นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ปาฐกถาพิเศษในโอกาสครบรอบ 90 ปี หอการค้าไทย ในงานสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศ ครั้งที่ 41 ที่ศูนย์นิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2566 โดยมีการกล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจไทย แสดงความเชื่อมั่นต่อนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน รวมถึงสิ่งที่น่ากังวล
SPOTLIGHT สรุปประเด็นผ่าน 6 มุมมองดังนี้
คุณธนินท์ ระบุว่า สำหรับเรื่องแรกที่อยากกล่าว คือ ต้องชมเชยรัฐบาลที่เพิ่งผ่านไป ที่นำโดยนายกฯประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่สามารถรักษาวินัยการเงิน-การคลังได้เป็นอย่างดี ทำให้ไทยจัดว่าเป็นเบอร์ต้นๆของโลกเรื่องการรักษาวินัยทางการเงิน แม้ว่าพบเจอกับสถานการณ์โควิด-19 หนี้สาธารณะของไทยยังแค่ 61% ต่อ GDP ขณะที่หลายประเทศทั่วโลกตัวเลขหนี้สาธารณะกว่า 100% ต่อ GDP
แต่วันนี้ต้องยอมรับว่า โลกกำลังเข้าสู่วิกฤตเศรษฐกิจของระดับโลก ยกเว้นสหรัฐเพราะทุกคนก็เชื่อมั่นการเงินอเมริกา แม้ว่าสหรัฐใช้มาตรการขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อแต่เงินก็ไหลเข้าสหรัฐ และมีหนี้สูงเกิน 100% สูงกว่า GDP แต่คนก็เชื่อมั่นในเศรษฐกิจสหรัฐ
สำหรับรัฐบาลชุดใหม่ คุณธนินท์ ระบุว่า ผมมีความเชื่อมั่นสูงมากว่าเข้ามาในเวลาที่ถูกต้องแล้ว ที่จะมาแก้ไขเรื่องเศรษฐกิจโดยเฉพาะนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ซึ่งทำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ใหญ่สุดเป็นที่หนึ่งของประเทศ แต่ในการบริหารการเงินการคลังก็บริหารได้อย่างเยี่ยม แสดงว่าไม่ได้เป็นแค่นักธุรกิจอสังหาเพียงอย่างเดียวแต่เป็นนักบริหารการเงินอย่างยอดเยี่ยมด้วยเช่นกัน เห็นได้จากกการออกบอนด์ ดอกเบี้ย 4% ที่รัฐบาลออกมาตรการออกมา ผมเห็นด้วย เพราะวันนี้เศรษฐกิจโลกไม่ปกติ เพราะฉะนั้นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องอย่าใช้วิธีปกติเพราะวิกฤติเศรษฐกิจไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะประเทศไทย
นายธนินท์ จึงมองว่า อย่าไปกลัวเงินเฟ้อ เพราะเงินเฟ้อที่ไม่มีเลยคือเงินฝืด ซึ่งนั้นคือความอันตรายและอาจทำให้เศรษฐกิจและประเทศชาติล้มละลายได้ เปรียบเหมือนเป็นความดันต่ำ ที่แจกยารักษาได้ยาก และถึงเวลาหนึ่งก็หัวใจหยุดเต้นและเสียชีวิตได้
นายธนินท์ กล่าวว่า การออกมาตรการพักหนี้เกษตรกร ตนเห็นด้วยอย่างยิ่งและไม่ได้เป็นการเสียวินัยการเงินการคลัง เนื่องจากไม่มีประเทศไหนเจริญรุ่งเรืองได้จากการไม่ปกป้องราคาสินค้าเกษตรให้สูง เพราะสินค้าเกษตรเป็นน้ำมันบนดินของประเทศไทย คนมองว่าสินค้าเกษตรไม่ค่อยมีค่า พอปลูกเสร็จ ข้าวเปลือกขายเข้าโรงสีก็จบแล้ว ตัวเลขรายได้ไม่ใช่ของเกษตรแล้ว เป็นของอุตสาหกรรม
แต่สินค้าเหล่านี้จะเพิ่มมูลค่าขึ้นอีก อย่างเช่นอ้อย เมื่อเกษตรกรขายอ้อยเช้าโรงสี โรงงานผลิตน้ำตาลก็กลายเป็นสินค้าของอุตสาหกรรมไปแล้ว ถ้าสินค้าเกษตรสามารถต่อยอด ให้เพิ่มมูลค่าขึ้นอีก 2-3 เท่า ประเทศไทยจะมีรายได้ที่สูงขึ้นอย่างแท้จริง เงินเข้าประเทศจะมากขึ้น และเก็บเกี่ยวไม่หมด แต่น้ำมันใต้ดินดูดแล้วหมด แต่น้ำมันบนดินเป็นพลังงานของมนุษย์ สำคัญกว่าน้ำมันใต้ดินอีก แต่น้ำมันหมดใช้นานเข้าก็หมด
ดังนั้น สินค้าเกษตรจึงสำคัญมากกว่าน้ำมัน จึงหวังว่ารัฐบาลชุดนี้คงไม่จำกัดราคาสินค้าเกษตร ราคาที่สูงขึ้นหากจำกัดราคาแบบนี้ เกษตรกรจะยากจนตลอด เพราะประเทศที่เจริญแล้ว จะมีนโยบายปกป้องสินค้าเกษตร และสำหรับประเทศไทยสินค้าเกษตรคือน้ำมันบนดิน รัฐบาลต้องปกป้องราคาสินค้าเกษตรให้มีราคาสูง อย่าแทรกแซงราคา เพื่อให้เกษตรกรอยู่รอด หากประเทศไทยสามารถต่อยอดสินค้าเกษตรให้เพิ่มมูลค่าได้ก็จะนำรายได้มหาศาลเข้าสู่ประเทศ
นอกจากนี้ นายธนินท์ ยังได้กล่าวฝากถึงนักธุรกิจ สมาชิกหอการค้าไทย ว่า ทุกวันนี้คนยากจนส่วนใหญ่มาจากเกษตรกรเลยทำให้หนี้นอกระบบเกิดขึ้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกพรรคการเมือง ราชการ และนักธุรกิจ ต้องมองผลประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก และผลประโยชน์ของบริษัทมาทีหลัง เพราะถ้าประเทศอยู่ไม่ได้ ประชาชนไม่มีกำลังซื้อ แล้วพวกเราที่ผลิตสินค้าจะขายให้ใคร
หลังจากที่นากนายกฯเศรษฐามีนโยบายเงินดิจิทัลคนละ 10,000 บาท ผมเห็นด้วยและสนับสนุนว่านโยบายนี้ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจไทย แต่ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องมีแผนที่ 2 ระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว โดยส่วนตัวผมเชื่อมั่นว่า หากพวกเราสามัคคีกันทั้งนักธุรกิจ ข้าราชการ นักการเมือง มองประเทศชาติเป็นหลัก เอาตัวเองเป็นที่ 3 ผมเชื่อมั่นว่าประเทศไทย ภายใต้การนำของรัฐบาลชุดใหม่ต้องเจริญรุ่งเรืองแน่นอน
คุณธนินท์ มองว่า แม้ว่าปัจจุบันโลกเราพบเจอกับวิกฤตในหลากหลายด้าน แต่ภาพตอนนี้ไม่เหมือนวิกฤตต้มยำกุ้ง เช่นเดียวกับกับอาเซียน 10 ประเทศ รวมถึงประเทศไทยยังเป็นประเทศที่น่าลงทุนในสายตาชาวโลก เพราะประเทศไทยที่มีชื่อเสียงด้านการเงินของไทยอยู่อันดับต้นๆ ของอาเซียน
ดังนี้เราควรมีแบบแผนหรือกฎที่สามารถดึงดูด เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนเข้ามาไทยมากขึ้น และในวันที่ประเทศที่มีแต่คนเก่ง ประเทศไทยจะเป็นที่น่าสนใจของบริษัทใหญ่ระดับโลกต่าง ๆ และจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเติบโตมากขึ้น
สุดท้ายนายธนินท์ ยังได้กล่าวเสริมถึงความกังวลใจ ว่า ประเทศไทยก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยเร็วไป จึงขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญ เนื่องจากอาจจะสร้างคนไม่ทัน พร้อมกันนี้ นายธนินท์ได้ชี้ให้เห็นว่า แม้ปัจจุบันโลกจะเข้าสู่ยุค 5.0 หรือธุรกิจตัวเบา ที่เน้นออนไลน์เป็นหลัก แต่แท้จริงแล้วธุรกิจการผลิตยังมีความสำคัญ การผลิตจะต้องปรับตัว ปรับต้นทุนให้ถูกลง และต้องทำให้ไฮเทคมากขึ้น เพราะอย่างไรออนไลน์ก็ยังต้องการผลิตในที่สุดนั่นเอง