หากว่าสถานการณ์การเมืองของไทยปกติดี สัปดาห์นี้ภาคเศรษฐกิจกำลังจับตาการประชุมของธนาคารกลางสำคัญ 3 แห่งที่จะประชุมในเวลาไล่เลี่ยกันคือ ธนาคารกลางสหรัฐ (FED) ธนาคารกลางยุโรป (ECB) และ ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยไปอีกนานแค่ไหน
แต่จุดสนใจของไทยสัปดาห์นี้ คือวันที่ 27 ก.ค. ซึ่งจะมีการประชุมรัฐสภาอีกครั้งและจะมีการโหวตนายกรัฐมนตรีอีกรอบ หลังการประชุมทั้ง 2 ครั้งคือ 13 และ 19 ก.ค.ที่ผ่านมายังไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้สำเร็จ ยังไม่รู้ว่านายกรัฐมนตรีคนที่30จะเป็นใคร?
การประชุมวันที่ 27 ก.ค.ถูกจับตามองมากขึ้นไปอีก เมื่อพรรคก้าวไกล ที่ชนะการเลือกตั้งอันดับ1 ได้ส่งไม่ต่อให้กับพรรคเพื่อไทย ที่มีคะแนนเสียงเป็นอันดับ 2 เดินหน้าในการจัดตั้งรัฐบาล หลังจากที่ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หมดสิทธิ์ถูกเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่ามกลางข่าวลือถึงการพลิกขั้วการเมืองหลังพรรคเพื่อไทยเดินสายพูดคุยกับพรรคการเมืองในขั้วรัฐบาลเดิม ซึ่งมีสัญญาณของการไม่ยอมร่วมงานกับพรรคก้าวไกล
สุดท้ายเกมส์การเมือง จะจบลงอย่างไรไม่มีใครรู้ ข่าวลือจะเป็นข่าวจริงหรือไม่ก็ยากที่จะฟันธง แต่เหตุการณ์ในสัปดาห์นี้จะเป็นจุดสำคัญที่จะชี้อนาคตการเมืองประเทศไทยในอนาคต และมีผลต่อเศรษฐกิจ การลงทุนของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดัชนีตลาดหุ้นไทย ปิดตลาดเมื่อวันศุกร์ ที่ 21 ก.ค.66 ดัชนีอยู่ที่ 1,529.25 จุด เพิ่มขึ้น 8.07 จุด (+0.53%) มูลค่าซื้อขาย 51,702.48 ล้านบาทดัชนีอยู่ที่ ดูเหมือนจะตอบรับในเชิงบวกหลังพรรคก้าวไกลส่งไม่ต่อให้จัดตั้งรัฐบาล แต่อย่างไรก็ตามการเคลื่อนไหวของหุ้นในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา ยังติดลบอยู่ราว 1.87%และนับจากต้นปี นักลงทุนต่างชาติยังคงขายหุ้นไทย 115,681.14 ล้านบาท
ด้านธนาคารกสิกรไทย ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทสัปดาห์หน้า 24-28 ก.ค.ที่ระดับ 33.80-34.70 บาท/ดอลลาร์ จากปิดตลาดในวันศุกร์ (21 ก.ค.) ที่ระดับ 34.40 บาท/ดอลลาร์ หลังแตะระดับแข็งค่าสุดในรอบ 2 เดือนที่ 33.75 บาท/ดอลลาร์ ระหว่างสัปดาห์
เงินบาทแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับสกุลเงินเอเชียและการปรับตัวขึ้นของราคาทองคำในตลาดโลก ขณะที่เงินดอลลาร์ ถูกกดดันในช่วงแรกจากการคาดการณ์ว่า แม้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยในการประชุม FOMC วันที่ 25-26 ก.ค. นี้ แต่ก็อาจจะเป็นการปรับขึ้นครั้งสุดท้ายของวัฏจักรดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้ นอกจากนี้เงินบาทยังมีแรงหนุนจากสถานะซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของต่างชาติ ขณะที่นักลงทุนตอบรับการเดินหน้าของกระบวนการด้านการเมือง
ส่วนบรรยากาศการลงทุนทั่วโลกในสัปดาห์นี้ ลุ้นการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางชั้นนำของโลกถึง 3 แห่ง ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะจัดการประชุมในวันที่ 25-26 ก.ค. ส่วนธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะจัดการประชุมในวันที่ 27 ก.ค. ปิดท้ายด้วยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ซึ่งจะจัดการประชุมวันที่ 27-28 ก.ค.
นักลงทุนเทน้ำหนักเกือบ 100% ในการคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในสัปดาห์นี้ FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า นักลงทุนให้น้ำหนัก 99.8% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.25-5.50% ในการประชุมวันที่ 25-26 ก.ค. และให้น้ำหนักเพียง 0.2% ที่เฟดจะคงอัตราดอกเบี้ยที่ระดับ 5.00-5.25%
นอกจากนี้ ตลาดมองว่าเฟดใกล้ยุติวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย หลังการเปิดเผยยอดค้าปลีก, ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ที่ต่ำกว่าคาด โดยนักลงทุนคาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในเดือนนี้เป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ ก่อนที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในปีหน้า
นอกจากนี้ นักลงทุนให้น้ำหนัก 40.4% ที่เฟดจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% สู่ระดับ 5.00-5.25% ในการประชุมวันที่ 19-20 มี.ค.2567 โดยเริ่มให้น้ำหนักเพิ่มขึ้นจากระดับ 34.7% เมื่อเดือนที่แล้ว
ผลการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์ พบว่า นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า ECB จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในวันที่ 27 ก.ค. ซึ่งอาจเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็นครั้งสุดท้ายในปีนี้ หลังจากปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 8 ครั้งติดต่อกัน โดยECB ได้เริ่มวงจรปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนับตั้งแต่เดือนก.ค.2565 เพื่อสกัดเงินเฟ้อ
ส่วนธนาคารกลางญี่ปุ่น ยิ่งน่าจับตามองเพราะสวนกระแสไม่ขึ้นดอกเบี้ยนโยบายเหมือนสหรัฐ ยูโรป เนื่องจากเศรษฐกิจญี่ปุ่นซบเบา แต่ในการประชุมรอบนี้อาจะเป็จจุดเปลี่ยนของนโยบาบการเงินของญี่ปุ่นก็เป็นได้เล่นกัน
สาเหตุเพราะ ข้อมูลดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานพุ่งขึ้น 3.3% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี สูงกว่าเป้าหมายของ BOJ ที่ระดับ 2% เป็นเดือนที่ 15 ติดต่อกัน ทั้งนี้ในการประชุมครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา BOJ มีมติคงนโยบายการเงิน โดยคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ -0.1% และคงนโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (yield curve control program) รวมทั้งคงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลญี่ปุ่นประเภทอายุ 10 ปีที่ระดับ 0%