ในปีที่ผ่านมา เป็นที่ทราบกันดีว่า เศรษฐกิจสหรัฐไม่ได้เข้าสู่ภาวะถดถอยดังที่หลายฝ่ายคาดการณ์ ยิ่งไปกว่านั้น เศรษฐกิจสหรัฐมีการเติบโตที่ 2.5% แข็งแกร่งมากที่สุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจชั้นนำ G7 ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ แม้สร้างมุมมองเชิงบวกต่อทั้งเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก แต่กระนั้น การเติบโตดังกล่าว มีส่วนหนุนให้เงินเฟ้อของสหรัฐยังคงค้างตัวในระดับสูง อันเป็นเหตุให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ยังคงมีการขึ้นอัตราดอกเบี้ยการประชุมรอบเดือนก.ค. ปี 2023
จากสถานการณ์ข้างต้น การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในช่วง 3 ไตรมาสแรก จึงเป็นไปในลักษณะสลับขึ้นลง อย่างไรก็ดี ในช่วงโค้งสุดท้ายของปี ราคาทองคำมีการปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่ง จากทั้งสถานการณ์ความตึงเครียดในพื้นที่ตะวันออกกลาง หลังการปะทุขึ้นของการสู้รบระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส และอีกประเด็นที่สำคัญที่ขับเคลื่อนราคาทองคำในช่วงดังกล่าว คือ กระแสคาดการณ์การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟดที่รวดเร็วและรุนแรงในปี 2024
หากพิจารณาแล้ว พบว่า สถานการณ์ช่วงท้ายปี 2023 มีความคล้ายคลึงในช่วงเริ่มต้นปี 2023 ที่หลายฝ่ายมีความเชื่อมั่นต่อแนวโน้มการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ทว่าปัจจัยเบื้องหลังของความเชื่อมั่นในช่วงต้นปีและท้ายปีของตลาดนั้น นับว่ามีรายละเอียดที่แตกต่างกัน โดยในช่วงต้นปี 2023 ตลาดคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจสหรัฐจะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ และอาจเป็นภาวะถดดถอยที่รุนแรง ซึ่งภาวะดังกล่าวจะกดดันให้เงินเฟ้อมีแนวโน้มปรับตัวลงอย่างรวดเร็ว อันเป็นสถานการณ์ชี้นำให้เฟดต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ย
ขณะที่ในช่วงปลายปีที่ผ่านมา ปัจจัยเบื้องหลังของความเชื่อมั่นดังกล่าว คือ การส่งสัญญาณของเฟด และกระบวนการปรับตัวลงของเงินเฟ้อในสหรัฐ ส่วนมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐ แม้หลายฝ่ายยังเผื่อโอกาสต่อความเป็นไปในการเกิดภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐ แต่ขณะเดียวกัน ส่วนหนึ่งของตลาดมีการให้น้ำหนักต่อคาดการณ์ที่เศรษฐกิจสหรัฐอาจสามารถหลีกเลี่ยงภาวะถดถอยได้สำเร็จอีกครั้งในปีนี้เช่นกัน โดยอาจมีทิศทางชะลอตัวลงในรูปแบบซอฟท์แลนดิ้ง อันเป็นสถานการณ์ที่เฟดไม่จำเป็นต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดต่อไป
อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่ช่วงหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงินของเฟด (FOMC) รอบเดือนธ.ค. จนถึงกลางเดือนม.ค. ที่ผ่านมา กระแสคาดการณ์ของตลาดนั้น นับว่ารุนแรงกว่าคาดการณ์ของเฟดเป็นอย่างมาก โดยปัจจุบัน แม้นักลงทุนมีการให้ความเป็นไปได้ต่อการปรับลดอัตราดอกเบี้ยของเฟด ที่ยังคงรุนแรงกว่าคาดการณ์ของเฟด โดยจากรายงานประมาณการภาวะเศรษฐกิจสหรัฐล่าสุด ระบุถึงตัวเลขคาดการณ์ระดับอัตราดอกเบี้ยสุดท้ายในปี 2024 ของเฟดที่ระดับ 4.6% หรือกรอบ 4.50-4.75% ซึ่งเท่ากับการปรับลดเพียง 3 ครั้งในปีนี้เท่านั้น ขณะที่นักลงทุนให้ความเป็นไปได้ที่การปรับลดราว 4 ครั้ง
จากการปรับกระแสคาดการณ์ดังกล่าว นับว่าเป็นการปรับลู่เข้าสู่คาดการณ์ของเฟด ซึ่งเป็นคาดการณ์ที่มีโทนความเข้มงวดกว่าคาดการณ์ของตลาดในช่วงแรก ทำให้กระแสคาดการณ์ของตลาดที่เปลี่ยนมาในทิศทางนี้ ค่าเงินดอลลาร์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐจึงได้รับแรงกดดันที่อ่อนกำลังลง และฟื้นตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งกดดันให้ราคาทองคำเคลื่อนไหวในระดับที่ต่ำลง
ทั้งนี้ นักเศรษศาสตร์ประเมินว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ย ตามแนวโน้มการเกิดซอฟท์แลนดิ้งของเศรษฐกิจสหรัฐ จะอยู่ที่ไม่เกิน 4 ครั้ง หรือเพียง 1.00% กระแสคาดการณ์ของตลาดในปัจจุบัน จึงสะท้อนถึงความเชื่อมั่นที่เพิ่มมากขึ้นต่อการเกิดซอฟท์แลนดิ้งของเศรษฐกิจสหรัฐ
สอดคล้องกับการปรับเพิ่มประมาณการเติบโตของเศรษฐกิจสหรัฐในปี 2024 ของสถาบันการเงินหลายแห่ง รวมถึงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ซึ่งแนวโน้มเช่นนี้ หนุนให้ค่าเงินดอลลาร์รักษาระดับการเคลื่อนไหวไว้ได้ ราคาทองคำจึงอาจไม่ได้ปรับตัวขึ้นอย่างแข็งแกร่งตามที่เคยถูกคาดการณ์ไว้
สภาทองคำโลก (WGC) ประเมินว่า หากเศรษฐกิจสหรัฐเกิดซอฟท์แลนดิ้ง เฟดอาจลดอัตราดอกเบี้ยลงเพียง 0.75-1.00% สู่ระดับไม่ต่ำกว่า 4.25-4.50% ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ ราคาทองคำมีแนวโน้มเคลื่อนไหวในลักษณะสลับขึ้นลง โดยอาจยังไม่มีการสร้างระดับสูงสุดใหม่
อย่างไรก็ดี คาดการณ์จากทางซิตี้กรุ๊ปชี้ว่า ราคาทองคำมีโอกาสปรับตัวขึ้นแตะระดับ 3,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายใน 12-18 เดือน หลังจากนี้หากมีสถานการณ์สนับสนุนอย่าง การเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นเป็นอย่างมากของกลุ่มธนาคารกลาง ไม่ว่าจะมาจากความเสี่ยงของภาวะเศรษฐกิจถดถอย หรือความเป็นไปได้ที่อาจเกิดภาวะถดถอยพร้อมเงินเฟ้อสูง (Stagflation) รวมถึงความต้องการลดการถือครองดอลลาร์เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ โดยในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา กลุ่มธนาคารกลางมีการเข้าซื้อทองคำสุทธิทะลุกว่า 1,000 ตัน ซึ่งหากมีความเสี่ยงที่เร่งให้ธนาคารกลางซื้อทองคำสุทธิสู่ระดับ 2,000 ตัน ราคาทองคำจะปรับตัวขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง
อนึ่ง แม้ธนาคารกลางอาจไม่ได้ซื้อทองคำมากถึงระดับดังกล่าว แต่การเข้าซื้อทองคำเพิ่มขึ้นสุทธิอย่างต่อเนื่องของเหล่าธนาคารกลาง ก็ยังนับเป็นปัจจัยหนุนที่สำคัญของราคาทองคำ โดยคาดว่า หากธนาคารกลางยังคงมีแนวโน้มซื้อทองคำสุทธิเพิ่มขึ้นในปีนี้ ขณะที่เฟดปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงไม่ต่ำกว่า 1.00% ในปีนี้ ราคาทองคำอาจสร้างระดับสูงสุดใหม่ที่ 2,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ภายในปี 2024 ซึ่งจะเป็นสร้างระดับสูงสุดใหม่ตลอดกาล แม้เศรษฐกิจสหรัฐเกิดซอฟท์แลนดิ้งก็ตาม
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท YLG Bullion And Future จำกัด