นับว่าเป็นการเซอร์ไพร์สกันไปตามๆ กัน เมื่อคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง 0.25% จาก 2.50% มาอยู่ที่ 2.25% โดย กนง.จุดยืนของนโยบายการเงินที่เป็นกลางยังเหมาะสมกับแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ทำให้เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี
SPOTLIGHT ได้รวบรวมหลากหลายมุมมองจากทั้งนักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัย ภาคเอกชน และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์มองอย่างไร? จะช่วยหนุนเศรษฐกิจไทยอย่างไร? ข้อดีของการลดดอกเบี้ยมีอะไรบ้าง?
คุณสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า “การปรับลดดอกเบี้ยของแบงก์ชาติในครั้งนี้ ภาพออกมาดี ที่นโยบายการคลังกับนโยบายการเงิน สอดคล้องไปในทิศทางเดียวกัน ซึ่งสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนทั่วโลกได้ ถือว่าเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกก็อยู่ในทิศทางที่ผ่อนคลาย ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้
โดยเชื่อว่าจะช่วยให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวเพิ่มขึ้น โดยจะเห็นได้ชัดในไตรมาส 4 ปีนี้ โดยเฉพาะค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่าจนเกินไป ซึ่งจะช่วยเอื้อให้ผู้ส่งออกและภาคท่องเที่ยวแข่งขันได้ดีขึ้น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเป็นหนึ่งในภาระต้นทุนที่ผู้ประกอบการภาคธุรกิจ และประชาชนต้องแบกรับ การลดครั้งนี้ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทย ฟื้นตัวเร็วขึ้น
คุณพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า “มติ 5-2 ของ กนง.ให้ลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมครั้งนี้ ถือว่าเซอร์ไพรส์พอสมควร เนื่องจากคาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจของ กนง. ไม่ได้ต่างไปจากเดิมอย่างมีนัยสำคัญ แต่เป็นไปได้ว่า กนง.ได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับความเสี่ยงของคุณภาพสินเชื่อที่ด้อยลง ทำให้ กนง.ตัดสินใจลดดอกเบี้ยลง เพื่อบรรเทาภาระหนี้ หลัง กนง.มั่นใจว่ากระบวนการปรับลดหนี้ครัวเรือนจะไม่ได้รับผลกระทบจากการลดดอกเบี้ย”
แม้ในการประชุมครั้งนี้ กนง.จะไม่ได้ส่งสัญญาณที่ชัดเจนต่อแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยในการประชุมครั้งถัดไป แต่ทว่า มองว่า มีโอกาสที่ กนง.จะเดินหน้าลดดอกเบี้ยสู่ระดับ 2.00% ในการประชุมเดือนธันวาคมนี้ หากโดนัลด์ ทรัมป์ คว้าชัยชนะในการเลือกตั้งสหรัฐฯ ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดสงครามการค้าในปีหน้า จนกระทบต่อการค้าโลกและภาคการส่งออกของไทยได้อย่างมีนัยสำคัญ
นอกจากนี้ ยังไม่ปิดโอกาสที่ กนง.อาจพิจารณาปรับลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมในปีหน้า สู่ระดับ 1.50%-1.75% ได้ แม้ว่า กนง.จะย้ำว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายควรอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ โดยต้องไม่ต่ำเกินไป จนสร้างปัญหาในระยะยาว
จึงประเมินว่า หาก Real Neutral Rate ของไทยลดลงสู่ระดับ 0.25% จากแถว 0.50% ตามศักยภาพเศรษฐกิจที่ลดลง นั่นอาจสะท้อนว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมและเป็นกลางของไทยอาจอยู่แถว 2.00%-2.25% บนคาดการณ์แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อแถว 2% ดังนั้น หากแนวโน้มเศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญชะลอตัวลงหนัก เช่น เศรษฐกิจจีนแทบไม่ได้ฟื้นตัวดีขึ้นชัดเจน หลังทางการจีนออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจขนานใหญ่ล่าสุด กนง. ก็สามารถลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมได้จากระดับที่เป็นกลางดังกล่าว เพื่อช่วยพยุงเศรษฐกิจ
อนึ่ง ต้องจับตาการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายอย่างใกล้ชิด ในงานสัมนา Monetary Policy Forum วันที่ 30 ตุลาคม รวมถึงผลการเลือกตั้งสหรัฐฯ ในวันที่ 5 พฤศจิกายน และแนวโน้มเศรษฐกิจหลักรวมถึงทิศทางนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลัก โดยเฉพาะ เฟด เพื่อประเมินแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายของ กนง.
โดยคุณรุ่ง สงวนเรือง ผู้อำนวยการอาวุโส ผู้บริหารฝ่ายส่งเสริมธุรกิจโกลบอลมาร์เก็ตส์ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “SPOTLIGHT” ว่า การปรับลดดอกเบี้ยของกนง.ในครั้งนี้ ได้สร้างความประหลาดใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากในแถลงข่าวแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่เปลี่ยนจากที่ กนง ประเมินไว้อย่างมีนัยสำคัญ แต่เข้าใจได้เว่า จะพราะเป็นเรื่องภาวะการเงินตึงตัว และต้องการช่วยบรรเทาภาระหนี้
ขณะที่เศรษฐกิจไทยปีนี้ กรุงศรีฯ ยังคงประมาณการ จีดีพี ปีนี้ไว้ที่ 2.4% ส่วนค่าเงินบาท อ่อนจาก 33.3 ก่อนประกาศ ขึ้นไป 33.4 แล้วแข็งค่ากลับลงมาที่ 33.2 ตามราคาทองคำตลาดโลกที่เพิ่มขึ้นนะคะ
คุณสรพล วีระเมธีกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ หัวหน้าทีมกลยุทธ์การลงทุน บล.กสิกรไทย เปิดเผยกับ SPOTLIGHT ว่า การปรับลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ครั้งนี้ ถือว่าเซอร์ไพร์สตลาด เนื่องจากคาดการณ์ว่า กนง.จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยในการประชุมเดือนธ.ค.2567 ซึ่งเหตุหลักเป็นเรื่องของหนี้ครัวเรือนเป็นหลัก ขณะที่มุมมองของเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อยังมีมุมมองที่เหมือนเดิม แต่ก็เห็นด้วยกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้
โดยมีมุมมองการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งนี้ มีดังนี้
ดังนั้น มองว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยนั้น มีโอกาสที่จะปรับลดลงไปอยู่ที่ระดับ 2.00% ซึ่งประเมินว่า เมื่อครั้งนี้ดอกเบี้ยลดแล้ว ในการประชุมครั้งหน้าจะหยุดลดดอกเบี้ย และมีโอกาสที่จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งประมาณกลางปี 2568
อย่างไรก็ตาม การปรับลดอัตราดอกเบี้ยประมาณ 0.10% ก็มีโอกาสส่งผลให้ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ของไทยปรับเพิ่มขึ้นได้ 20-25 จุด ซึ่งบล.กสิกรไทย วางเป้าหมายดัชนีหุ้นไทยไว้ที่ 1,600 จุดในปี 2568 ซึ่งกลุ่มอุตสาหกรรมที่จะได้ประโยชน์จากการปรับลดดอกเบี้ยครั้งนี้ ได้แก่ กลุ่มไฟแนนซ์ กลุ่มโรงไฟฟ้า และอสังหาริมทรัพย์ อาทิเช่น GPSC ORI และ MTC
ขณะที่ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การปรับลดดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งนี้จะช่วยบรรเทาภาระหนี้ได้บ้าง ท่ามกลางคุณภาพสินเชื่อที่ปรับด้อยลงโดยเฉพาะธุรกิจ SMEs และครัวเรือนที่รายได้ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่และมีภาระหนี้สูง สะท้อนมุมมองว่า กนง.ให้น้ำหนักต่อความเสี่ยงด้านเสถียรภาพการเงินเพิ่มขึ้น โดย กนง.เห็นว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ลดลงยังอยู่ในระดับที่เป็นกลางและสอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจ ซึ่งกนง. ยังมีมุมมองต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจไม่แตกต่างจากเดิม
โดยมองว่า เศรษฐกิจไทยจะขยายตัวที่ 2.7% ในปี 2567 และ ที่ 2.9% ในปี 2568 ขณะที่มองเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่กรอบล่างของเงินเฟ้อ ทำให้กนง. มีมติปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ลงมาอยู่ที่ 2.25% สวนทางตลาดคาดว่าจะมีการปรับลดดอกเบี้ยในเดือนธ.ค.ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม เป้าหมายกนง.ในช่วงปลายปีนี้ และมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำส่วนหนึ่งจากปัจจัยเชิงโครงสร้าง ซึ่งกนง.ปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลงเล็กน้อยมาอยู่ที่ 0.5% ในปี 2567 และ 1.2% ในปี 2568
ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ในการประชุมครั้งหน้าในเดือนธ.ค. 2567 แนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายยังมีความไม่แน่นอนสูงซึ่งคงขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในระยะข้างหน้าเป็นสำคัญ และมองมีโอกาสที่กนง.อาจปรับลดดอกเบี้ยต่อเนื่องในการประชุมครั้งหน้า หากความกังวลของกนง.เกี่ยวกับสถานการณ์หนี้ยังไม่คลี่คลายลง
อย่างไรก็ดี หากธนาคารพาณิชย์มีการปรับลดดอกเบี้ยตาม รวมถึง หากแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อเป็นไปตามคาด ก็มีโอกาสที่กนง.อาจคงดอกเบี้ยนโยบายในการประชุมครั้งหน้า ซึ่งกนง.คงพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายจากข้อมูลที่ออกมาระหว่างทางเป็นสำคัญ รวมถึง คงต้องติดตามมาตรการทางการคลังที่อาจออกมาเพิ่มเติม
ทั้งนี้ หลังจากผลการประชุมกนง. ออกมาค่าเงินบาทขยับอ่อนค่าเล็กน้อยจากระดับ 33.27 บาทต่อดอลลาร์ฯ มาอยู่ที่ราว 33.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยตอบรับด้วยการปรับขึ้นจากระดับ 1,467 จุดมาอยู่เหนือระดับ 1,480 จุด
กล่าวโดยสรุป คือ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกนง.ในครั้งนี้ ได้สร้างความเซอร์ไพร์สให้กับตลาดเป็นอย่างมาก เห็นได้จากดัชนีตลาดหุ้นได้จากที่อยู่ในแดนลบ กลับขึ้นมาอยู่ในแดนเขียวทันทีหลังจากที่มีการประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขึ้นไปแตะระดับสูงสุดเกือบ 23 จุด
โดยในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ มีความน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง เมื่อประมาณการเศรษฐกิจภาพรวมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีการลดดอกเบี้ยลง ทำให้หลายฝ่ายมีการตั้งคำถามว่า แบงก์ชาติยังมีความเป็นอิสระในการดำเนินนโยบายการเงินอยู่หรือไม่? หรือแบงก์ชาติเชื่อว่า การปรับลดดอกเบี้ยในครั้งนี้จะเอื้อประโยชน์ต่อเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภาระหนี้ครัวเรือนได้จริงๆ
ดังนั้น จากนี้ไปคงต้องติดตามดูธนาคารพาณิชย์จะขานรับและตอบสนองกับการลดอัตราดอกเบี้ยของกนง.ได้มากน้อยแค่ไหน และมีความรวดเร็วหรือไม่ อย่างไร? ประชาชนจะได้ประโยชน์อย่างแท้จริงใช่ไหม?