ใครคิดจะก่อหนี้ในปี 2566 สำรวจอัตราดอกเบี้ยสินเชื่อกันก่อนนะครับ เพราะตั้งแต่ 1 ม.ค.2566 ที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์มีต้นทุนจากการส่งเงินเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน จึงทำให้มีการส่งต่อต้นทุน ด้วยการปรับขึ้นดอกเบี้ยเงินกู้ ราว 0.40% และขณะนี้ธนาคารรายใหญ่ทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยแล้ว ตามตารางนี้
ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ทำการยกเลิกการปรับลดอัตราเงินนำส่งเข้ากองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) จาก 0.23% มาเป็น 0.46% ดังนั้นธนาคารพาณิชย์ที่ได้มีการลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ลอยตัว (M-rate) ลง 0.4% ไปก่อนหน้านี้นั้นจึงต้องกลับมาปรับอัตราดอกเบี้ยเพิ่มตามเดิม ซึ่งสมาคมธนาคารไทย ได้ระบุว่าตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2566 เป็นต้นไปธนาคารพาณิชย์ จำเป็นต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 0.4% ต่อปี
นอกจากธนาคารรายใหญ่ทั้ง 6 แห่งนี้แล้วเชื่อว่าในปี 2566นี้ ธนาคารพาณิชย์รายอื่นๆ ก็จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นตามเช่นกัน
สำหรับแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยในปี 2566 นี้ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจของธนาคารไทยพาณิชย์ EIC เคยประเมินไว้ว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยมีแนวโน้มปรับสูงขึ้นต่อเนื่องอยู่ที่ 2% ณ สิ้นไตรมาส 2 ปีนี้ กนง. มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย
โดย EIC คาดว่า กนง. จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 3 ครั้ง (ครั้งละ 25 BPS) ในช่วงครึ่งแรกของปี 2566 สู่ระดับ 2% เพื่อให้นโยบายการเงินค่อย ๆ กลับสู่ระดับที่เหมาะสมกับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยระยะยาว
EIC มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายอาจไม่สามารถปรับสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงครึ่งหลังของปีหน้า เนื่องจากเศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอลงมากชัดเจน โดยเฉพาะเศรษฐกิจหลัก เช่น สหรัฐฯ จะเริ่มเข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรและยูโรโซนจะถดถอยต่อเนื่องจากปลายปีนี้ ทำให้อุปสงค์โลกชะลอลงมาก ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกและแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยได้
ดังนั้นครึ่งแรกของปี 2566 นี้สำหรับฟากของผู้กู้คงจะต้องหมั่นตรวจสอบอัตราดอกเบี้ยอยู่เสมอเพื่อสามาถปรับโครงสร้าง และวางแผนการเงินได้อย่างรัดกุมจากภาวะดอกเบี้ยขึ้นต่อไป