กลุ่มบริษัท ดุสิตธานี จำกัด (มหาชน) หรือ DUSIT ซึ่งทำธุรกิจโรงแรมและรับจ้างบริหารโรงแรม ปัจจุบันมีแม่ทัพหญิงเก่งอย่าง 'ศุภจี สุธรรมพันธุ์' เป็นกรุ๊ปซีอีโอคุมทัพธุรกิจของ 'ดุสิตธานี' ตั้งแต่ในปี 2559 ถึงตอนนี้จะเห็นว่า 'ดุสิตธานี' มีพัฒนาการทางธุรกิจเปลี่ยนไปจากในอดีตอย่างมาก โดยเฉพาะการกลยุทธ์แตกไลน์ไปสู่การหาโอกาสธุรกิจใหม่ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งในรูปแบบของการร่วมทุนกับพาร์ทเนอร์หรือการเข้าซื้อกิจการในธุรกิจที่เป็นเป้าการเติบโตในอนาคตของ 'ดุสิตธานี'
ล่าสุด 'ศุภจี สุธรรมพันธุ์' ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม DUSIT ออกมาเล่าถึงแผนกลยุทธ์สำคัญในการทำธุรกิจของ 'ดุสิตธานี' ใน 5 ปีข้างหน้าจากนี้ไปว่าจะใช้กลยุทธ์ไหนต่อไปการปั้นผลการดำเนินงานของกลุ่มให้เติบโตต่อไป โดยกรุ๊ปซีอีโอของ 'ดุสิตธานี' อธิบายว่า ได้วางกลยุทธ์เพื่อสร้างการเติบโตของธุรกิจไว้เป็นแผนธุรกิจระยะ 9 ปีจากนี้ โดย 'ดุสิตธานี' มีแผนงานการขยายไปสู่ธุรกิจอื่นๆ มากขึ้น นอกเหนือจากธุรกิจหลักปัจจุบันคือ โรงแรม อาทิ กลุ่มธุรกิจอาหาร, ธุรกิจสถานศึกษา
ได้กำหนดแผนในระยะ 9 ปี คือ แบ่งเป็น 3 ปีแรก ตั้งใจทำให้ฐานของ 'ดุสิตธานี' แข็งแรง 3 ปีที่สอง เป็นช่วงที่เริ่มเห็นการเจริญเติบโตของธุรกิจ และ 3 ปีท้าย จะเริ่มเห็นการนิวแชปเตอร์ของธุรกิจในเครือดุสิตธานี โดยโควิด-19 ที่เกิดระบาดในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา ทำให้ธุรกิจบางประเภทอาจต้องเลือกหยุดการดำเนินธุรกิจก่อน ขณะที่ 'ดุสิตธานี' เลือกที่จะมองหาธุรกิจใหม่ที่จะช่วยให้บริษัทสามารถเดินหน้า และพร้อมรับมือกับความเสี่ยงรูปแบบใหม่ที่อาจเกิดขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งธุรกิจที่เลือกเข้ามาเสริมภาพรวมของบริษัท เป็นธุรกิจสถานศึกษา และธุรกิจอาหาร
โดยเฉพาะธุรกิจอาหาร ที่วางเป้าหมายรายได้ของธุรกิจในระยะ 5 ปีข้างหน้า ช่วงระหว่าง 2565-2570อยู่ที่ 2,500 ล้านบาท การเติบโตเฉลี่ย 15-20% และกำหนดค่าใช้จ่ายในการลงทุนธุรกิจอาหาร 5 ปี ไม่เกิน 200 ล้านบาท แต่ไม่รวมการลงทุนใหม่อื่นๆ
กรุ๊ปซีอีโอของ 'ดุสิตธานี' วางแผนไว้ว่า ในปี 2570 จะปรับสัดส่วนรายได้ภายใน 'กลุ่มดุสิตธานี' เป็นจากโรงแรมมีสัดส่วน 90% เหลือ 60-65% ส่วนธุรกิจอาหารจะมีสดส่วนเพิ่มขึ้นมาที่ 25-30% ส่วนที่เหลือจะเป็นธุรกิจการศึกษา 7-8% และอื่นๆ 2-3% โดยหากพิจารณาจากปี 2561 บริษัทมีอสังหาริมทรัพย์ (พร็อพเพอร์ตี้) จำนวน 28 แห่ง ใน 7 ประเทศ เป็นเจ้าของเอง 10 แห่ง และบริหารอีก 18 แห่ง ส่วนในปี 2565 บริษัทมีพร็อพเพอร์ตี้ เพิ่มขึ้นเป็น 332 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรม 47 แห่ง และวิลล่าอีก 285 แห่ง ในทั้งหมด 16 ประเทศ
โดยการเข้ามาในธุรกิจอาหารแบบเต็มตัวนี้ มีเป้าหมายคือการ นำความเป็นไทย ไปสู่สากล โดยให้ความสำคัญทั้งในด้านต้นน้ำและปลายน้ำของห่วงโซ่อุปทานในธุรกิจอาหาร อาทิ ความเป็นธรรมชาติ ความยั่งยืน และการสนับสนุนท้องถิ่น ทำให้ธุรกิจอาหารมีมูลค่าเพิ่ม และต่อยอดความร่วมมือไปกับพันธมิตรได้ อาทิ ร้านอาหาร KAUAI (คาวาอิ) ซึ่งเป็นแบรนด์ร้านอาหารสุขภาพยอดนิยมจากประเทศแอฟริกาใต้ บองชู เบเกอรี่ เอเชีย
สำหรับเป็นเจ้าของแฟรนไชส์ขนมเบเกอรี่บองชู (BONJOUR) และโรงงานผลิตเบเกอรี่ขนาดใหญ่ที่ใช้เครื่องจักรอุตสาหกรรมที่ดีและทันสมัยที่สุดที่นำเข้าจากประเทศชั้นนำในยุโรป ตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด จังหวัดระยอง โดยปัจจุบันมีร้านแฟรนไชส์ขนมเบเกอรี่บองชู มีสาขาในประเทศไทยกว่า 60 แห่ง รวมถึงในประเทศจีนอีก 1 แห่ง ทำให้มองเห็นศักยภาพในการขยายสาขาไปในตลาดจีน และเวียดนามด้วย
“เราไม่ได้ทะลุไปทำธุรกิจอื่นที่นอกเหนือหรือไม่เกี่ยวกับธุรกิจเมนหลักของเรา แต่มองหาธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง หรือสามารถขยายในด้านการให้บริการมากขึ้นได้ ไม่ใช่แค่การขยายในแง่ของจำนวนเท่านั้น ผ่านการสร้างความสมดุลในพอร์ตธุรกิจของบริษัทมากขึ้น อาทิ ธุรกิจโรงแรมที่เป็นธุรกิจหลักของบริษัท ก็เพิ่มการให้บริการมากขึ้น ผ่านการตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ ความเป็นลักชัวรี่ มีวิลล่าแบบเป็นหลังๆ เพื่อให้มีความหลากหลายมากขึ้น ซึ่งก็พบว่าพอมีโควิดและหลังโควิดคลายตัว วิลล่าขยายตัวได้มากขึ้น เพราะคนต้องการเที่ยวแบบเป็นส่วนตัว ไม่ได้อยากอยู่รวมกับคนหมู่มากแล้ว” กรุ๊ปซีอีโอ 'ดุสิตธานี' กล่าว