อินไซต์เศรษฐกิจ

โอลิมปิกส์จีน 2022 เวทีเปิดตัว "หยวนดิจิทัล" สู่โลก

21 ม.ค. 65
โอลิมปิกส์จีน 2022 เวทีเปิดตัว "หยวนดิจิทัล" สู่โลก

       “จีน”อาจจะไม่ใช่ประเทศแรกที่เปิดตัวสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยรัฐ (CBDC) แต่จีนกำลังจะเป็น “ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ประเทศแรก” ที่ใกล้จะเปิดตัวเงิน CBDC ออกมาอวดโฉมให้โลกได้เห็น ผ่านมหกรรมโอลิมปิกส์เกมฤดูหนาว Beijing Games 2022 ที่กำลังจะเริ่มขึ้นในวันที่ 4 ก.พ. นี้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทั่วโลกจับตามองมากกว่าใครจะเป็นจ้าวเหรียญทองโอลิมปิกส์เสียอีก 

15458189572630

เรื่องนี้นับเป็นการพลิกเกม “เศรษฐกิจ-การเมือง” ครั้งใหญ่ของจีน และทำไมเรื่องนี้ถึงสำคัญ ทีมข่าว SPOTLIGHT ขอรวบรวมทุกประเด็นที่น่ารู้มาดังนี้

 

หยวนดิจิทัล คืออะไร เหมือน/ต่าง กับคริปโตเคอร์เรนซี อย่างไร

       เงินหยวนดิจิทัล (e-CNY) คือสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง (Central Bank Digital Currency: CBDC) ของประเทศจีน แต่หยวนดิจิทัล “ไม่ใช่” คริปโตเคอร์เรนซี และ “ไม่ใช่” Stablecoin เพราะมีความแตกต่างต่างกันหลายเรื่อง เช่น 

  • e-CNY มีสถานะเป็น “เงิน” ที่ออกโดยรัฐและได้รับการรับรองจากรัฐ ให้ใช้ชำระเป็นค่าสินค้าและบริการได้ตามกฎหมาย ในทางกลับกัน สถานะของคริปโต คือ “สินทรัพย์” (Asset) ไม่ใช่เงิน ดังนั้น หลายประเทศจึงไม่รองรับการใช้คริปโตซื้อสินค้าและบริการ และบางประเทศนั้นแม้จะไม่ออกกฎห้าม แต่ก็ไม่สนับสนุนการใช้งานคริปโต 

    000_94j3zl(1)

  • e-CNY มีค่าเท่ากับเงินหยวนตามปกติ หรือ 1 e-CNY = 1 หยวน เพราะมันคือเงินหยวนในตัวเองอยู่แล้ว แค่เปลี่ยนรูปแบบเป็นดิจิทัล ต่างจากคริปโตที่ไม่มีสินทรัพย์หนุนหลัง ราคาจึงมีความผันผวนสูง เพราะขึ้นอยู่กับดีมานด์การซื้อขายในตลาดเป็นหลัก ส่วน Stable coin นั้น แม้จะมีสินทรัพย์หนุนหลัง เช่น Tether (USDT) ที่อิงกับดอลลาร์สหรัฐ แต่ USDT เป็นสินทรัพย์ ไม่ใช่เงิน และไม่ได้รับการรับรองโดยรัฐ

 

ทำไมจีนต้องออก หยวนดิจิทัล

       ที่จริงแล้ว ธนาคารกลางในหลายประเทศเริ่มศึกษาเงิน CBDC กันมาได้ราว 2 ทศวรรษแล้ว โดยเฉพาะหลังจากที่เงินคริปโตอย่าง “บิตคอยน์” เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้นและทำราคาดีดขึ้นไปแตะ 1,000 ดอลลาร์/BTC เป็นครั้งแรกเมื่อปลาย 2013 ซึ่งทำให้จีนที่เริ่มศึกษา CBDC มาระยะหนึ่งแล้ว ประกาศเดินหน้าจริงจังด้วยการตั้งคณะทำงานศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะในปี 2014

       เวลาพูดถึง CBDC หลายคนมักจะคิดว่ารัฐทำเพื่อแข่งกับคริปโตเป็นหลัก แต่สำหรับจีนนั้น เหตุผลในการทำเงินหยวนดิจิทัลมีทั้ง “ปัจจัยภายนอก” และ “ปัจจัยภายใน” หลายอย่าง ซึ่งเมื่อรวมกับสเกลความใหญ่โตและอิทธิพลของจีนแล้ว หยวนดิจิทัลจึงไม่ได้เป็นแค่เรื่องสกุลเงินดิจิทัล แต่เป็นเรื่อง”เศรษฐกิจ-การเมือง” ระดับโลกที่หลายฝ่ายต้องจับตา โดยเราอาจแบ่งเป็น 3 เหตุผลหลัก คือ 

  • แข่งกับเงินคริปโตเคอร์เรนซี และแข่งกับเงิน CBDC ประเทศอื่นๆ

       เมื่อหัวใจหลักของคริปโตเคอร์เรนซี คือการ “ไร้ศูนย์กลาง” (Decentralized) ซึ่งไม่มีคนกลางควบคุม และสามารถปกปิดข้อมูลผู้ทำธุรกรรมได้ คริปโตจึงกลายเป็น “ศัตรู” ของจีนที่เน้นการรวมศูนย์ (Centralized) จึงไม่น่าแปลกใจที่จีนไม่กระมิดกระเมี้ยนเหมือนแบงก์ชาติในหลายประเทศ และประกาศกฎหมายชัดเจนในการกวาดล้างคริปโตภายในจีน ตั้งแต่การขุด การเทรด การใช้ และทุกๆ ทางที่เกี่ยวกับคริปโต โดยทยอยออกกฎควบคุมตั้งแต่ประมาณปี 2013 จนถึงปัจจุบันที่ประกาศให้คริปโตเป็นเรื่อง “ผิดกฎหมาย” ในจีน และทำให้จีนจรังจังกับการเดินหน้า CBDC 

  • ปรับโฉมระบบการเงินในประเทศ ที่ถูกผูกขาดโดยเอกชน

       PBOC หรือธนาคารกลางจีน ไม่ได้แข่งขันแค่กับคริปโตเมืองนอกเท่านั้น แต่ยังต้องแข่งขันกับฟินเทคภาคเอกชนในประเทศเองด้วย เมื่อระบบการชำระเงินในประเทศถูกผูกขาดอยู่แค่ 2 บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ คือ Alipay จากค่าย Alibaba ของแจ๊คหม่า และ WeChat Pay จากค่าย Tencent ของหม่าฮั่วเถิง ซึ่งในปี 2018 ประชาชนตามเมืองใหญ่ๆ ของจีน มีการใช้แอปพลิเคชันของ 2 เจ้านี้ไปถึง 92% และสิ่งที่เอกชนได้ไม่ใช่แค่ระบบชำระเงิน แต่เป็น “Data” ข้อมูลผู้บริโภคขนาดมหาศาลทั้งประเทศ นำไปสู่การต่อยอดพัฒนาธุรกิจดิจิทัลอื่นๆ อย่างเป็นระบบ

000_8ul86c

       ในมุมหนึ่ง นี่คือระบอบตลาดที่ปล่อยให้เอกชนแข่งขันและพัฒนาประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าย่อมหนีไม่พ้นการผูกขาดของบริษัทใหญ่เพียงไม่กี่ราย แต่ประเทศก็จะได้ประโยชน์จากการปล่อยให้เอกชนเป็นผู้นำ ทว่า ในมุมของรัฐบาลคอมมิวนิสต์จีน “ความมั่นคงของชาติ” (National Security) ย่อมมาก่อนทุกสิ่ง และเมื่อจีนเริ่มมองว่าความยิ่งใหญ่ของเอกชนเป็นความเสี่ยงที่อาจมีปัญหาในการควบคุมตามมา จีนจึงเริ่มการ “จัดระเบียบ” ภาคเทคโนโลยีในประเทศมาตั้งแต่ปลายปี 2020 จนถึงปัจจุบัน

  • ลดการพึ่งพาดอลลาร์ ส่งออกเงินหยวนสู่โลกมากขึ้น

       จีนพยายามผลักดันเรื่องลดการพึ่งพาเงินดอลลาร์สหรัฐ และส่งออกเงินหยวนให้โลกหันมาใช้มากขึ้นตลอดช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา ในช่วงแรกๆ การใช้เงินหยวนทั่วโลกยังต่ำมาก แต่จีนก็ผลักดันหลายวิธี ตั้งแต่การผลักดันให้เงินหยวนไปอยู่ในตะกร้ารวมสกุลเงินของ IMF, การตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (AIIB) หรือธนาคารที่เน้นปล่อยกู้ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้ประเทศกำลังพัฒนาเป็นสกุลเงินหยวน 

000_1no7vh

       แต่หลังจากเกิดสงครามการค้ากับสหรัฐในยุคโดนัลด์ ทรัมป์ และท่าทีความเป็นศัตรูระหว่างสหรัฐ-จีน ก็ยังไม่แผ่วลงจนถึงปัจจุบัน ทำให้จีนต้องยิ่งผลักดันสกุลเงินของตัวเอง และลดการพึ่งพิงดอลลาร์ลง การใช้เงินหยวนดิจิทัล หรือ e-CNY จะทำให้จีนรู้ข้อมูลและควบคุมระบบเงิน-เศรษฐกิจได้ดีขึ้น และยังสามารถ “ส่งออก” ระบบเงินดิจิทัล ไปยังประเทศคู่ค้า-คู่ลงทุนของจีน ซึ่งเป็นที่คาดว่า “แอฟริกา” อาจเป็นภูมิภาคแรกที่ได้ชิมลางเงินหยวนดิจิทัล เพราะนอกจากจะเป็นพันธมิตรในเชิงยุทธศาสตร์เศรษฐกิจแล้ว ก็ยังใช้เทคโนโลยีหลายอย่างของจีน โดยเฉพาะ “โทรศัพท์มือถือ” ที่มีการฝังกระเป๋าเงิน e-CNY เอาไว้ล่วงหน้าแล้ว    

 

ทำไมโอลิมปิกส์ฤดูหนาวถึงสำคัญกับ "หยวนดิจิทัล"

       เพราะจีนมีแผนที่จะเปิดตัวโปรเจกต์หยวนดิจิทัลในปี 2022 นี้ และตั้งใจใช้เวที Beijing Games 2022 เป็นเวทีเปิดตัวสำหรับการทดลองใช้ โดยเฉพาะให้ชาวต่างชาติที่เข้าร่วมสามารถใช้เงินหยวนดิจิทัลได้ด้วย แม้ว่าจะไม่มีบัญชีในจีนก็ตาม

       เมื่อต้นปี 2565 นี้ แบงก์ชาติจีนได้เปิดตัวแอปพลิเคชั่นกระเป๋าสตางค์เงินหยวนให้ดาวน์โหลดสำหรับประชาชนทั่วไปแล้ว ไม่จำกัดเฉพาะในเมืองทดลองนำร่องอีกต่อไป โดยแอปที่มีชื่อว่า "e-CNY (Pilot Version)" พัฒนาโดยสถาบันวิจัยเงินดิจิทัลของธนาคารประชาชนจีน สามารถดาวน์โหลดได้ทั้งบน iOS และ Android ในจีน

appleistore

       เป็นที่คาดว่าจีนจะผลักดันให้เกิดการทดลองใช้ในงานที่จะมีผู้แทนจากแต่ละประเทศมาเข้าร่วม โดยที่ผ่านมาจีนได้ทดลองตามงานอีเวนต์ใหญ่ๆ ไปบ้างแล้ว และมีการผลักดันให้ร้านค้าใหญ่ๆ หันมารับเงินหยวนดิจิทัลกันมากขึ้น โดยมีรายงานในปีที่แล้วว่า “แมคโดนัลด์” เชนฟาสต์ฟู้ดรายใหญ่ของโลก เป็นหนึ่งในบริษัทใหญ่ที่เข้าร่วมโครงการนำร่องชำระสินค้าด้วยหยวนดิจิทัล เช่นเดียวกับ “วีซ่า” หนึ่งในผู้สนับสนุนหลักในการจัดงานโอลิมปิกฤดูหนาวครั้งนี้ และ “ไนกี้” ผู้สนับสนุนหลักทีมชาติสหรัฐเช่นกัน

000_9wp2nu
       และเนื่องจากชาวจีนมีบัญชีของเอกชนอย่าง Alipay และ WeChat Pay มากกว่าหยวนดิจิทัล เราจึงได้เห็นการประกาศเป็นพันธมิตรระหว่าง 2 ค่ายเอกชนนี้ กับการรับชำระหยวนดิจิทัลแล้ว เพื่อไม่ให้เกิดรอยต่อของการใช้งาน ไม่ว่าจะด้วยแรงกดดันจากรัฐบาลจีนหรือไม่ก็ตาม จึงไม่น่าแปลกใจที่บัญชีผู้ใช้งานเงินหยวนดิจิทัล e-CNY จะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากบัญชีผู้ใช้ราว 140 ล้านคน ในเดือน ต.ค. 2021 ผ่านมายังไม่ถึง 3 เดือนเต็ม ยอดผู้ใช้งานได้พุ่งขึ้นไปแตะ 261 ล้านคนแล้ว ในการเปิดเผยล่าสุดเมื่อวันที่ 19 ม.ค. 2022 หรือเพิ่มขึ้นมาเกือบ 2 เท่า ท่ามกลางการใช้งานใน 11 เมืองทั่วประเทศ และการโหมโปรโมชั่นของรัฐบาล เพื่อให้ หยวนดิจิทัล เปิดตัวเป็นต้นแบบ CBDC กับโลกได้พร้อมที่สุด ในเร็ววันนี้
 

 

เปิดไทม์ไลน์ “เงินหยวนดิจิทัล”

“จีน” เร่งเครื่องแข่ง “CBDC/คริปโตโลก”

 

  • 2010 - มีการทำธุรกรรม Bitcoin เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก
  • 2013 - Bitcoin ทำราคาแตะ 1,000 USD เป็นครั้งแรก
  • 2014 - จีนตั้งกลุ่มวิจัยศึกษา CBDC
  • 2015 - Tether (USDT) ซึ่งเป็นเงิน stable coin เริ่มการเทรดครั้งแรก 
  • 2017 - จีนตั้งศูนย์วิจัยเงินดิจิทัล และเปิดรับสมัครงานด้านคริปโต
  • 2019 - เฟซบุ๊กเปิดตัวโปรเจกต์สกุลเงินดิจิทัล Libra
  • 2019 - จีนเปิดเผยว่าโปรเจกต์ CBDC ใกล้จะเปิดตัวให้เห็นแล้ว
  • 2020 - จีนเริ่มทดลองใช้ใน 4 เมือง คือ เซินเจิ้น ซูโจว เฉิงตู และสงอัน
  • 2021 - จีนทดลองใช้ e-CNY ตามงานเทรดแฟร์ และมีการกดดันให้ร้านค้าเอกชนต่างชาติ รับเงิน e-CNYมากขึ้น
  • 2022 - จีนเปิด e-Wallet ให้ดาวน์โหลดทั่วประเทศ ช่วงสัปดาห์แรกของเดือน ม.ค 
    • - จีนเปิดใช้ e-CNY ในงานโอลิมปิกส์ฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง 4- 20 ก.พ. ซึ่งชาวต่างชาติที่ไม่มีบัญชีธนาคารในจีน ก็สามารถใช้ได้ด้วย 

ที่มา: ดอยชท์แบงก์, SCMP

 

 

 

 

advertisement

SPOTLIGHT