การเงิน

มาแล้ว! อัพเกรดกองทุน TESG ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท แต่...

4 ส.ค. 67
มาแล้ว! อัพเกรดกองทุน TESG ลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 300,000 บาท แต่...

เมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2567 ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติหลักการร่างกฎกระทรวง ในหัวข้อการารปรับปรุงมาตรการภาษีเพื่อส่งเสริมการลงทุนเพื่อความยั่งยืนของประเทศไทย โดยเป็นการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ทางภาษีให้แก่การลงทุนในกองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG) เป็นการพิเศษ สำหรับการซื้อตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 โดยเพิ่มทั้งวงเงินการหักลดหย่อนภาษี และ ลดระยะเวลาการถือครองหน่วยลงทุนลง

แต่ก่อนจะไปพูดถึงเงื่อนไขที่เปลี่ยนแปลง เรามาทบทวนหลักการของค่าลดหย่อนตัวนี้กันก่อนดีกว่าครับ

เดิม กองทุนไทยเพื่อความยั่งยืน หรือ Thailand ESG Fund หรือ TESG ได้เริ่มเปิดขายหน่วยลงทุนตั้งแต่วันที่ 8 ธันวาคม 2566 เป็นต้นไป โดยผู้ที่ซื้อหน่วยลงทุนในกองทุน TESG จะสามารถใช้สิทธิลดหย่อนภาษีประจำปี 2566 ถึงปี 2575 (ที่ต้องยื่นภาษีในช่วงต้นปี 2567 ที่ผ่านมา) 

สำหรับนโยบายการลงทุนของกองทุนรวมจะนำเงินที่ได้จากการขายหน่วยลงทุนไปลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทที่ดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social, and Governance หรือ ESG) โดยการลงทุนในตราสารทุน (หุ้น) จะลงทุนในบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยที่อยู่ในรายชื่อหุ้นยั่งยืน (Thailand Sustainability Investment หรือ THSI) ของตลาดหลักทรัพย์ฯ 

ส่วนการลงทุนในตราสารหนี้จะลงทุนในตราสารหนี้กลุ่มความยั่งยืน (Sustainable Bond)  ตามหลักเกณฑ์ของสำนักงาน ก.ล.ต. ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) ตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) และตราสารหนี้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond) โดยจะลงทุนในหลักทรัพย์ของบริษัทไทยเท่านั้นและในส่วนของเงื่อนไขการลดหย่อนภาษีมีดังนี้ครับ 

  • ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 100,000 บาท 
  • เงื่อนไขในการถือครองหลังจากซื้อไม่น้อยกว่า 8 ปี (เต็ม) 
  • ซื้อปีไหนสามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ในปีนั้น และสามารถซื้อได้ตั้งแต่ปี 2566 – 2575
  • ไม่มีกำหนดจำนวนเงินซื้อขั้นต่ำ (ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของแต่ละกองทุน) 

โดยวงเงินในการซื้อกองทุน TESG  จะไม่ถูกนับรวมกับ กลุ่มลดหย่อนเพื่อเกษียณ เช่น กองทุนรวมเพื่อส่งเสริมการออมระยะยาว (SSF), กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD), กองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.), กองทุนสงเคราะห์ครูโรงเรียนเอกชน กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) และเบี้ยประกันชีวิตแบบบำนาญ ที่ปัจจุบันถูกกำหนดเพดานลดหย่อนภาษีรวมกันได้ไม่เกิน 500,000 บาท แต่เป็นสิทธิ์ในการลดหย่อนภาษีแยกต่างหากออกมาเลย 

ทีนี้ส่วนที่มาเปลี่ยนแปลงในระหว่างวันที่ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2567 จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2569 นั้นจะเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมในส่วนของการลดหย่อน และ ระยะเวลาถือหน่วยลงทุนตามนี้ครับ 

  • ผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนได้ 30% ของเงินได้ที่ต้องเสียภาษี ตามที่จ่ายจริงและสูงสุดไม่เกินจำนวน 300,000 บาท (จากเดิมคือ 100,000 บาท)
  • เงื่อนไขในการถือครองหลังจากซื้อไม่น้อยกว่า 5 ปี (เต็ม) (จากเดิมคือ 8 ปีเต็ม) 

หากสรุปเป็นรูปภาพสั้น ๆ ง่าย ๆ ในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงของกองทุนตัวนี้ น่าจะสรุปได้ตามรายละเอียดดังนี้ครับ 

กองทุนรวมไทยเพื่อความยั่งยืน (TESG)

และก็มาถึงคำถามที่หลายคนตั้งคำถามต่อว่า เราควรซื้อกองทุนนี้ในช่วงปี 2567-2569 ไหม คำตอบที่ผมพอจะแนะนำได้คือ เรามองเห็นโอกาส (รวมถึงเข้าใจความเสี่ยง) การเติบโตในหุ้นและตราสารหนี้ของธุรกิจที่ดำเนินงานตามหลัก ESG ในประเทศไทยหรือไม่ ร่วมกับการถือครองกองทุนตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดในการลดหย่อนภาษีเป็นจำนวน 5 ปีเต็มได้หรือเปล่า

ซึ่งถ้าหากคำตอบคือ มั่นใจ ถือครองได้ ก็กลับมาเช็คสิทธิ์ลดหย่อนที่เราสามารถซื้อได้ (30% ของเงินได้สูงสุดไม่เกิน 300,000 บาท) และเงินในกระเป๋าที่เรามีว่าพอไหม ? ถ้าทุกอย่างครบอย่างที่ว่ามาก็ตัดสินใจได้ไม่ยาก แต่ถ้าหากมีคำถามสักข้อหนึ่งในนี้ ก็ขอให้คิดทบทวนให้ดีก่อนจะตัดสินใจอีกครั้งหนึ่งครับ 

อย่าลืมถามวัตถุประสงค์ของตัวเอง เรื่องเป้าหมายการเงิน ความเสี่ยง และการใช้ชีวิต หลังจากนั้นค่อยแนะนำไล่เรียงไปตามลำดับความสำคัญ และค่อยมองหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จะช่วยเราได้ เพราะมันคือเงินที่เรามี และชีวิตที่เราต้องตัดสินใจนั่นเองครับ ;)

ถนอม เกตุเอม

ถนอม เกตุเอม

ผู้เชี่ยวชาญด้านภาษี เจ้าของเพจ TAXBugnoms

advertisement

SPOTLIGHT