เศรษฐกิจจีนเริ่มได้รับผลกระทบจากอัตราเกิดที่น้อยลง หลังกระทรวงศึกษาธิการจีนเผยข้อมูลชี้ว่าในปี 2564-2566 มีโรงเรียนอนุบาลในจีนปิดตัวลงถึง 20,000 แห่ง กระทบตำแหน่งผู้สอนกว่า 170,000 ตำแหน่ง เหตุไม่มีเด็กเข้าเรียน ประชาชนไม่ต้องการมีลูกจากค่าใช้จ่ายที่สูง และภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอน
จากข้อมูลจากกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างปี 2564-2566 จำนวนโรงเรียนอนุบาลในจีนลดลง 20,000 แห่งระหว่างปี 2021 ถึง 2023 จาก 294,832 แห่ง เหลือ 274,480 แห่ง ท่ามกลางอัตราการเกิดที่ลดลง โอกาสในการทำงานที่น้อยลงสำหรับคนรุ่นใหม่ และการปราบปรามการศึกษาที่มุ่งเน้นผลกำไร ทำให้โรงเรียนเอกชนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่ต้องปิดตัวลง
โดยในปี 2566 จำนวนเด็กที่เข้าเรียนในระดับเตรียมอนุบาลในจีนลดลงถึง 5 ล้านคน เหลือ 40.92 ล้านคน ซึ่งเป็นจำนวนที่ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2557 ขณะที่ในปี 2566 ตำแหน่งงานสอนระดับเตรียมอนุบาลแบบเต็มเวลาได้หายไปกว่า 170,000 ตำแหน่ง สะท้อนว่าจำนวนเด็กที่ลดลงส่งผลต่อความเป็นอยู่ของประชากรที่ประกอบอาชีพเกี่ยวข้องกับเด็ก
โดยนอกจากอาชีพด้านการศึกษาและการดูแลเด็กแล้ว งานและธุรกิจอื่นๆ ที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากอัตราเกิดที่ลดลงยังรวมถึง อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภคบริโภคสำหรับเด็ก เช่น ของเล่น เสื้อผ้าเด็ก และ นมผง, อสังหาริมทรัพย์ เพราะความต้องการที่อยู่อาศัยที่ใหญ่ขึ้นสำหรับครอบครัวอาจลดลง และ ธุรกิจการท่องเที่ยวและบันเทิงสำหรับครอบครัว ซึ่งอาจต้องปรับเปลี่ยนเพื่อดึงดูดกลุ่มผู้สูงอายุหรือกลุ่มที่ไม่มีบุตร
คนจีนเกิดต่ำ ไม่อยากมีลูกเพราะค่าใช้จ่าย
ปัจจุบัน จีนเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องประสบกับปัญหาประชากรลด และเสี่ยงเจอกับสังคมผู้สูงอายุ เพราะอัตราการเกิดของจีนลดลงต่อเนื่องจากประชากรวัยหนุ่มสาวไม่ต้องการแต่งงานหรือมีลูกเพราะกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โอกาสในการเจริญเติบโตด้านการงาน รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ยังคงซบเซา
โดยในปี 2566 อัตราการเกิดของจีนลดลงเหลือ 6.77 ต่อผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 1,000 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดเท่าที่เคยมีการบันทึกมา ขณะที่อัตราเจริญพันธุ์ อยู่ที่ 1.09 ต่อ ผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ 1 คน ซึ่งต่ำกว่าระดับ 2.1 ที่จำเป็นต่อการรักษาจำนวนประชากรไม่ให้ลดลง
อัตราการเจริญพันธุ์ที่ลดลงส่งผลให้ ในปี 2566 ประชากรจีนลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 60 ปี โดยลดลงประมาณ 850,000 คน มาอยู่ที่ 1.4118 พันล้านคน และในปี 2566 ลดลงอีก 2.08 ล้านคน ลงมาเหลือ 1.409 พันล้านคน โดยมีแนวโน้มจะลดลงเรื่อยๆ หากรัฐบาลจีนไม่สามารถกระตุ้นให้ประชากรมีลูกเพิ่มได้สำเร็จ
โดยสถาบันวิจัยประชากร Yuwa ในปักกิ่ง ได้เผยแพร่รายงานเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พบว่า ค่าใช้จ่ายเฉลี่ยในการเลี้ยงดูเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 18 ปีอยู่ที่ 6.3 เท่าของ GDP ต่อหัว โดยใน 13 ประเทศที่รายงานได้เปรียบเทียบค่าใช้จ่าย ประเทศเดียวที่มีตัวเลขสูงกว่า คือ เกาหลีใต้ ที่ 7.79 เท่า ขณะที่ตัวเลขในออสเตรเลียอยู่ที่ 2.08 เท่า ในสหรัฐฯ 4.11 เท่า และในญี่ปุ่น 4.26 เท่า
ดังนั้น การเพิ่มอัตราการเกิดและลดค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดูลูกจึงถือเป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาลจีน โดยในเดือนกรกฎาคม คณะกรรมการกลางของพรรคคอมมิวนิสต์ ได้วางแผนแม่บทสำหรับอนาคตของประเทศในเรื่องอัตราการเกิดที่ลดลง
โดยนโยบายที่กำหนดไว้รวมถึงการ "ปรับปรุงนโยบายสนับสนุนการเกิดและการให้แรงจูงใจเพื่อสร้างสังคมที่สนับสนุนการเกิด" และ "ลดต้นทุนการเกิด การเลี้ยงดู และการศึกษาอย่างมีประสิทธิภาพ" เช่น การขยายโรงเรียนสาธารณะ เพิ่มเงินสนับสนุนแก่โรงเรียนเอกชนที่มีคุณสมบัติตรงตามเงื่อนไข และกระตุ้นให้โรงเรียนรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปีเข้าเรียนในชั้นเรียนสำหรับเด็กวัยหัดเดิน
รัฐบาลจีนมองว่า การสนับสนุนให้โรงเรียนรับเด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี เข้าเรียนมากขึ้นนั้นจะช่วยลดภาระของพ่อแม่ เพราะปัจจุบัน ค่าจ้างพี่เลี้ยงเด็กหรือผู้ดูแลเด็กในจีนนั้นสูงมาก ทำให้ครอบครัวจีนส่วนมากต้องรับผิดชอบดูแลลูกวัยก่อนปฐมวัยในระหว่างวัน
ที่มา: Nikkei Asia