รับมือ ‘ของแพง’ ได้จริงหรือ ?
ขวัญชนก วุฒิกุล
เคยคุยเรื่อง ‘รับมือของแพง’ ใน Spotlight Exclusive ไปแล้ว วันที่คุยกัน ต้องบอกว่า “ของยังไม่แพงจริง” เพราะหลังจากวันที่ 1 พฤษภาคม 2565 ซึ่งเป็นวันดีเดย์ปรับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลอีกลิตรละ 2 บาท จากที่อั้นไว้ให้ไม่เกินลิตรละ 30 บาท จนรัฐแบกต่อไม่ไหวแล้ว ตอนนั้นนั่นแหละที่ “ของแพงจริงๆ” และจะแพงขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะรัฐประกาศว่า จะขยับขึ้นราคาน้ำมันดีเซลต่อ (ถ้าราคาในตลาดโลกยังพุ่งสูงขึ้น) โดยตั้งเพดานอีกครั้งที่ลิตรละ 35 บาท หมายความว่า ราคาน้ำมันดีเซลยังขึ้นได้อีกลิตรละ 3 บาท (จาก 32 บาทเป็น 35 บาท)
จะปรับขึ้นช้าหรือเร็วก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยเร่งในตลาดโลก ซึ่งก็คือ ราคาน้ำมัน ที่ต้นตอสำคัญมาจากปัญหารัสเซีย-ยูเครน
ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสินค้าเพิ่มขึ้น ราคาอาหารสัตว์เพิ่มขึ้น ราคาปุ๋ยเพิ่มขึ้น และต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้น ไม่นับรวมราคาเนื้อหมูหรือไข่ ที่มีปัจจัยเฉพาะทำให้แพงมาก่อนหน้านี้แล้ว คำถามคือ “เราจะเอาตัวรอดหรือรับมือกับปัญหาสินค้าและบริการแพงได้จริงหรือ”
ย้อนกลับไปก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตอนนั้นประเทศไทยไม่ได้มีปัญหาการว่างงาน จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติจะพบว่า อัตราการว่างงานของเราต่ำมากอยู่แค่ประมาณ 1% กว่าๆ เท่านั้น แต่ปัญหาหลักๆ ของคนทำงานมีเงินเดือน อยู่ที่รายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่าย แต่หลังจากต้องเผชิญกับโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงตอนนี้ อัตราการว่างงานเพิ่มขึ้น คนที่มีงานทำก็ถูกลดชั่วโมงการทำงานลง รายได้ที่ก่อนหน้านี้ “ไม่พอ” อยู่แล้ว ก็ยิ่งถูกกระทบหนักขึ้นไปอีก ไม่นับรวมปัญหาหนี้สิน ที่ทำให้อัตราหนี้ครัวเรือนของเราพุ่งสูงขึ้นเป็นอันดับต้นๆ ของเอเชีย
"สถานการณ์ที่ต้องเผชิญในวันนี้คือ รายได้ที่เคยไม่พออยู่แล้ว ต้องเจอกับรายจ่ายที่สูงขึ้น ซึ่งจริงๆ แล้ว ราคาสินค้าและบริการก็ปรับตัวสูงขึ้นมาโดยตลอดตามภาวะเงินเฟ้อ แต่ครั้งนี้เป็นภาวะ “ของแพง” ที่ดันให้เงินเฟ้อสูงเกินกรอบเป้าหมาย ซึ่งไม่ใช่เรื่องปกติ ขณะที่เราก็ไม่ได้เปลี่ยนรูปแบบการใช้ชีวิตเลย ไม่ได้ฟุ่มเฟือย ไม่ได้เปลี่ยนยี่ห้อของที่เคยใช้ แต่เพราะรายได้ที่ลดลงกับราคาของที่แพงขึ้น นั่นแหละคือปัญหา "
ถ้าตัดเรื่องการพึ่งพากลไกของรัฐในการเข้ามาช่วยเหลือ แล้วต้องพึ่งพาตัวเอง เราจะรับมือกับปัญหาเหล่านี้ได้หรือไม่ เพราะสองตัวแปรสำคัญในเรื่องนี้คือ 1.รายได้ และ 2. รายจ่าย ดังนั้น โอกาสที่จะรับมือกับปัญหา “ของแพง” ได้คือ ต้องทำให้รายได้เพิ่มขึ้น แม้รายจ่ายเพิ่มขึ้นก็ยังมีโอกาสรอด หรือถ้าทำให้รายได้เพิ่มขึ้นไม่ได้ ก็ต้องทำให้รายจ่ายลดลง
เพื่อให้รู้ว่า ในแต่ละเดือน เรามีรายรับเท่าไหร่ และมีรายจ่ายเท่าไหร่ โดยเฉพาะบัญชีรายจ่ายประจำที่ต้องจ่ายแน่ๆ และสำคัญ เช่น ค่าผ่อนบ้าน ผ่อนรถ ค่าบัตรเครดิต ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ถ้ารายได้ไม่พอกับค่าใช้จ่ายประจำเหล่านี้ ก็ต้องพยายามหารายได้เพิ่ม หรือถ้าหนี้ก้อนไหนที่สามารถเจรจาของผัดผ่อนไปได้ก่อนก็ต้องหาทาง เพื่อให้อย่างน้อยมีเงินเหลือสำหรับกินใช้ในเดือนนั้นๆ
ถ้าไม่ทำบัญชีรายรับ-รายจ่ายอย่างละเอียด เราจะไม่รู้สถานะทางการเงินที่แท้จริงของตัวเอง และจะไม่รู้ว่าจะบริหารจัดการเงินต่อไปยังไง
ด้วยวิธีการ “กินอยู่ให้ต่ำกว่าฐานะ” หรือต้อง “ลดมาตรฐานการใช้ชีวิตของตัวเองลง” ภาวะแบบนี้ต้องยอมลำบากมากขึ้น จะใช้ชีวิตแบบที่เคยใช้ เคยกิน เคยอยู่เหมือนเดิมไม่ได้ ต้องเลือกซื้อหาของใช้จำเป็นที่ราคาถูกลง หรือบางรายการอาจจะต้องเลิกใช้เป็นการชั่วคราว สำหรับบางคนอาจจะต้องถึงขนาดเปลี่ยนที่อยู่เพื่อลดต้นทุนทางการเงินลงด้วยซ้ำ
ถ้าหงุดหงิดขัดใจว่า ทำไมต้องทำ ทำไมต้องเปลี่ยน ก็เพราะเรากำลังพูดถึง “การรับมือกับของแพง” ในภาวะที่รายได้ของเราเท่าเดิมหรือลดลงในแบบที่เราต้องพึ่งพาตัวเอง และทำให้ตัวเองรอดให้ได้ก่อน
หลักคิดจริงๆ คือ ใช้ชีวิตให้ละเอียดขึ้น รอบคอบขึ้น วางแผนการใช้ชีวิตและวางแผนการเงินให้มากขึ้น ที่เหลือคือ “อดทน” รอเวลาให้สถานการณ์ดีขึ้น และพยายามเพิ่มทักษะของตัวเองให้เรากลับเข้าสู่ระบบแรงงานที่สามารถมีรายได้เพิ่มขึ้นให้เร็วที่สุด
ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจ