จากกรณีที่นายเอกภพ เหลืองประเสริฐ หรือ ‘เอก สายไหม’ ผู้ก่อตั้งเพจสายไหมต้องรอด ออกมาแฉความผิดปกติ เมื่อพบว่า เส้นเงินผิดปกติกว่า 247,911,936 USDT หรือกว่า 8,223 ล้านบาท ถูกโอนออกไปก่อนที่ ‘โค้ชแล็ป’ ดิไอคอนกรุ๊ป จะถูกจับเพียง 1 ชั่วโมง
ทำให้สังคมเกิดการตั้งคำถามมากมาย ทั้งสงสัยว่า USDT คืออะไร? มีกระบวนการที่สามารถถสืบหาเส้นทางการเงินได้หรือไม่? และการโอนเงินเข้าแพลตฟอร์มคริปโต คือ การฟอกเงินหรือไม่?
SPOTLIGHT ได้มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษกับ ‘นเรศ เหล่าพรรณราย' ประธานเจ้าหน้าที่ปฎิบัติการ ‘เมตาที’ และนายกสมาคมสินทรัพย์ดิจิทัลไทย ตั้งแต่การทำงานขั้นต้นของ USDT ไปจนถึงช่องโหว่ของการใช้งานคริปโตในไทย
‘USDT’ เป็นเหรียญคริปโตประเภทหนึ่งที่เรียกว่า ‘Stablecoin’ มีมูลค่าคงที่ หรือมักเปลี่ยนแปลงเพียงเล็กน้อยประมาณ 1-2% ซึ่งต่างจากเหรียญคริปโตอื่นๆ เช่น บิตคอยน์ หรือ Ethereum ที่ราคามีความผันผวนอย่างมาก ทำให้ USDT คล้ายกับการถือครองสกุลเงินต่างประเทศ
USDT ออกโดยบริษัท ‘Tether’ ซึ่งมีหน้าที่ควบคุมดูแลทั้งซัพพลายและราคาที่อ้างอิงกับสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐฯ โดย Stablecoin มักถูกใช้ในธุรกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการโอนเงิน หรือการใช้เป็นคู่เทรดในการซื้อขายคริปโต ทำให้มีความนิยมมากขึ้น โดยเฉพาะ USDT ที่มีส่วนแบ่งในตลาดโลกมากถึง 75%
จุดเด่นของ USDT คือ ‘ความเสถียร’ ของราคา ทำให้การโอนเงินสะดวกและประหยัดค่าธรรมเนียม และยังถูกใช้เป็นสกุลเงินในการซื้อขายคริปโต เนื่องจากช่วยลดความผันผวนในการทำธุรกรรม เมื่อเทียบกับการใช้เงิน Fiat ทั่วไป ตัวอย่างเช่น การซื้อบิตคอยน์ที่มีราคาประมาณเหรียญละ 70,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ ด้วย Stablecoin
สำหรับกรณีของ ‘ดิไอคอนกรุ๊ป’ ที่สังคมสงสัยว่า มีการฟอกเงินหรือไม่ ‘นเรศ’ กล่าวว่า ยังไม่สามารถระบุได้ชัดเจนว่า การโอนเงิน 8 พันล้านบาท มีความเกี่ยวข้องกับคดีของดิไอคอนกรุ๊ปหรือไม่ เนื่องจากตามหลักการ แพลตฟอร์มเทรดคริปโตทำหน้าที่คล้ายกับสถาบันการเงินรูปแบบหนึ่ง ที่มีการโอนเหรียญ USDT มูลค่าสูงระหว่างกันเป็นเรื่องปกติ
สิ่งที่ทราบในขณะนี้ คือ 'ชื่อ' ของแพลตฟอร์มที่ใช้ในการซื้อขาย แต่ก็ยังไม่สามารถยืนยันได้ว่า บัญชีที่ทำการโอนหรือซื้อ-ขายนั้น เกี่ยวข้องกับคดีดิไอคอนกรุ๊ปหรือไม่?
อย่างไรก็ตาม หากเงินมูลค่า 8 พันล้านบาท มีความเกี่ยวข้องกับคดีจริง การตรวจสอบเส้นทางเงินและเชื่อมโยงกลับไปยังตัวบัญชีที่โอนเงิน จะสามารถทำได้ค่อนข้างง่าย หากแพลตฟอร์มเทรดเป็น ‘centralized exchange’ หรือมีใบอนุญาตหรืออยู่ภายใต้การกำกับดูแล เนื่องจากแพลตฟอร์มมักให้ความร่วมมือกับรัฐบาล และหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายในการตรวจสอบคดีความ หรือการทำธุรกรรมต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่น ‘สำนักงานตำรวจแห่งชาติ’ ที่ทำงานร่วมกับแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง ‘Binance’ หากต้องการข้อมูลการทำธุรกรรม ก็สามารถขอความร่วมมือได้ไม่ยาก โดยเฉพาะหากเป็นธุรกรรมที่เกิดขึ้นในประเทศไทย กับผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตตามกฎหมาย
แต่หากเป็นแพลตฟอร์ม ‘decentralized exchange’ ที่ไม่มีการลงทะเบียนผู้ใช้งาน และขาดการกำกับดูแลอย่างเป็นทางการ การตรวจสอบจะยากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากเหรียญถูกโอนเข้าสู่กระเป๋าเงินดิจิทัลส่วนตัวของเจ้าของบัญชี เนื่องจากผู้ใช้งานครอบครองรหัสกุญแจส่วนตัว ซึ่งถ้ารหัสถูกลืมหรือสูญหาย ก็จะไม่สามารถเข้าถึงเงินได้
ไม่เพียงเท่านี้ ธุรกรรมบล็อกเชนเป็นการทำธุรกรรมแบบเรียลไทม์ และไม่มีการจำกัดจำนวนเงินในการโอน ทำให้เงินสามารถส่งไปยังปลายทางได้ทันที แต่หากมีการซื้อ-ขาย หรือการดำเนินการในแพลตฟอร์มที่มีสภาพคล่องสูงและขนาดใหญ่ อาจมีการกำกับดูแลเพิ่มเติม
‘นเรศ’ เปิดเผยว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา หรือช่วงเริ่มต้นของคริปโตอย่าง ‘บิตคอยน์’ จะถูกใช้ในธุรกิจสีเทา หรือสีดำด้วยซ้ำในบางกรณี แต่ปัจจุบัน คริปโตมีการนำมาใช้งานในระบบการเงินที่กว้างขึ้น และไม่ได้เกี่ยวข้องกับธุรกิจสีเทาโดยตรง 100% อีกต่อไป
การมองว่า คริปโตมีช่องโหว่ที่อาจถูกใช้ในการ ‘ฟอกเงิน’ ก็เป็นไปได้สำหรับ ‘นเรศ’ แต่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นเสมอไป ด้วยคุณสมบัติในยุคดิจิทัล คริปโตมีความสะดวกสบายมากกว่าการถือเงินสดไปซื้อสินทรัพย์ เช่น ทองคำ งานศิลปะ หรือนาฬิกาหรู ที่มีสภาพคล่องต่ำ และยากต่อการเคลื่อนย้าย
นอกจากนี้ การตรวจสอบธุรกรรมบนบล็อกเชนสามารถทำได้ง่าย เพียงแค่ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับเทคโนโลยี และการใช้เครื่องมือ เนื่องจากระบบบล็อกเชนช่วยสามารถตรวจสอบธุรกรรมได้ มีความโปร่งใส และไม่มีใครสามารถเปลี่ยนแปลงธุรกรรมบนบล็อกเชนได้ ต่างจากระบบธนาคารที่เจ้าของอาจมีอำนาจในการแก้ไขธุรกรรม
รวมถึง ทั้งผู้ประกอบการ และแพลตฟอร์มคริปโต ได้ปรับตัวเข้าหาสถาบันการเงินดั้งเดิม เพื่อให้แพลตฟอร์มเหล่านี้เติบโต เนื่องจากธนาคารมีเม็ดเงินมากกว่าผู้ลงทุนรายย่อย พวกเขาจำเป็นต้องรักษามาตรฐานที่สามารถรองรับการลงทุนจากสถาบันการเงินด้วย
‘นเรศ’ มองแนวโน้มการใช้งานของ Stablecoin ว่า จะเติบโตขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการใช้งานที่แพร่หลายทั่วโลก เช่น ‘สิงคโปร์’ ที่สนับสนุนการใช้ Stablecoin ในการทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะเมื่อเปรียบเทียบกับการทำธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศแบบดั้งเดิม ที่มักมีค่าธรรมเนียมสูงเกือบ 10% และอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน การโอนผ่าน Stablecoin มีความรวดเร็วมาก และค่าธรรมเนียมต่ำกว่าอย่างมาก
หลายประเทศจึงเริ่มเปิดรับการใช้งาน Stablecoin ให้สามารถเข้ามาทำงานร่วมกับระบบการเงินปกติ ซึ่งจะทำให้เห็นการใช้งานที่แพร่หลายมากขึ้น โดยเฉพาะหากอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของสถาบันการเงินที่ชัดเจน ทำให้การฟอกเงินผ่านช่องทางนี้ทำได้ยากขึ้น