ความมั่นใจต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยสหรัฐครั้งแรกเริ่มขยับไปสู่การประชุมช่วงเดือนมิถุนายน และเดือนสิงหาคม เพิ่มมากขึ้นซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่คณะกรรมการพิจารณานโยบายการเงินสหรัฐ หรือ FOMC จะเห็นภาพเศรษฐกิจ การจ้างงานและอัตราเงินเฟ้อที่ชัดเจนมากขึ้นก่อนจะตัดสินใจอนาคตทิศทางอัตราดอกเบี้ย
สำหรับนักลงทุน ที่ได้ลงทุนในทองคำไปแล้วอาจต้องทำใจให้เย็นหน่อย แม้ว่าราคาทองคำไม่พุ่งขึ้นเร็วอย่างใจปรารถนา แต่ไม่ได้หมายความว่า การลงทุนในสินทรัพย์ทองคำหมดเสน่ห์แล้ว ผลกระทบจากการคงอัตราดอกเบี้ยสหรัฐในระดับ 5.25-5.50% นั้น เริ่มส่งผลต่อการปรับลดการลงทุน และการบริโภคของคนสหรัฐที่สะท้อนออกมาอย่างต่อเนื่อง และประเมินว่า สหรัฐเองก็ไม่ประสงค์ที่จะคงอัตราดอกเบี้ยในระดับสูงนี้ไปนานจนเกินไป ซึ่งอาจเปลี่ยนภาพเศรษฐกิจที่คาดว่าจะเติบโตระดับต่ำ ไปสู่การหดตัวของเศรษฐกิจที่รุนแรงได้ นั่นหมายถึง ผลด้านบวกต่อราคาทองคำ อยู่ดี
ขณะเดียวกัน การซื้อสะสมทองคำของธนาคารกลางทั่วโลกมีเพิ่มมากขึ้นหลังจากมีภาวะสงครามระหว่างยูเครน และรัสเซีย ปาเลสไตน์กับอิสราเอล และสงครามเย็นระหว่างจีนกับสหรัฐ ซึ่งจากข้อมูลของ world gold council ชี้ว่าธนาคารกลางทั่วโลกสะสมทองคำเพื่อป้องกันความผันผวนในเชิงการเมืองระหว่างประเทศ และเศรษฐกิจเพิ่มอย่างต่อเนื่องนับจากไตรมาสสามของปี 2565-ปัจจุบันเทียบกับ ราคาทองคำในตลาดโลกที่ระดับ 1700-2000 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ซึ่งหมายถึง ราคาทองคำนั้น ยังคงมีความเสี่ยงที่จำกัดระหว่างรอสหรัฐพิจารณาอนาคตการปรับลดอัตราดอกเบี้ย
มุมมองของทีมวิจัยฯ หลักทรัพย์บัวหลวง ประเมินว่า ทิศทางของเศรษฐกิจโลกนั้นยังคงอยู่ใน late cycle
โดยน่าจะเห็นภาพเศรษฐกิจของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของโลกเติบโตที่น้อยลงในปี 2567 นี้ ดังนั้นเรายังแนะนำการมีสัดส่วนถือลงทุนทองคำ 12% จากสินทรัพย์ทั้งหมด โดยคาดว่าราคาทองคำยังคงมีปัจจัยด้านบวกที่จะผลักดันให้ราคาปรับเพิ่มจากระดับปัจจุบัน 2,018 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ไปสู่ระดับ 2,300 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ได้หรือคิดเป็น 13.9% ได้
ที่มา : World Gold Council
กรรมการผู้จัดการ สายงานค้าหลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน)