โดย ขวัญชนก วุฒิกุล
หลังจากเห็นข่าว “คุณไพบูลย์” ซึ่งเป็นผู้โชคดี ดวงเฮง ถูกล็อตเตอรี่รางวัลแจกพอตรับทรัพย์ 18 ล้านบาท ออกมายอมรับว่า หลังจากถูกรางวัลมา 5 ปี ตอนนี้เงินหมดแล้ว เหลือแค่ทรัพย์สินที่ซื้อไว้ตอนที่ถูกหวยเท่านั้น และจากที่เคยเป็นเศรษฐีเงินหลายล้าน ปัจจุบันกลับมาทำไร่ ทำนา เผาถ่านขาย หลายคนอาจจะสงสัยว่า “เงินมากมายขนาดนี้ทำไมใช้เวลาแป๊บเดียวถึงหมด”
"จริงๆ แล้ว กรณี “คุณไพบูลย์” ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีผู้โชคดี “ถูกหวย” ได้รับเงินจำนวนมหาศาล แล้วไม่สามารถรักษาทรัพย์ไว้ได้ ซึ่งถ้าจะถอดบทเรียน “คนถูกหวย” ที่ล้มเหลวในการดูแลทรัพย์ ก็ต้องบอกว่า ประเด็นหลักคือ การขาดความรู้ความเข้าใจเรื่องการบริหารจัดการเงินของคนกลุ่มนี้ ซึ่งส่วนใหญ่มีความรู้เรื่องนี้น้อย และมักจะผูกชะตาชีวตตัวเองไว้กับ “ดวง” หรือ “โชคลาภ” ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจ ยังเคยคิดเล่นๆ ว่า กองสลากน่าจะจัดอบรมระยะสั้น หรือจัดเวิร์คช็อปให้กับประชาชนที่ถูกหวยรางวัลใหญ่ๆ ให้พวกเขามีความรู้เรื่องเงินขั้นพื้นฐาน เพื่อที่จะออกไปใช้เงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ"
กรณีของคุณไพบูลย์นั้นก็เกือบ ๆ จะใกล้เคียงกับคำว่า “ใช้เงินอย่างมีประสิทธิภาพ” เพราะเขาเริ่มต้นจากการนำไปซื้อทรัพย์สิน ไม่ว่าจะเป็นที่ดิน 20 ไร่ ราคา 4 ล้านบาท สร้างบ้านอีก 5 หลัง รวม 3 ล้านบาท ทั้งสองส่วนนี้ใช้เงิน 7 ล้านบาท ส่วนที่เหลือ นำไปเปิดร้านขายวัสดุก่อสร้าง ร้านค้าส่งสินค้าโชห่วยพร้อมโกดัง ใช้เงินไป 3 ล้านบาท ซื้อรถปิคอัพ 5 คัน ราคารวม 3.7 ล้านบาทสำหรับใช้วิ่งขนส่งสินค้า ซื้อรถดัมพ์สิบล้อ 1 คัน ราคา 1 ล้านบาท และรถไถ 1 คัน ราคา 1 ล้านบาท ทุกรายการซื้อด้วยเงินสด รวมเป็นเงินทั้งหมดเกือบ 16 ล้านบาท เท่ากับคุณไพบูลย์เหลือเงินสดจริงๆ แค่ 1 ล้านกว่าบาทเท่านั้น (เพราะต้องเสียค่าอากรแสตมป์สลากกินแบ่งในอัตรา 0.5%)
ที่เขียนว่า เป็นการใช้เงินที่เกือบๆ จะใกล้เคียงกับคำว่า มีประสิทธิภาพ ก็เพราะคุณไพบูลย์มีความตั้งใจจะสะสมทรัพย์สิน ทั้งบ้านและที่ดิน รวมถึงอยากจะมีกิจการเป็นของตัวเอง ไม่ต้องเป็นลูกจ้างใคร แต่ถ้าจะวิเคราะห์ความผิดพลาดสำหรับกรณีนี้ไว้เป็นบทเรียน จะพบว่า
ความผิดพลาดประการแรก คือ “การจัดสรรเงิน” ซึ่งคุณไพบูลย์ไม่ได้ทำอะไรผิด เพียงแต่ไม่มีใครให้ทำปรึกษาว่า เงินจำนวน 18 ล้านบาทนั้น ควรจะเก็บไว้เป็นเงินสำรองอย่างน้อย 20% หรือ 3.6 ล้านบาท หรือจะปลอดภัยมากๆ ก็สำรองไว้ 50% หรือ 9 ล้านบาท ส่วนที่เหลืออีก 9 ล้านบาท ค่อยแบ่งสรรปันส่วนสำหรับการซื้อที่ดิน สร้างบ้าน หรือซื้อรถ ซึ่งทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินที่ก่อให้เกิดรายได้ (ยกเว้นรถ) เพราะไม่ว่าจะบ้านหรือที่ดิน มีโอกาสที่ราคาจะเพิ่มขึ้นในอนาคต
ความผิดพลาดประการที่สอง เกี่ยวข้องกับประการแรก นั่นคือ เมื่อคุณไพบูลย์ไม่ได้จัดสรรเงิน แบบ “เก็บก่อนใช้” ทำให้มีปัญหาเรื่อง “การใช้เงินเกินความจำเป็น” ไม่ว่าจะที่ดิน 20 ไร่ สร้างบ้าน 5 หลัง หรือซื้อรถ 5 คัน อันนี้ต้องพิจารณาว่า “เป็นเรื่องเกินจำเป็น” หรือ “เกินเบอร์” ไปหรือไม่ ซึ่งถ้าหากมีการจัดสรรเงินเก็บไว้ก่อน 20% หรือ 50% ตามข้อแรก ปัญหานี้ก็ไม่เกิดขึ้น เพราะจำนวนเงินที่จะใช้ได้มันถูกจำกัดลง
ความผิดพลาดประการที่สาม คือ การนำเงินไปลงทุนในธุรกิจโดยที่ไม่ความรู้ ทั้งร้านค้าส่งและร้านวัสดุก่อสร้าง ที่คุณไพบูลย์บอกเองว่า “ไม่มีประสบการณ์ ไม่มีการวางแผนการบริหารจัดการ เพราะจบแค่ ป.6 ระบบคอมพิวเตอร์ก็ทำไม่เป็น ลูกก็ไม่สนใจ ทำให้กิจการเจ๊งไปหมดประมาณ 6-7 ล้านบาท” ซึ่งจริงๆ แล้ว มีคนจำนวนไม่น้อยที่ไม่ต้องเรียนจบมหาวิทยาลัยหรือมัธยมฯ มีความรู้แค่ชั้นประถมฯ แต่ประสบความสำเร็จในการทำกิจการของตัวเองได้ เพราะเขามีความรู้และเข้าใจในธุรกิจนั้นๆ ซึ่งส่วนใหญ่เริ่มมาจาก “ความชอบ” ทำให้ขวนขวายเรียนรู้เพิ่มเติม
ที่สำคัญคือ การทำธุรกิจหรือเป็นเจ้าของกิจการไม่ว่าจะเล็กหรือใหญ่ ต้องมี “ทักษะ” ซึ่งดูเหมือนคุณไพบูลย์จะขาดสิ่งเหล่านี้ ทำให้สุดท้ายกิจการต้องล้มเหลวและล้มเลิกไปในที่สุด
เคยบอกหลายคนว่า การเป็น “ลูกจ้าง” ก็ไม่ใช่เรื่องน่ารังเกียจ เพราะบางคนที่เป็นลูกจ้างมืออาชีพ ก็สามารถหารายได้ในตัวเองในฐานะลูกจ้างได้แบบสบายๆ อาจจะมีคนที่แอบถูกล็อตเตอรี่รางวัลใหญ่แบบเงียบๆ และยังสมัครใจที่จะทำงานในฐานะลูกจ้างของตัวเองต่อไป โดยเก็บเงินรางวัลก้อนใหญ่นั้นไว้สำรองสำหรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เพราะเงินก้อนใหญ่จำนวนมาก แค่ฝากแบงก์กินดอกเบี้ยที่ไม่สูง ไม่ต้องเอาไปเสี่ยงมาก ก็อาจจะสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจให้กับเจ้าของเงินได้แล้ว
ใครที่เคยดูซีรีส์ Hometown Cha-Cha-Cha คงจะจำหนึ่งในความลับของหมู่บ้านกงจินได้ว่า ใครคือคนที่ถูกล็อตโต้รางวัลใหญ่ (จำไม่ได้ว่ากี่ร้อยหรือกี่พันล้านวอน) เพราะทุกคนยังใช้ชีวิตปกติ ไม่มีใครใช้ชีวิตเป็นเศรษฐีใหม่ให้ชาวบ้านสังเกตได้ คำเฉลยสุดท้ายอยู่ในตอนจบของซีรีส์
เรา (หมายถึงคนถูกรางวัลแจ๊กพอต) ก็ทำแบบนั้นได้
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ