อินไซต์เศรษฐกิจ

มาตรการ "กักตุนอาหาร" ลาม 30 ประเทศทั่วโลก รับยุคเงินเฟ้อ-ของแพง

25 พ.ค. 65
มาตรการ "กักตุนอาหาร" ลาม 30 ประเทศทั่วโลก รับยุคเงินเฟ้อ-ของแพง
ไฮไลท์ Highlight
PIIE ยังแสดงความกังวลด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจบีบบังคับให้อีกหลายประเทศต้องประกาศห้ามส่งออกสินค้าอาหารตามมา ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งจะยิ่งกดดันให้ราคาอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง

มาตรการ "กักตุนอาหาร" ทั่วโลกยังพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ลามไป 30 ประเทศแล้ว ล่าสุดมาเลเซียจำกัดส่งออก "ไก่" ขณะที่อินเดียยกระดับห้ามส่งออก"น้ำตาล"


รายงานข่าวจาก Bloomberg และ CNBC ระบุว่า ผลพวงจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่กระทบการส่งออกอาหารและราคาพลังงาน จนส่งผลให้เงินเฟ้อทั่วโลกพุ่งสูงขึ้นไปด้วยนั้น ได้นำไปสู่การ "ห้ามส่งออก/จำกัดการส่งออกอาหารทั่วโลก" โดยขณะนี้สถานการณ์ได้ลามไปถึง 30 ประเทศแล้ว


ที่น่าเป็นห่วงก็คือ จากที่จำกัดวงในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาประเทศขนาดเล็ก ซึ่งไม่ใช่ผู้ส่งออกอาหารรายใหญ่ แต่ปัจจุบันเริ่มมีประเทศผู้ส่งออกอาหารขนาดใหญ่หันมาใช้มาตรการหามส่งออกกันแล้ว ซึ่งส่งผลกระทบต่อราคาอาหารนั้นๆ ไปทั่วโลกด้วย


กรณีที่เห็นได้ชัดคือ "อินโดนีเซีย" ซึ่งเป็นประเทศผู้ส่งออกน้ำมันปาล์มรายใหญ่สุดอันดับ 1 ในสัดส่วนมากกว่า 50% ของตลาดโลก และล่าสุดมีรายงานว่า "อินเดีย" ซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลมากสุดอันดับ 2 ของโลก ได้ออกมาตรการนี้ด้วยเช่นกัน หลังจากเพิ่งประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี ไปเมื่อไม่นานนี้

16141756617958

สถาบันนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศปีเตอร์สัน (Peterson Institute for International Economics: PIIE) เตือนว่าสงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนที่ยืดเยื้อ อาจส่งผลให้โลกต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหาร โดยเฉพาะธัญพืชและน้ำมันพืชที่ราคาปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ในช่วงหลังมานี้ 
  

PIIE ยังแสดงความกังวลด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวอาจบีบบังคับให้อีกหลายประเทศต้องประกาศห้ามส่งออกสินค้าอาหารตามมา ด้วยเหตุผลด้านความมั่นคงภายในประเทศ ซึ่งจะยิ่งกดดันให้ราคาอาหารในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง


Fitch เตือนปีนี้เจอวิกฤตราคาอาหาร "ทั้งปี"

ซาบริน โชว์ดรี หัวหน้าฝ่ายสินค้าโภคภัณฑ์ของบริษัทวิเคราะห์ Fitch Solutions กล่าวกับ Bloomberg ว่า นับตั้งแต่เริ่มเกิดสงครามยูเครน-รัสเซีย เมื่อปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา ขณะนี้มีการออกมาตรการกักตุนห้ามส่งออกอาหารขยายวงไปถึงราว 30 ประเทศทั่วโลกแล้ว ซึ่งนับเป็นสถานการณ์กักตุนสินค้าเกษตรที่ "ร้ายแรงที่สุดในรอบ 15 ปี" นับตั้งแต่ช่วงที่เกิดวิกฤตราคาอาหารเมื่อปี 2007 - 2008

"กระแสการกักตุนอาหารจะยังคงยาวต่อเนื่องไปตลอดปี 2022 โดยจะเริ่มรุนแรงขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ และจะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงด้านความมั่นคงทางอาหารให้ประเทศที่เปราะบาง" นักวิเคราะห์ของ Fitch กล่าว

ทั้งนี้ แม้ว่ากลุ่มประเทศที่ยากจน จะได้รับผลกระทบมากที่สุ่ดจากสถานการณ์ดังกล่าว แต่ก็ใช่ว่ากลุ่มประเทศร่ำรวยจะรอดพ้นจากผลกระทบที่กำลังเกิดขึ้นไปทั่วโลกด้วย โดยเมื่อเร็วๆ นี้ มีการรายงานข้อมูลใน "อังกฤษ"ว่า มีชาวอังกฤษถึงเกือบ 10 ล้านคน ต้องยอมอดมื้อกินมื้อเพื่อประหยัดค่าใช้จ่าย ในเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ "ฝรั่งเศส" ต้องใช้มาตรการแจกจ่ายคูปองอาหารสำหรับครัวเรือนต่างๆ เพื่อบรรเทาปัญหาค่าครองชีพ        



"อินเดีย" จำกัดส่งออกน้ำตาล 10 ล้านตัน


อินเดียซึ่งเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลมากที่สุดเบอร์ 2 ของโลก รองจากบราซิล เพิ่งประกาศจำกัดปริมาณการส่งออกน้ำตาลในปีนี้ ที่ 10 ล้านตัน เพื่อให้มั่นใจว่าจะมีน้ำตาลในปริมาณมากพอสำหรับการบริโภคในประเทศ และเพื่อควบคุมระดับราคาสินค้าในประเทศ


ประเทศส่งออกน้ำตาลรายใหญ่
ประเทศผู้ส่งออกน้ำตาลรายใหญ่     ที่มา: Bloomberg


ก่อนหน้านี้ไม่นาน อินเดียเพิ่งประกาศคำสั่งห้ามการส่งออกข้าวสาลี โดยให้มีผลบังคับใช้ในทันที เนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวสาลีรายใหญ่อันดับ 2 ของโลก พยายามที่จะควบคุมราคาข้าวสาลีภายในประเทศ โดยการขนส่งข้าวสาลีจะได้รับอนุญาตเฉพาะที่มีการออกหนังสือรับรองการชำระเงินโดยธนาคาร (letters of credit: L/C) แล้วเท่านั้น


สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า บรรดาผู้ซื้อทั่วโลกได้แห่มาซื้อข้าวสาลีจากอินเดีย หลังจากที่การส่งออกข้าวสาลีจากภูมิภาคทะเลดำ (โดยเฉพาะยูเครนและรัสเซีย) ลดลงนับตั้งแต่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ในช่วงปลายเดือน ก.พ. ที่ผ่านมา



"มาเลเซีย" ระงับส่งออกไก่ 3.6 ล้านตัว เริ่ม 1 มิ.ย.นี้


กระทรวงเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของมาเลเซีย ประกาศระงับการส่งออกไก่ 3.6 ล้านตัวต่อเดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายนเป็นต้นไป เพื่อสร้างความมั่นคงด้านอาหารภายในประเทศ และยังไม่กำหนดวันเวลาที่ชัดเจนว่าจะกลับมาส่งออกได้เมื่อไร ทางการบอกเพียงว่า ต้องรอให้สถานการณ์ทั้งการผลิตและราคาในประเทศกลับมามีเสถียรภาพก่อน


สถานการณ์ในมาเลเซียขณะนี้พบปัญหาหลายอย่าง ต้นทุนในการผลิตไก่สูงขึ้นจากราคาอาหารสัตว์ที่นำมาเลี้ยงไก่แพงขึ้น เกษตรกรบอกว่าในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา มีการปรับราคาอาหารสัตว์ไก่ถึง 2 ครั้ง ผลกระทบโดยตรงคือ ราคาขายไก่ในมาเลเซียแพงขึ้นมาก และทำให้ปริมาณไก่ลดน้อยลงจนเรียกว่ากำลังจะขาดแคลน ร้านค้าขายไก่ถึงขนาดที่ต้องจำกัดการซื้อไก่ของประชาชน เพราะปริมาณไก่ที่ร้านค้ารายย่อยได้รับมีปริมาณลดน้อยลง


จากข้อมูลของผู้ประกอบการรายใหญ่ในอุตสาหกรรมไก่ พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณไก่ คือต้นทุนการผลิตไก่ที่เพิ่มขึ้น และการติดเชื้อโรครวมถึงปัญหาสภาพอากาศ


15 ประเทศล่าสุด (จาก 30 ประเทศ) ที่ห้าม/จำกัดการส่งออกสินค้าอาหาร

  1. อาร์เจนตินา - น้ำมันถั่วเหลือง,อาหารที่มีส่วนประกอบของถั่วเหลือง  
  2. แอลจีเรีย - พาสต้า,ข้าวสาลี,น้ำมันพืช,น้ำตาล 
  3. อียิปต์ - น้ำมันพืช,ข้าวโพด
  4. อินเดีย - ข้าวสาลี, น้ำตาล 
  5. อินโดนีเซีย - น้ำมันปาล์ม,น้ำมันเมล็ดปาล์ม 
  6. อิหร่าน - มันฝรั่ง, มะเขือม่วง,มะเขือเทศ,หัวหอม 
  7. คาซัคสถาน - ข้าวสาลี,แป้งสาลี 
  8. โคโซโว - ข้าวสาลี,ข้าวโพด,แป้ง,น้ำมันพืช,เกลือ,น้ำตาล 
  9. ตุรกี - เนื้อวัว, เนื้อแกะ, เนื้อแพะ, เนย , น้ำมันปรุงอาหาร 
  10. ยูเครน - ข้าวสาลี,ข้าวโอ๊ต,ข้าวฟ่าง,น้ำตาล 
  11. รัสเซีย - น้ำตาล, เมล็ดทานตะวัน, ข้าวสาลี,แป้งสาลี,ข้าวไรย์ (ข้าวไรย์ พืชชนิดหนึ่งในตระกูลข้าวสาลี ลักษณะคล้ายคลึงกันกับข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์) ,ข้าวบาร์เลย์,ข้าวโพด 
  12. เซอร์เบีย - ข้าวสาลี,ข้าวโพด,แป้ง,น้ำมัน 
  13. ตูนิเซีย - ผลไม้,ผัก 
  14. คูเวต - ผลิตภัณฑ์จากเนื้อไก่,ธัญพืช,น้ำมันพืช
  15. มาเลเซีย - ไก่ไม่เกิน 3.6 ล้านตัว


ที่มา: CNBC, Bloomberg, Peterson Institute for International Economics (PIIE)



อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

"ข้าวสาลี" พุ่งอีก! อินเดียงดส่งออก หลายประเทศเริ่ม "กักตุนอาหาร"
มาเลเซียระงับส่งออกไก่ 3.6 ล้านตัวเริ่ม 1 มิ.ย.นี้ หวั่นขาดแคลน
"อินโดนีเซีย" งดส่งออกน้ำมันปาล์ม สะเทือนโลก สะท้าน "ไบโอดีเซลไทย"





advertisement

SPOTLIGHT