“ผู้หญิงอย่าหยุดสวย” เป็นประโยคอมตะ ที่ไม่ว่าจะเป็นคนวัยไหน เพศไหน ชาติใดในโลก ให้ความสำคัญกับเรื่องความสวย ความงาม เพราะหน้าตาดี สวย บุคลิกภาพดี เป็นการช่วยสร้างภาพลักษณ์ให้ดูดี เพราะฉะนั้น เรื่องความสวยความงาม จึงเป็นสิ่งสำคัญในยุคสมัยนี้ และต่อไปในอนาคต
ตลาดเสริมความงามจากนี้ไปจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง หลังทั่วโลกกลับมาใช้ชีวิตปกติไปมาหาสู่ ทานข้าวนอกบ้าน ได้เหมือนเดิมก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และด้วยเทคโนโลยีด้านความงามที่ทันสมัยมากขึ้น ปลอดภัย และเห็นผลลัพธ์ในการรักษาที่ชัดเจนขึ้น ก็จะช่วยส่งเสริมให้ตลาดท่องเที่ยวเชิงพาณิชย์ โดยเฉพาะกลุ่มนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางเพื่อเสริมความงามจะกลับมาเติบโตอย่างโดดเด่นอีกครั้ง
โดย Krungthai Compass มองตลาดเสริมความงามน่าจะกลับมาขยายตัวได้อีกครั้ง หลังการแพร่ระบาดโควิด-19 คลี่คลายลง ระบุว่า จากรายงานของ Grand View Research ประเมินว่า ปี 2570 มูลค่าตลาดเสริมความงามทั่วโลกจะขึ้นไปแตะระดับประมาณ 7.14 ล้านล้านบาท หรือประมาณ 2.16 แสนล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นประมาณ 2.5 เท่าของปี 2563
ด้านสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งเสริมสวยนานาชาติ (International Society of Aesthetic Plastic Surgeons หรือ ISAPS) ออกรายงานระบุว่า การผ่าตัดเสริมความงามที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การเสริมหน้าอก คิดเป็นสัดส่วน 16% ของการผ่าตัดเสริมความงามทั้งหมด และการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัดที่ได้รับความนิยมมากที่สุด คือ การฉีดโบท็อกซ์ คิดเป็น 43% ของการเสริมความงามแบบไม่ผ่าตัด
ทั้งนี้ ประเทศที่มีการเสริมความงามมากที่สุด 10 อันดับแรกของโลก ได้แก่ สหรัฐอเมริกา บราซิล เยอรมัน ญี่ปุ่น ตุรกี เม็กซิโก อาร์เจนตินา อิตาลี รัสเซีย และอินเดีย
สำหรับตลาดเสริมความงามของไทยมีแนวโน้มเติบโต ได้รับแรงหนุนจากกลุ่มลูกค้าชาวไทย และกลุ่ม Medical Tourism ฟื้นตัวและขยายตัวต่อเนื่อง โดย ISAPS ระบุว่า “ไทยเป็นประเทศที่มีการเสริมความงามมากที่สุดเป็นอันดับที่ 14 ของโลก” และในปี 2562 ประเทศไทยมีสัดส่วนผู้ป่วยต่างชาติที่ต้องการเดินทางเข้ามาเสริมความงามมากที่สุดในโลก
จากข้อมูลของ Grand View Research คาดการณ์ว่า ปี 2570 มูลค่าตลาดเสริมความงามของไทย จะไปแตะระดับ 2.48 แสนล้านบาท (7.51 พันล้านเหรียญสหรัฐ) เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่าของปี 2563
วันนี้ Spotlight จะพามาส่องธุรกิจความงามในตลาดหลักทรัพย์ไทย 2 บริษัท ที่มีรายได้ทะละ 1,000 ล้านบาท
บริษัท มาสเตอร์ สไตล์ จำกัด (มหาชน) หรือ Master เป็นสถานพยาบาลด้านความงามที่ให้บริการศัลยกรรมครบวงจร นำโดย นพ.ระวีวัฒน์ มาศฉมาดล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เมื่อ 25 ม.ค.2566 ด้วยราคา IPO 46 บาท/หุ้น ซึ่งบริษัทตั้งเป้ารายได้ 3 ปี (2566-2568) เติบโตเฉลี่ยปีไม่ต่ำกว่า 40% เป็นการเติบโตจากการขยายฐานลูกค้า และบริษัทก็ยังมองหาโอกาสในการเข้าซื้อกิจการ (M&A) หรือการร่วมลงทุน (JV) คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในปีนี้
อีกบริษัทหนึ่งที่อยู่ในตลาดหุ้นไทย คือ บริษัท เดอะคลีนิกค์ คลินิกเวชกรรม จำกัด (มหาชน) หรือ KLINQ เป็นคลินิกเวชกรรมด้านผิวหนังความงาม ศัลยกรรมตกแต่งและการดูแลป้องกันฟื้นฟูสุขภาพ เข้าตลาดหุ้นไทย เมื่อ 7 พ.ย.2565 นำโดย นพ.อภิรุจ ทองวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ซึ่งมีสาขาทั้งหมด 41 สาขา (ไม่รวมสำนักงานใหญ่) ตัวเลข ณ ไตรมาส 3/2565 เป็นสาขาภายใต้แบรนด์ THE KLINIQUE จำนวน 34 สาขา ศูนย์ศัลยกรรม 1 สาขา Nail Palette 3 สาขา และ LAB.X 3 สาขา
ธุรกิจเสริมความงามถือเป็นธุรกิจที่สามารถสร้างรายได้่ให้กับประเทศไทยได้ดี เนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ารักษาพยาบาลในไทย และเข้ามาเสริมความงามในไทย ด้วยความเชี่ยวชาญ นวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัยเชื่อว่า ประเทศไทยก็ไม่แพ้ชาติใดในโลก