ท่ามกลางภาวะราคาสินค้าและค่าครองชีพที่ปรับตัวสูงขึ้นในปี 2565 ส่งผลกระทบต่อประชาชนอย่างมากโดยมีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่ทำการสำรวจค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยเอาไว้ทุกปี สำหรับในปี 2565 ยังไม่มีตัวเลขออกมา แต่คาดการณ์ได้ว่า จะสูงขึ้นกว่าในปี 2564 แน่นอนเพราะราคาสินค้าหลายรายการปรับตัวสูงขึ้นกว่าในปี 2564 ค่อนข้างมาก
เราลองมาดูข้อมูลล่าสุดของ ปี 2564 กันหน่อยว่าครัวเรือนไทยมีค่าใช้จ่ายเท่าไหร่และถูกแบ่งเป็นค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง รวมไปถึงข้อมูลเปรียบเทียบ ใน 77 จังหวัดของประเทศไทย มีค่าใช้จ่ายไม่เท่ากัน เผื่อเป็นข้อมูลสำหรับทางเลือกในการวางแผนการใช้ชีวิตของทุกคนได้
ครัวเรือนทั่วประเทศไทยในปี 2564 มีค่าใช้จ่ายทั้งสิ้นเฉลี่ยเดือนละ 21,616 บาท ในจำนวนนี้เป็นค่าใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภค มากที่สุด 18,802 บาท โดยเป็นค่าใช้จ่ายหมวดอาหาร เครื่องดื่มและยาสูบ สูงสุดถึง 7,660 บาท รองลงมาเป็น ค่าที่อยู่อาศัยและเครื่องใช้ภายในบ้าน 4,632 บาท ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทางและยานพาหนะ 3,467 บาท ตามลำดับ ส่วนค่าใช้จ่ายที่ไม่เกี่ยวกับการอุปโภคบริโภค (เช่น ค่าภาษี ของขวัญ เบี้ยประกันภัย ซื้อสลากกินแบ่ง/ หวย ดอกเบี้ย เป็นต้น) มีจำนวน 2,814 บาท
ในจำนวน 21,616 บาท ต่อดือนเป็นตัวเลขเฉลี่ยทั้งประเทศ หากดูรายจังหวัดจะพบว่าในปี 2564 จังหวัดนนทบุรี เป็นจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากที่สุดในประเทศไทย ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงจากการสำรวจในปี 2563 ที่ปทุมธานี เป็นจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายสูงสุด เช่นเดียวกับจังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายน้อยที่สุดก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นกัน จากเชียงรายในปี 2563 มาเป็น แม่ฮ่องสอน ในปี 2564 เราได้สรุป 10 จังหวัดที่มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนมากที่สุดในประเทศไทยมาให้ดังนี้
สำหรับแนวโน้มค่าใช้จ่ายครัวเรือนไทยที่มีการสำรวจกันทุกปี พบว่า เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หากดู 10 ปีที่ผ่านมาครัวเรือนไทยเคยมีค่าใช้จ่าย 17,403 บาท ในปี 2554 ขึ้นมาเป็น เป็น 21,616 บาท ในปี 2564 เท่ากับขึ้นมาเกือบ 25% ข้อมูลดังกล่าวทำให้เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อมีการปรับตัวสูงขึ้นทุกปี ยิ่งในปีไหนที่สถานการณ์เศรษฐกิจไม่ปกติ มีวิกฤติ ก็จะกระทบกับทั้งรายได้ และรายจ่ายของประชาชน เช่นในปี 2565 ที่นอกจากสถานการณ์โควิดแล้ว ยังมีสงครามรัสเซีย ยูเครน มาซ้ำเติมสถานการณ์ให้ราคาสินค้าจำเป็นในชีวิตประจำวันปรับตัวสูงขึ้น เงินเฟ้อในบ้านเราระดับ 4-5 % ถือเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่า 10 ปีเช่นกัน
ดังนั้นนอกจากความจำเป็นที่เราต้องวางแผนการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันให้รอบคอบแล้ว การวางแผนการเงิน ด้านการออมและการลงทุนก็จะต้องให้ความสำคัญด้วยเช่นกัน เพราะไม่เช่นนั้นก็ไม่สามารถเอาชนะเงินเฟ้อได้ มูลค่าเงินที่เรามีจะลดน้อยลงจากเงินเฟ้อที่สูงกว่าผลตอบแทนจากการออมนั่นเอง
ที่มาข้อมูล สำนักงานสถิติแห่งชาติ