ธนาคารกลางสหรัฐขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามคาดพร้อมงลดงบดุลลง 4.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ/เดือน หั่นคาดการณ์ GDP เหลือ แต่สินทรัพย์การลงทุนกลับดีดตัวขึ้น เพราะปรับลงอย่างหนักรับข่าวไปก่อนหน้านี้แล้ว
ขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75%
ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ได้ออกแถลงการณ์ภายหลังการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (FOMC) ซึ่งเสร็จสิ้นลงในวันพุธที่ 15 มิ.ย.ตามเวลาสหรัฐ โดยสรุปคือ เฟดมีความกังวลเกี่ยวกับการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐอย่างมาก ทั้งปัญหาสงครามรัสเซีย ยูเครน และ การที่จีนล็อคดาวน์จากโควิด ล้วนแล้วแต่ทำให้เกิดภาวะชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน และส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อเป็นวงกว้าง คณะกรรมการได้ตัดสินใจปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยระยะสั้นขึ้น 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% และคาดว่าการปรับเพิ่มกรอบเป้าหมายอัตราดอกเบี้ยขึ้นอีกในวันข้างหน้า
ในการคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบาย (Dot Plot) เจ้าหน้าที่เฟดคาดการณ์ว่าอัตราดอกเบี้ยจะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 1.75% ภายในปีนี้ และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 3.8% ในสิ้นปี 2566 และชะลอตัวสู่ระดับ 3.4% ในปี 2567 ขณะที่อัตราดอกเบี้ยระยะยาวอยู่ที่ 2.5%
นอกจากนี้ คณะกรรมการจะยังคงปรับลดการถือครองพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐและตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันการจำนอง (MBS) ตามที่ได้อธิบายไว้ในแผนการปรับลดขนาดงบดุลบัญชีของเฟด (Plans for Reducing the Size of the Federal Reserve's Balance Sheet) รวมจำนวน 4.75 หมื่นล้านดอลลารสหรัฐ/เดือน หลังจากที่ได้เริ่มดำเนินการเมื่อวันที่ 1 มิ.ย. และนับตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. เฟดจะเพิ่มวงเงินในการลดขนาดงบดุลเป็น 2 เท่า สู่ระดับ 9.5 หมื่นล้านดอลลาร์/เดือน โดยคณะกรรมการมีความมุ่งมั่นที่จะทำให้อัตราเงินเฟ้อกลับสู่เป้าหมายที่ระดับ 2%
เฟดได้ปรับลดตัวเลขคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐในปีนี้ สู่ระดับ 1.7% จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 2.8% ในเดือนมี.ค. และคาดว่าจะขยายตัว 1.7% ในปี 2566 นอกจากนี้ เฟดคาดว่าเงินเฟ้อจะพุ่งแตะระดับ 5.2% ในสิ้นปีนี้ จากเดิมคาดการณ์ที่ระดับ 4.3% และจะชะลอตัวสู่ระดับ 2.6% และ 2.2% ในปี 2566 และ 2567 ตามลำดับ
สำหรับกรรมการเฟดผู้ที่ออกเสียงสนับสนุนการดำเนินนโยบายการเงินของ FOMC ในการประชุมครั้งนี้ ได้แก่ เจอโรม เอช พาวเวล ประธานเฟด, จอห์น ซี วิลเลียมส์ รองประธานเฟด, มิเชล ดับเบิลยู โบวแมน, ลาเอล เบรนาร์ด, เจมส์ บูลลาร์ด, ลิซา ดี คุก, แพทริค ฮาร์เกอร์, ฟิลลิป เอ็น เจฟเฟอร์สัน, ลอเร็ตตา เจ เมสเตอร์ และคริสโตเฟอร์ เจ วอลเลอร์ ส่วนผู้ที่ออกเสียงคัดค้านการดำเนินนโยบายการเงินครั้งนี้ได้แก่ เอสเธอร์ แอล จอร์จ ซึ่งต้องการให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.50%
นายกิติชาญ ศิริสุขอาชา ผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์รายย่อย บล.ซีจีเอส-ซีไอเอ็มบี (ประเทศไทย) กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยเช้านี้ปรับตัวขึ้นตามตลาดหุ้นทั่วโลก หลังผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% ตามที่ตลาดคาดไว้ ส่งผลให้ตลาดหุ้นสหรัฐรีบาวด์ฟื้นตัวขึ้น และตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียเช้านี้ก็บวกไปแล้วราว 2% โดยตลาดบ้านเราก็น่าจะบวกตามไปด้วยจากการ Buy on fact หลังก่อนหน้านี้มีการเทขายกันอย่างหนัก
ขณะที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลง 3% หลังสหรัฐเปิดเผยสต็อกน้ำมันพุ่งขึ้นสวนทางกับการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ รวมถึงถูกกดดันจากการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดด้วย ซึ่งน่าจะกดดันต่อหุ้นกลุ่มพลังงานปรับตัวลงมา อย่างไรก็ตามวันนี้คาดว่าหุ้นกลุ่มธนาคารพาณิชย์ และหุ้นที่ถูกเทขายไปก่อนหน้านี้ ที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น จะปรับตัวขึ้นหนุนดัชนี
แนะนักลงทุนติดตามการประกาศหุ้นเข้า-ออก SET50, SET100, การประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 วันพรุ่งนี้ เกี่ยวกับการยกเลิกมาตรการ Thailand Pass และ FTSE Rebalance ซึ่งจะมีผลเริ่มใช้ 17 มิ.ย. 2565 นี้
ให้แนวรับไว้ที่ 1,585-1,590 จุด และแนวต้าน 1,610-1,618 จุด