หลายๆคนคงรู้จักแบรนด์ Xiaomi ในฐานะบริษัทผู้นำด้านเทคโนโลยีและสมาร์ทโฟนรายใหญ่ของจีน ที่มีสินค้าแกดเจ็ต IT หลากหลายครอบคลุมชีวิตในประจำวันของเรา ตั้งแต่ สมาร์ทโฟนเสปกสูงราคาย่อมเยา, เครื่องฟอกอากาศ และหน้ากากกันฝุ่น PM 2.5, สมาร์ทีวี, พัดลมตั้งพื้น หรือ กล้องวงจรปิด CCTV
ล่าสุด แบรนด์ Xiaomi เตรียมกระโดดเข้าสู่ธุรกิจด้านรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัวขยายผลิตภัณฑ์เพิ่มลงในพอร์ตโฟลิโออย่างการเปิดตัวรถยนต์ไฟฟ้า Xiaomi SU7 ที่เป็นการจับมือระหว่าง 2 บริษัทยักษ์ใหญ่อย่าง Xiaomi และ Beijing Automotive Industry Holding Co. Ltd (BAIC) ที่มีดีกรีเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อันดับ 6 ของจีน
โดย รถยนต์ไฟฟ้า Xiaomi SU7 เป็นรถยนต์ซีดาน ฝังชิป NVIDIA DRIVE Orin สเป็กระดับซูเปอร์คาร์ อัตราเร่ง 0-100 กม./ชม. ได้ใน 2.78 วินาที สามารถวิ่งได้ระยะทางสูงสุด 800 กิโลเมตร/ชาร์จหนึ่งครั้ง ที่ได้เผยโฉมครั้งแรกที่ประเทศจีน เมื่อปลายเดือนธ.ค.66 ที่ผ่านมา แต่แม้ว่าจะยังไม่มีการเปิดเผยราคาอย่างเป็นทางการ แต่คาดว่าน่าจะเปิดตัวที่ราคา 400,000 หยวน หรือราว 1.95 ล้านบาท
รถยนต์ไฟฟ้า Xiaomi SU7 จะเข้ามาเจาะกลุ่มฐานผู้ใช้สมาร์ทโฟนระดับพรีเมียมเดิมของ Xiaomi ที่มีกว่า 20 ล้านคนภายในประเทศจีน และกว่า 500 ล้านคนทั่วโลกในผลิตภัณฑ์อื่นๆของทาง Xiaomi
ระบบ Xiaomi Hyper OS คาดว่าจะเข้ามามีบทบาทความสำคัญในรถยนต์ไฟฟ้า Xiaomi SU7 เนื่องจากทางบริษัท เรียกระบบนี้ว่า “คน X รถยนต์ X บ้าน “โดยที่สมาร์ทโฟนและรถยนต์อัจฉริยะอยู่ร่วมกันอย่างกลมกลืน
ระบบปฎิบัติการ Hyper OS จะเข้ามาสร้างความแตกต่าง สร้างประสบการณ์ที่ดีเยี่ยมให้ผู้ใช้งานผลิตภัณฑ์อื่นๆของ Xiaomi เปรียบเสมือนกาวที่เชื่อมโยงระบบนิเวศของ Xiaomi ที่ไม่ว่าใช้ผลิตภัณฑ์ไหนก็สามารถเชื่อมต่อกันได้อย่างไร้รอยต่อ
โดยมีจุดเด่น อย่างเช่น
ผู้ใช้งานสามารถควบคุมอุปกรณ์เกือบทุกอย่างได้จากในที่เดียว และรองรับการทำงานร่วมกันแบบข้ามอุปกรณ์ เช่น ซิงก์การแจ้งเตือนจากมือถือไปยังแท็บเล็ต สตรีมภาพจากกล้องมือถือไปยังหน้าจอแท็บเล็ตแบบเรียลไทม์ ก๊อบปี้และวางไฟล์ข้ามไปข้ามมาระหว่างอุปกรณ์
นับว่าเป็นศูนย์กลางการรับรู้ของระบบนิเวศอุปกรณ์ของ Xiaomi ที่มีความสามารถในการรับรู้และทำความเข้าใจสภาพแวดล้อม การมองเห็น เสียง และพฤติกรรม
โดยสิ่งเหล่านี้ จะถูกต่อยอดไปสู่ปัญญาประดิษฐ์เชิงรุก โดยระบบจะนำทั้งสี่อย่างนี้มาเรียนรู้และวิเคราะห์ว่า ควรทำอะไร ที่ไหน และเมื่อไหร่ จากนั้นจะส่งคำสั่งไปยังอุปกรณ์โดยอัตโนมัติ โดยที่ผู้ใช้งานไม่จำเป็นต้องสั่งงานเอง เช่น หากเปิดประตูห้องนั่งเล่น ไฟในห้องก็จะเปิดตาม
Xiaomi ได้มีการปรับปรุงการใช้งานของ NPU ร่วมกับระบบอื่นๆ เพื่อให้ Xiaomi AI Assistant ฉลาดกว่าเดิม รองรับฟีเจอร์ปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง เช่น text to image และ image extender
Giz China ได้มีการวิเคราะห์ไว้ว่า Xiaomi เป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้นำตลาดเรื่องของเทคโนโลยี โดยเฉพาะสมาร์ทโฟนและแกดเจ็ต IT เครื่องใช้ภายในบ้านที่มีราคาย่อมเยา การเข้ามาเจาะตลาดรถยนต์ไฟฟ้าที่มีผู้เล่นรายใหญ่ผลัดกันชิงบัลลังก์เจ้าตลาด อย่าง BYD หรือ Tesla นับเป็นเรื่องยาก ยิ่งผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าต้องเล่นสงครามราคาเพื่อจูงใจผู้ซื้อ หรือพยายามพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เหนือกว่าคู่แข่งออกมาให้ได้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีความท้าทายเหล่านี้ แต่ Xiaomi ก็เป็นหนึ่งในบริษัทขนาดใหญ่ ที่มีฐานผู้ใช้งานในจีนกว่า 20 ล้านคน มีผลิตภัณฑ์อื่นๆที่ครบวงจร ทำให้ความสามารถทั้งในเรื่องของเทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของบริษัท รวมถึงระบบนิเวศ หรือ Ecosystems ที่ครบวงจรที่เป็นจุดเด่นของบริษัท ก็อาจเป็นตัวเร่งที่สามารถขับเคลื่อนจากบริษัทสมาร์ทโฟนยักษ์ใหญ่ ไปสูหนี่งในผู้เล่นที่น่าเกรงขามในอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าก็เป็นไปได้
ที่มา