หนึ่งในความฝันสูงสุดสำหรับใครที่ยังอยู่ในวัยทำงานก็คือการได้ใช้ชีวิตวัยเกษียณที่สุขสบาย มีทั้งกำลังทรัพย์และเวลาไปทำสิ่งที่ตัวเองชอบ แต่จากผลสำรวจ การกลับไปอยู่บ้านไปวันๆ โดยไม่ได้ทำงานอาจกลายเป็นฝันร้ายที่สุดสำหรับพนักงานชาวเอเชียบางคน เพราะพวกเขาคิดว่าตัวเองจะรู้สึกไร้ค่าหากไม่ได้ทำงาน ถึงแม้จะยังมีเงินใช้สบายๆ
ผลการสำรวจนี้มาจากรายงาน Workmonitor รายงานสำรวจแนวโน้มพฤติกรรมการทำงานทั่วโลกที่จัดทำโดย Randstad บริษัทที่ปรึกษาและให้บริการด้านการบริหารจัดการบุคคลจากเนเธอร์แลนด์ รายงานนี้สำรวจแนวคิดด้านการทำงานจากพนักงาน 35,000 คนทั่วโลก จาก 34 ประเทศ
ผลในรายงานชี้ว่า คนทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะเกษียณงานก่อนอายุ 65 ปีน้อยลง โดยในปีนี้มีเพียง 50% เท่านั้นที่คิดว่าตัวเองสามารถเกษียณงานได้ก่อนอายุถึง 65 ปี เทียบกับ 61% จากปีที่แล้ว โดยประมาณ 70% ตอบว่า ปัจจัยที่ทำให้พวกเขาไม่อยากเกษียณคือ ‘เงินเฟ้อ’ เพราะพวกเขากังวลว่าหากหยุดทำงาน เงินที่เก็บไว้จะลดค่าลงตามเวลา ทำให้คุณภาพชีวิตในบั้นปลายไม่ดีอย่างที่คิดไว้
อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เรื่องเงินและค่าครองชีพจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนอยากเลื่อนการเกษียณออกไปก่อน สำหรับคนบางกลุ่ม โดยเฉพาะ ‘คนเอเชีย’ ปัจจัยนี้ก็ไม่ใช่ปัจจัยเดียว เพราะนอกจากจะเสียทางทำเงินไปแล้ว พวกเขามองว่าการเกษียณจะทำให้พวกเขาเสีย ‘คุณค่า’ ในตัวเอง หรือ ‘เป้าหมาย’ ในชีวิตไปด้วย
คนอินเดียและจีนเกินครึ่ง มองว่าการทำงาน ‘จำเป็น’ กับชีวิต
จากรายงานดังกล่าว สิ่งที่ทำให้คนเอเชียต่างจากคนในพื้นที่อื่นๆ ในโลกมากก็คือ ค่านิยมยึดถืองานเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นสิ่งที่สร้างความหมายให้กับชีวิต ทำให้รู้สึกว่าตัวเองยังมีประโยชน์กับอะไรซักอย่างบนโลก
โดยจากการสำรวจ ผู้ตอบแบบสอบถาม 66% จากอินเดีย และ 61% จากจีน ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 และอันดับ 2 ของโลก มองว่างานคือสิ่งจำเป็นในชีวิต ที่เมื่อขาดไปแล้วจะทำให้ชีวิตไร้ความหมาย ซึ่งจะนำไปสู่ความรู้สึกที่ว่าตัวเองไม่มีค่าอะไรอีกแล้ว โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามชาติอื่นๆ ในเอเชีย เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ และญี่ปุ่น ตามมาด้วย 45%, 43% และ 34% ตามลำดับ ซึ่งทั้งหมดมากกว่าค่าเฉลี่ย 32% จากทั่วโลก
Randstad กล่าวว่าเทรนด์นี้สะท้อนแนวคิดของคนเอเชียที่มีแนวโน้มจะให้ความสำคัญกับงาน และการมีปฏิสัมพันธ์และสร้างประโยชน์ในสังคมรอบข้าง โดยพวกเขามองว่างานเป็นสิ่งที่ให้ความหมายกับชีวิต ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเอง ‘มีค่าและได้รับการเคารพ’ ไม่ใช่แค่สิ่งที่ทำให้มีเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ คนเอเชียถึง 21% ยังรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่าและจำเป็นต่อบริษัท ซึ่งถือว่าสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของทั้งโลกซึ่งอยู่ที่ 12% และคิดว่านายจ้างจะห้ามพวกเขาไม่เกษียณเพราะคิดว่าพวกเขายังจำเป็นกับบริษัท
การที่คนเกษียณช้าลงอาจช่วยบรรเทาปัญหาแรงงานขาดแคลน
ถึงแม้แนวคิดมองการทำงานเป็นเป้าหมายชีวิต และการทำงานไปจนจะทำไม่ไหวจะเป็นแนวคิดที่ค่อนข้างสุดโต่ง การที่คนเอเชียอยากเกษียณช้าลงอาจส่งผลดีต่อเหล่านายจ้างในเอเชียเพราะมันอาจบรรเทาปัญหาแรงงานขาดแคลนในอนาคตได้
ในปัจจุบัน ประเทศเอเชียหลายๆ ประเทศได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแบบเต็มตัวแล้ว และมีอัตราการเกิดต่ำลงเรื่อยๆ จนจำนวนประชากรลด ทำให้ในอนาคตอาจเจอปัญหาประชากรวัยแรงงานไม่พอขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ เพราะฉะนั้นการที่คนงานที่มีประสบการณ์ตัดสินใจเกษียณงานช้าลงอาจทำให้บริษัทเหล่านี้ไม่ขาดแรงงานคุณภาพดีไปก่อนวัยอันควร
อย่างไรก็ตาม ในโลกการทำงานยุคใหม่ แรงงานโดยเฉพาะแรงงานอายุน้อยหลายคนก็ต้องการอะไรจากงานมากกว่าเงิน เพราะความมั่นคง และสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิตก็สำคัญ ที่ทำงานยุคใหม่จึงต้องพยายามตอบโจทย์ความต้องการนี้ทั้งหมดเพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานที่มีความสามารถไว้ โดยเฉพาะในตลาดงานที่คนกำลังน้อยลงเรื่อยๆ อย่างตลาดงานเอเชีย
นอกจากนี้ บริษัทอาจจะค่อยๆ ลดภาระงานให้พนักงานที่มีอายุสูงลงเพื่อให้พนักงานเหล่านี้ค่อยๆ เกษียณอายุไปช้าๆ ไม่ใช่ให้ตัดขาดการทำงานไปเลยในวันสุดท้ายของการทำงาน
ที่มา: CNBC