ร้านสะดวกซื้อเชนใหญ่ในเกาหลีตั้งตู้ขาย ‘ทองแท่งจิ๋ว’ พบขายดีในกลุ่มคนอายุ 30-39 ปี ที่กำลังหาช่องทางลงทุนในภาวะเงินเฟ้อ ค่าเงินอ่อน และราคาทองกำลังเพิ่มขึ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ไม่แน่นอนท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์
ในเวลานี้ สินทรัพย์ลงทุนยอดฮิตคงหนีไม่พ้น 'ทองคำ' ที่ราคามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่อยู่ในความผันผวนไม่แน่นอน โดยจากต้นปีถึงปัจจุบัน (9 พฤษภาคม 2567) ราคา Spot Gold เพิ่มขึ้นแล้วประมาณ 12% จาก 2,058.96 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ มาเป็น 2,315 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ และขึ้นไปแตะระดับสูงสุดที่ 2431.52 ดอลลาร์สหรัฐ/ออนซ์ ในเดือนเมษายน
ปัจจุบัน การลงทุนในทองมีความสะดวกสบายมากขึ้น ไม่ได้มีแต่เพียงการซื้อทองแท่งหรือทองรูปพรรณในร้านขายทองเท่านั้น แต่ยังมีกองทุนทองและการออมทองในแพลตฟอร์มของร้านทองต่างๆ
ล่าสุด ในเกาหลีใต้ ได้มีการทำตู้ขาย ‘ทองแท่งจิ๋ว’ ขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับคนที่อยากลงทุนทองแต่มีทุนทรัพย์น้อยเกินกว่าจะซื้อทองแท่งหรือทองรูปพรรณ หรือไม่สะดวกไปร้านทอง
จากการรายงานของ CNBC ปัจจุบัน ตู้ขายทองแท่งพบได้ในเชนร้านสะดวกซื้อ 2 เชนของเกาหลีใต้คือ CU Mart เชนร้านสะดวกซื้อที่ใหญ่ที่สุดในเกาหลีใต้ และ GS25 ซึ่งมีจำนวนร้านสะดวกซื้อทั่วเกาหลีใต้กว่า 10,000 สาขา
GS25 ได้เริ่มจำหน่ายทองแท่งในร้านตั้งแต่เดือนกันยายนปี 2565 ลูกค้าสามารถเลือกซื้อทองได้ 5 ขนาด ตั้งแต่ 0.13 ออนซ์ (3.68 กรัม) จนถึง 1.3 ออนซ์ (36 กรัม) ซึ่งจะมีมูลค่าเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ตามราคาทองโลกในขณะนั้น โดยจะมีราคาและเรทแลกเปลี่ยนให้ลูกค้าตรวจสอบได้บนจอ
ตัวแทนจาก GS25 ให้ข้อมูลกับสำนักข่าวเกาหลีว่าทองขนาดที่ขายดีที่สุดคือ 0.13 ออนซ์ ซึ่งเป็นขนาดที่เล็กที่สุด และในปี 2566 มีราคาประมาณ 8,300 บาทต่อแผ่น และกลุ่มคนที่ซื้อทองแท่งเหล่านี้มากที่สุดก็คือกลุ่มคนอายุ 20-29 ปี และ 30-39 ปี ซึ่งเริ่มมีกำลังซื้อ และกำลังหาสินทรัพย์ที่ลงทุนได้สะดวกและปลอดภัย
ล่าสุด ในเดือนเมษายนที่ผ่านมา CU Mart ก็เริ่มนำตู้ขายทองมาติดตั้งในบริการลูกค้าบ้างแล้ว โดย CU ได้ร่วมมือกับ Korea Minting and Security Printing Corporation (KOMSCO) ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบการพิมพ์ธนบัตรและออกเหรียญของเกาหลีใต้
ทั้งนี้ แม้จะมาช้ากว่า ทองแท่งที่จำหน่ายใน CU มีข้อได้เปรียบคือมีขนาดเล็กกว่าทองแท่งใน GS25 ทำให้มีราคาเริ่มต้นต่ำกว่า โดย CU มีขนาดทองแท่งเริ่มตั้งแต่ 0.1 กรัม ไปจนถึง 1.87 กรัม ปัจจุบันสนนราคา 77,000 วอน หรือราว 2,000 บาท ต่อ 0.5 กรัม 113,000 วอนหรือราว 3,000 บาท ต่อ 1 กรัม และ 225,000 วอน หรือราว 6,000 บาทต่อ 1.87 กรัม โดยขนาดที่ขายดีที่สุดคือขนาด 1 กรัม ที่ขายหมดภายในระยะเวลาเพียง 2 วัน
นอกจากนี้ จากการเก็บสถิติตั้งแต่เดือนเมษายนยังพบว่า กลุ่มลูกค้าที่ใหญ่ที่สุดของทองแท่งในร้าน CU คือกลุ่มประชากรอายุ 30-39 ปี ที่ยอดซื้อคิดเป็น 41% ของยอดซื้อทั้งหมด ตามมาด้วยกลุ่มคนอายุ 40-49 ปีที่คิดเป็น 35.2% กลุ่มคนอายุ 50-59 ปี ที่คิดเป็น 15.6% และกลุ่มคนอายุ 20-29 ปี ที่คิดเป็น 6.8%
จากข้อมูลของ สภาทองคำโลก (World Gold Council) ในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 ดีมานด์สำหรับทองแท่งและเหรียญทองในเกาหลีใต้เพิ่มขึ้นไปเป็น 5 ตัน หรือเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 27% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เพราะต้องการกระจายความเสี่ยงจากภาวะเงินเฟ้อ ความไม่มั่นคงทางเศรษฐกิจจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ และภาวะค่าเงินอ่อน
ข้อมูลของ Korea Gold Exchange ระบุว่า ในปีนี้ ราคาทองในเกาหลีใต้พุ่งไปแตะระดับสูงสุดที่ 456,000 วอน หรือราว 12,287 บาท ต่อ 0.13 ออนซ์ ขณะที่ค่าเงินวอนอ่อนลงกว่า 5% จากต้นปี
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า ดีมานด์สำหรับทองที่เพิ่มขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะในหมู่คนอายุน้อยเป็นผลโดยตรงมาจากสภาพเศรษฐกิจ และความรู้สึกไม่มั่นคง เพราะสำหรับคนอายุน้อย การระบาดของโควิด-19 ภาวะเศรษฐกิจซบเซา และAภาวะเงินเฟ้อที่ตามมา น่าจะเป็นวิกฤตเศรษฐกิจแรกที่พวกเขาเคยเจอในชีวิต
โดยนอกจากเกาหลีแล้ว เหล่าวัยรุ่นในจีนเองก็กำลังนิยมซื้อทองในรูปแบบทองเม็ดขนาดเล็กเม็ดละ 1 กรัมในขวดแก้ว เพราะมองว่าเป็นตัวเลือกการลงทุนที่ปลอดภัยในยุคที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอน ที่ได้รับผลกระทบจากทั้งวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ การแข่งขันทางการค้ากับสหรัฐฯ และอัตราการว่างงานที่สูง