"กลุ่มบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาการร่วมทุน และการปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จโดยเร็วที่สุด แต่ในขณะนี้ด้วยเงื่อนไขที่ได้กล่าวไปข้างต้น และข้อจำกัดในหลายประการ เรายังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตามปัจจุบันการดำเนินการทั้งสองส่วนยังมีความราบรื่น และกลุ่มบริษัทมุ่งที่จะสื่อสารกับทางลูกค้าต่อไป เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม"
Zipmex ประชุมทาวฮอลล์ อัพเดทความคืบหน้าการแก้ปัญหาบริษัท โดยสามารถขยายเวลาการพักชำระหนี้ออกไปได้จากเดิมสิ้นสุด 2 ธันวาคม 2565 และกำลังเร่งเพิ่มกระแสเงินสด-ลดรายจ่าย เพิ่มเงินทุนหมุนเวียน ยังไม่สามารถระบุระยะเวลาได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อไหร่
นายเอกลาภ ยิ้มวิไล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และผู้ร่วมก่อตั้ง บริษัท ซิปเม็กซ์ (ประเทศไทย) จำกัด (Zipmex) เปิดเผยถึงความคืบหน้าของสถานการณ์ และการดำเนินงานของบริษัทฯ ตามคำสั่งศาลของสิงคโปร์ ว่า ปัจจุบันบริษัทฯ อยู่ระหว่างการดำเนินการปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัทฯ และการปรับโครงสร้างหนี้ แต่ขณะนี้ยังไม่สามารถเปิดเผยเงื่อนไขใดๆ ได้
ทั้งนี้บริษัทสามารถขยายระยะเวลาการพักชำระหนึ้ได้จากเดิมตามคำสั่งศาลสิงคโปร์สิ้นสุดในวันที่ 2 ธ.ค.2565 โดย
1.บริษัทยื่นคำร้องขอพักชำระหนี้ ต่อศาลเพื่อให้ได้รับการพักชำระหนี้
2.บริษัทจัดทำและเสนอแผนการปรับโครงสร้างนี้
3.ศาลอนุมัติให้บริษัทเรียกประชุมเจ้าหนี้
4.แจ้งให้เจ้าหนี้ทราบ และอนุมัติคำร้องขอรับชำระหนี้ รวมทั้งจัดประชุมเจ้าหนี้ต่อไป
5.ยื่นขอให้ศาลมีคำสั่งอนุมัติแผนการจัดการ
6.ดำเนินการตามแผนการดำเนินงาน
อย่างไรก็ตามหากแผนการปรับโครงสร้างหนี้ไม่ได้รับการอนุมัติ บริษัทฯ จะพิจารณาทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับกลุ่มบริษัทและเจ้าหนี้ของ Zipmex
ทั้งนี้ ลูกค้าที่มีบัญชี Zip-up ในประเทศสิงคโปร์และในไทยที่ได้มีการฝากเงินใน Z Wallet ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ค.หรือจากนั้นเป็นต้นไป จะถือว่าเป็นเจ้าหนี้ของซิปเม็กซ์ที่ได้ดำเนินการในประเทศสิงคโปร์ ในขณะที่ลูกค้าออสเตรเลีย จะเป็นเจ้าหนี้ของซิปเม็กซ์ออสเตรเลีย ส่วนลูกค้าที่อยู่ในประเทศอินโดนีเซีย ก็จะเป็นเจ้าหนี้ของซิปเม็กซ์ อินโดนีเซีย โดยการยื่นของพักชำระหนี้ที่ศาลของสิงคโปร์ จะส่งผลถึงทุกบริษัทในเครือ ซึ่งเจ้าหนี้ทุกรายสามารถเข้าถึงเงินได้ภายหลังจากการดำเนินการตามที่กล่าวมาข้างต้น
"กลุ่มบริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะทำให้ขั้นตอนในการพิจารณาการร่วมทุน และการปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จโดยเร็วที่สุด แต่ในขณะนี้ด้วยเงื่อนไขที่ได้กล่าวไปข้างต้น และข้อจำกัดในหลายประการ เรายังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเสร็จสิ้นเมื่อใด อย่างไรก็ตามปัจจุบันการดำเนินการทั้งสองส่วนยังมีความราบรื่น และกลุ่มบริษัทมุ่งที่จะสื่อสารกับทางลูกค้าต่อไป เมื่อมีข้อมูลเพิ่มเติม" นายเอกลาภ กล่าว
1.กลับมาให้บริการเทรด วอลเล็ต
นับตั้งแต่ระงับถอนเงินในวันที่ 20 ก.ค.2565 ซิปเม็กซ์ดำเนินการต่อเนื่อง เปิดใช้การเทรดเหรียญต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ใช้งานสามารถเข้าถึงสินทรัพย์และกลับเข้ามาใช้บริการเหรียญทุกเหรียญ พร้อมกับกำลังดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ผู้ใช้งานประเทศอื่นๆเข้าถึงสินทรัพย์ได้ด้วย
2.ให้ความร่วมมือกับหน่วยงานที่กำกับดูแลกับทุกประเทศที่ซิปเม็กซ์เปิดให้บริการ
สำนักงาน ก.ล.ต.ในประเทศไทย ได้มีการตรวจสอบหนึ่งสัปดาห์หลังจากเกิดเหตุการณ์และได้ยืนยันยอดสินทรัพย์ดิจิทัลที่ฝากไว้ และบริษัทให้ความร่วมมืออย่างต่อเนื่องในการให้ข้อมูลต่าง ๆ
3.เปิดรับโอกาสในการลงทุนหรือระดมทุน
การระดมทุนมีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก ซิปเม็กซ์ สิงคโปร์ ได้รับความสนใจจากนักลงทุน 4 ราย กำลังสรุปข้อสัญญากับนักลงทุน 3 ราย หนึ่งรายเป็นนักลงทุนต่างประเทศ และเข้าสู่การทำ Due Diligence หรือ การสอบทานธุรกิจเฟส 2 ต่อไป ซึ่งมีการตัดสินใจเลือกว่านักลงทุนรายใดที่จะมีการร่วมลงทุนเร็วๆนี้ แต่ไม่สามารถเปิดเผยได้ณขณะนี้
4.ติดต่อสื่อสารกับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของลูกค้าบริษัทยืนยันว่าเราโปร่งใส ให้บริการลูกค้า 24 ชั่วโมง ไลฟ์แชท และอีเมล์ พูดคุยกับกลุ่มลูกค้าเพื่อตอบคำถาม
5.แต่งตั้งที่ปรึกษาทางการเงินและที่ปรึกษากฎหมาย
โดยซิปเม็กซ์ กรุ๊ป แต่งตั้ง KordaMentha เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน และในประเทศไทย แต่งตั้ง KUDUN&Partners และประเทศสิงคโปร์ แต่งตั้ง Morgan Lewis Stamford LLC. และในประเทศอินโดนีเซีย แต่งตั้ง Hiswara Bunjamin & Tandjung เป็นที่ปรึกษาทางกฎหมาย
ส่วนกรณีที่มีข่าวว่าบริษัทกำลังประสบปัญหาสภาพคล่อง โดยจะอยู่ได้อีก 3 เดือนนั้นนายเอกลาภ กล่าวชึ้แจงว่า Zipmex กำลังหาทางเพิ่มรายรับและลดรายจ่าย จะทำทุกอย่างที่จะทำให้มั่นใจได้ว่าเรามีเงินทุนเพียงพอในการดำเนินกิจการก่อนที่จะได้เงินทุนจากนักลงทุนรายใหม่เรามองหลายอย่าง อาจจะเป็นเงินกู้หมุนเวียน หรืออาจจะขายสินทรัพย์/บริษัทย่อย ที่มีอยู่หากจำเป็น
มาตรการลดต้นทุน ประกอบด้วย การเพิ่มประสิทธิภาพของพนักงาน การทำให้ทีมงานมีความคล่องตัว หยุดการจ้างที่ปรึกษาและผู้ให้บริการภายนอกที่ไม่จำเป็นทั้งหมด, การประเมินค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นรายเดือน ซึ่งรวมถึงบริการต่างๆ ที่ไม่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ, การปรับปรุงพัฒนาผลิตภัณฑ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนการขาย (COGS) โดยที่ปรึกษาทางการเงินได้ทำงานร่วมกับบริษัทอย่างใกล้ชิด เพื่อให้บรรลุในแต่ละเงื่อนไขข้างต้น