-'มาม่า' ยังรอ "พาณิชย์" อนุมัติขึ้นราคาเป็น 8 บาทต่อซอง ขอให้เร่งเคาะหลังต้นทุนพุ่งทำขาดจริง
- 15 ส.ค.นี้ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จทั้ง 5 ยี่ห้อดัง รวมตัวนัด "กรมการค้าภาย" ขอชีแจงต้นผลิตพุ่งต่อเนื่อง
ปัญหาเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นจากต้นทุนการผลิตที่กำลังสูงขึ้นเรื่อยๆ ยังไม่ได้มีท่าทีว่าจะขึ้น หลังจากผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์อย่าง "มาม่า" ได้ขอปรับขึ้นราคาขายขึ้นเป็นซองละ 8 บาท จากเดิมราคาซองละ 6 บาท แต่ด้วยความที่ 'มาม่า' ถือเป็นหนึ่งในรายการสินค้าควบคุมจึงต้องได้รับไฟเขียวจากกระทรวงพาณิชย์ แม้ 'มาม่า 'จะยื่นเรื่องขอมานานหลายเดือนแล้ว แต่ยังถูกแตะเบรกไว้ทำให้ต้องแบกต้นทุนที่หนักขึ้นไว้เรื่อยๆ เช่นเดียวกันผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปแบรนด์ๆ
จนล่าสุด เจ้าสัว 'บุญชัย โชควัฒนา' ประธานกรรมการ และประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือสหพัฒน์ ต้องออกมาให้ข้อมูลว่า ขณะนี้บริษัทฯ ยังรอคำตอบจากกรมการค้าภายใน (คน.) อนุมัติให้ปรับขึ้นราคาบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า” และ “ซื่อสัตย์” ตามที่เคยได้ยื่นเรื่องขอขึ้นราคา 2 บาทต่อซอง จาก 6 บาท เป็น 8 บาทต่อซอง
บุญชัย โชควัฒนา ประธานกรรมการบริหาร บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
พร้อมทั้งยังแสงความเห็นต่อว่า เชื่อว่าผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปทุกแบรนด์ได้ขอขึ้นราคาเหมือนกับ "มาม่า" เหมือนกัน เพราะต้องเจอภาระต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นเหมือนๆ กันหมด เพราะต้องใช้แป้งสาลีและน้ำมันปาล์มเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตและราคาเพิ่มขึ้นมากหลายเท่าตัว
“ตอนนี้บริษัทยังไม่ได้รับสัญญาณจากกรมการค้าภายในว่า จะปรับราคาขึ้นให้เราหรือไม่ หรือจะขึ้นได้เมื่อไหร่ ซึ่งจริงๆ ควรต้องขึ้นให้แล้ว เพราะต้นทุนทุกอย่างขึ้นทุกวัน และขึ้นไปหมดแล้ว ขณะที่สงครามรัสเซียกับยูเครน ยังไม่เห็นจุดสิ้นสุด ยังไม่รู้ว่าจะส่งผลกระทบกับเราอีกมากแค่ไหน อยากให้ภาครัฐเร่งพิจารณาโดยเร็ว ตอนนี้เราขาดทุนจริงๆ” นายบุญชัย กล่าว
ด้านสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่งและปลีกไทย ให้ข้อมูลว่า ช่วงต้นเดือน ส.ค. ปีนี้ที่ผ่านมา ได้รับแจ้งจากผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปยี่ห้อ “มาม่า” ว่า หากกระทรวงพาณิชย์อนุมัติให้ขึ้นราคาแล้ว ทางบริษัทจะปรับราคาขายปลีกขึ้นในทันที โดยจะไม่แจ้งให้ผู้จำหน่ายทราบล่วงหน้า เนื่องจากบริษัทรอการอนุมัติให้ปรับราคาขึ้นมานานเช่นกัน ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะปรับขึ้นอีกซองละ 1 บาท หรือขึ้นซองละ 2 บาทตามที่ผู้ผลิตได้ยื่นขอไปล่าสุด
“การที่มาม่าที่ไม่ได้แจ้งล่วงหน้าว่าจะขึ้นราคาขาย เพราะคงกลัวว่าร้านค้าจะไปซื้อสินค้ากักตุน จริงๆ แล้วสินค้าแต่ละซอง มันมีวันหมดอายุ คงไม่มีใครไปแห่ซื้อตุนไว้เพราะอย่างไรก็จะมีการผลิตเพื่อขายต่อเนื่อง ไม่ได้ขาดแคลนวัตถุดิบการผลิต หรือเกิดเหตุการณ์รุนแรง อย่างกรณีเกิดน้ำท่วมใหญ่” นายสมชาย กล่าว
แหล่งข่าวจากวงการผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กล่าวว่า หลังจากกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ ยังไม่ไฟเขียวขึ้นราคาบะหมี่สำเร็จรูป หลังจากยื่นขอปรับราคาไปนานหลายเดือนแล้ว แต่ยังไม่มีแนวโน้ม หรือความชัดเจนว่าจะอนุมัติให้ขึ้นราคาตามที่ยื่นเสนอขอไปเมื่อไหร่ ทำให้ขณะนี้ผู้ผลิตต้องแบกภาระต้นทุนวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะแป้งสาลี และน้ำมันปาล์ม ซึ่งเป็นวัตถุดิบหลักที่ใช้ในการผลิต ขณะที่ภาระต้นทุนของแต่ละผู้ผลิตจะไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตว่าผลิตมากหรือน้อย
“ในวันที่ 15 สิงหาคมนี้ ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จทั้ง 5 ยี่ห้อหลัก ได้แก่ ยี่ห้อไวไว ยำยำ นิชชิน มาม่า ซื่อสัตย์ จะรวมตัวกันเพื่อชี้แจงต้นทุนต่างๆ ที่สูงขึ้น เพื่อเป็นการบอกกล่าวไปยังกระทรวงพาณิชย์ว่าผู้ผลิตต้องเผชิญกับภาวะตุนมากขนาดไหน และทำไมถึงต้องขอปรับขึ้นราคาอีก 1-2 บาทต่อซอง ซึ่งน่าจะถึงเวลาที่เหมาะสมจะพิจารณาอนุมัติได้แล้ว ซึ่งผู้ผลิตสินค้าในหมวดเดียวกัน หากไม่ได้รับความเดือดร้อนสูงสุดแล้วก็จะไม่ได้รวมตัวกัน ต่างคนต่างยื่นเพราะต้นทุนและการบริหารจัดการแตกต่างกัน แต่ครั้งนี้ ทุกรายเจอผลกระทบต้นทุนสูงมากเหมือนกันหมด ถือเป็นการร่วมตัวกันเป็นการเฉพาะกิจที่ไม่ได้เห็นได้บ่อยนัก” แหล่งข่าว กล่าว