เมื่อวานนี้ สมาคมธนาคารไทย ออกมาระบุว่า ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไปธนาคารพาณิชย์ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ต่อปี สาเหตุเพราะเป็นไปตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะยกเลิกการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.23% มาเป็น 0.46% ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ที่ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว (M-rate) ลง 0.4% ไปก่อนหน้านี้นั้นจึงต้องกลับมาปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มตามเดิม
ทั้งนี้ “กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF)” เป็นเครื่องมือสำคัญที่ออกมาช่วยเหลือสถาบันการเงินและเศรษฐกิจไทยในช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ด้วยการออกพันธบัตรมาเยียวความเสียหายในช่วงที่มีการปิดสถาบันการเงิน แต่นั่นก็แลกกับการที่สถาบันการเงินจะต้องร่วมกันใช้หนี้มหาศาล ยาวนานนับทศวรรษ ตัวเลขหนี้จนถึงเดือนตุลาคม 2565 ภาระหนี้ของกองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF1 และ FIDF3) ยังเหลืออยู่ประมาณ 6.7 แสนล้านบาท คิดเป็นประมาณ 3.9% ของจีดีพี โดยในช่วงโควิด 19 ได้มีการลดอัตราเงินส่งเข้ากองทุนฟื้นฟู เพื่อลดผลกระทบของบรรดาสถาบันการเงินนั่นเอง แต่มาตรการลดเงินส่งเข้ากองทุนฟื้นฟู สิ้นสุด 31 ธ.ค.2565
ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินแล้วว่า จากสถานการณ์โควิด-19 ที่คลี่คลาย ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง และชัดเจนขึ้น ธปท. จึงมีทิศทางปรับนโยบายการเงินเข้าสู่ภาวะปกติ (Policy Normalization) ซึ่งสอดคล้องกับที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ได้ทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย นอกจากนี้ เพื่อช่วยให้ภาระหนี้ของ FIDF ที่เกิดขึ้นในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 สามารถทยอยลดลงได้ตามเป้าหมาย โดยไม่สร้างภาระต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจไทยโดยไม่จำเป็น
อย่างไรก็ตามสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก ตระหนักถึงผลกระทบต่อลูกค้าประชาชน และให้ความสำคัญกับการดูแลลูกค้ากลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติ และได้รับผลกระทบจากภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงพร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ผ่านมาตรการความช่วยเหลือของแต่ละธนาคาร ที่มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่เหมาะสม ตรงจุด และทันการณ์ ครอบคลุมทั้งการลดภาระทางการเงิน การปรับปรุงโครงสร้างหนี้เดิม โดยคำนึงถึงศักยภาพและโอกาสในการปรับตัวของลูกค้าในอนาคต การเสริมสภาพคล่อง และการไกล่เกลี่ยหนี้ ขณะที่ยังรักษาความมั่นคง และการบริหารความเสี่ยงที่ดีของระบบสถาบันการเงินในอนาคต โดยลูกค้าที่ประสงค์จะขอรับความช่วยเหลือหรือคำปรึกษาสามารถ ติดต่อกับธนาคารที่ใช้บริการได้ทันที
ขณะเดียวกัน สมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก จะเร่งผลักดันมาตรการอื่นๆ ภายใต้มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูฯ ที่ปรับเงื่อนไขให้ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสามารถเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น เพื่อบรรเทาภาระของผู้ประกอบธุรกิจและประชาชน ผ่านมาตรการต่างๆ ได้แก่ ลูกหนี้รายย่อย และ SMEs ที่รายได้หยุดชะงัก โครงการพักทรัพย์พักหนี้ สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่ต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว
ทั้งนี้ จะได้มีการติดตามความคืบหน้า และประสิทธิผลของมาตรการต่างๆ อย่างใกล้ชิด และพร้อมพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นในระยะต่อไป โดยสมาคมธนาคารไทย พร้อมปฏิบัติตามนโยบายและร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว