ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมประเทศไทย (Anti Fake New Center หรือ AFNC) จึงได้ติดตาม ตรวจสอบ และประเมินสถานการณ์ พร้อมบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจากการสรุปผลการประเมินเมื่อวันที่ 2 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่ามีข่าวปลอมที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ จำนวนมาก โดยได้มีการตรวจสอบยืนยันโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และทำการชี้แจงให้ประชาชนทราบแล้วทั้งหมด 5 เรื่อง ดังนี้
- รัฐบาลเปิดเพจทางรัฐใหม่ ชื่อว่า “ทางรัฐ – เงินดิจิทัล”
- สามารถเปิดรับแลกเงินดิจิทัล 10,000 บาท และนำเงินสดไปใช้ได้
- ธปท. เตือน แอปฯ ทางรัฐ ไร้ความปลอดภัยในการเก็บข้อมูลส่วนบุคคล
- ผู้ตรวจการแผ่นดิน ตีตกเงินดิจิตอลวอลเล็ต
- แอปฯ ทางรัฐ แสดงข้อมูลเครดิตบูโร บัญชีติดหนี้ ใบสั่งจราจร ข้อมูลโดนฟ้องศาล หลังลงทะเบียน 10,000 บาท
นางสาววงศ์อะเคื้อ บุญศล โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ฝ่ายการเมือง ระบุว่า “ข่าวปลอมเหล่านี้ได้อ้างถึงหน่วยงานรัฐ เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือของข่าวปลอมและข้อมูลที่บิดเบือน แต่เมื่อมีการตรวจสอบกับหน่วยงานที่มีการกล่าวอ้างแล้วพบว่า “ไม่เป็นความจริง” โดยข่าวปลอมหรือข้อมูลบิดเบือนดังกล่าวถือเป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่ร้ายแรง สร้างความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน และความเสียหายต่อประชาชนในสังคมเป็นวงกว้าง เนื่องจากเป็นเรื่องที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจมากที่สุดอยู่ ณ ปัจจุบัน”
โฆษกกระทรวงดีอีย้ำว่า ขอให้ประชาชนอย่าเชื่อ อย่าแชร์ข่าวปลอมดังกล่าว เพื่อตัดวงจรการก่ออาชญากรรมออนไลน์ของมิจฉาชีพ โดยหากมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโครงการฯ สามารถโทรสายด่วน Digital Wallet 1111 ตลอด 24 ชั่วโมง
ทั้งนี้ โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet หรือ “ดิจิทัลวอลเล็ต” เปิดให้ลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ เมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2567 ที่ผ่านมา พบว่าประชาชนให้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ แล้ว กว่า 22.3 ล้านคน (ข้อมูล ณ เวลา 10.00 น. วันที่ 3 สิงหาคม 2567)
ผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ สามารถติดตามข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับการเตรียมการลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการฯ ซึ่งเป็นข้อมูลโดยตรงจากรัฐบาลที่เชื่อถือได้ผ่านเว็บไซต์ www.digitalwallet.go.th หรือ www.กระเป๋าเงินดิจิทัล.รัฐบาล.ไทย และสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมผ่านสายด่วน Digital Wallet 1111 ซึ่งพร้อมให้บริการและคำแนะนำปรึกษาแก่ประชาชนตลอด 24 ชั่วโมง
สุดท้ายมิจฉาชีพมาทุกรูปแบบ เราควรเอะใจทุกครั้งที่เอาเงินมาล่อ และอยากให้ช่วยกันระลึกไว้เสมอว่าของฟรีไม่มีในโลก!