จาก "ฟิตเนส" สู่ "บุฟเฟต์"จาก "ฟิตเนส" สู่ "บุฟเฟต์"ย้อนรอย 4 ธุรกิจขายคอร์ส-เวาเชอร์ เชิดเงินหนี
กรณีร้านบุฟเฟต์อาหารญี่ปุ่น "Daruma Sushi" ปิดร้านหนีเจ้าหนี้ ผู้ซื้อแฟรนไชส์ พนักงานลูกจ้าง และลูกค้าที่ซื้อบัตรเวาเชอร์ทานอาหารที่ร้าน คิดเป็นความเสียหายมากกว่า 100 ล้านบาท จนเป็นกระแสข่าวใหญ่นั้น หากลองเทียบดูในช่วงกว่า 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า "นี่ไม่ใช่ครั้งแรก" ที่มีการ "ฉ้อโกง" หรือปิดกิจการหนีไปโดยทิ้งหนี้สินเอาไว้ ไม่มีการจ่ายค่าชดเชย
ธุรกิจที่ว่านี้ก็คือ "ธุรกิจร้านอาหารบุฟเฟต์" ที่มีการขาย Voucher และ "ธุรกิจฟิตเนส" ที่มีการขายคอร์ส ซึ่งมีความคล้ายคลึงกันในแง่ของการที่ลูกค้า ชำระค่าสินค้า/บริการล่วงหน้า ให้กับสถานประกอบการไปแล้ว แต่ไม่ได้รับสินค้า/บริการ ตามที่ตกลงกันไว้ โดยธุรกิจทั้ง 4 แห่งที่ว่านี้ก็คือ
1. ดารุมะ ซูชิ
2. แหลมเกต ซีฟู๊ด
3. ทรูฟิตเนส
4. แคลิฟอร์เนีย ว้าว
ทีมข่าว SPOTLIGHT จะพาไปย้อนรอยธุรกิจทั้ง 4 แห่ง ที่มีการสร้างความเสียหายให้ผู้บริโภคคนไทย รวมแล้วเป็นหลักกว่า พันล้านบาท ดังนี้
ดารุมะ ซูชิ (Daruma Sushi)
จุดเด่น
- ขาย Voucher บุฟเฟต์แซลม่อนในราคาเริ่มต้น 199 บาท ซึ่งเป็นโปรที่คุ้มค่าเมื่อเทียบกับราคาขายปลีกแซลม่อนในท้องตลาด จึงสามารถขายเวาเชบางสาขาอร์ได้เป็นจำนวนมาก
- มีลักษณะการขายแฟรนไชส์ที่ไม่ซับซ้อน ผู้ซื้อแค่ลงทุนซื้อในตอนแรก 2.5 ล้าน/สาขา จากนั้น เจ้าของแฟรนไชส์และร้านดารุมะ ซูชิ คือนาย เมธา ชลิงสุข หรือ บอลนี่ จะเป็นผู้บริหารจัดการให้ทั้งหมด ดังนั้น จึงมีการขยายแฟรนไชส์อย่างรวดเร็วได้ถึง 27 สาขา
ปัญหา
- ตั้งแต่วันที่ 17 มิ.ย. เริ่มมีการรายงานปัญหาว่า บางสาขาไม่สามารถให้บริการได้ ต้องปิดร้านชั่วคราว ทำให้ลูกค้าต้องไปสาขาอื่นแทน
- จากนั้น มีหลายคนสังเกตเห็น facebook ของทางร้านได้หายไป และที่หน้าร้านก็ติดประกาศ "ปิดร้าน" ไม่สามารถติดต่อได้ ทำให้หลายคนหวั่นใจ เนื่องจากมีการซื้อ Voucher เป็นจำนวนมาก
มูลค่าความเสียหาย ไม่ต่ำกว่า 100 ล้านบาท
1. ลูกค้าที่ซื้อ Voucher - มีการขายเวสเชอร์ไปแล้วมากกว่า 2 แสนใบ มูลค่าความเสียหายราว 20 ล้านบาท
2. นักลงทุนที่ซื้อแฟรนไชส์ - ค่าแฟรนไชส์ 2.5 ล้านบาท ไม่รวมค่าตกแต่ง และค่าเช่าสถานที่ มีทั้งหมด 20 สาขา มูลค่าความเสียหายไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท
3. ซัพลลายเออร์ที่ขายปลาให้ - มีการค้างค่าปลามากกว่า 30 ล้านบาท (เฉพาะรายเดียว จากทั้งหมด 3 ราย)
4. พนักงานที่ไม่ได้รับเงินเดือน - อย่างน้อยประมาณ 300 คน
รูปแบบธุรกิจน่าสงสัย
- ดารุมะ ซูชิ ขายธุรกิจแฟรนไชส์ แต่ลักษณะทางธุรกิจมีความไม่สมเหตุสมผลในเชิงธุรกิจอยู่หลายประการด้วยกัน เนื่องจากผู้ซื้อจะลงทุนจ่ายเงินครั้งแรกครั้งเดียวในราคา 2.5 ล้านบาท "แต่ไม่ได้มีสิทธิบริหาร" เพราะทางผู้ขายจะเป็นผู้บริหารจัดการให้ทั้งหมด ตั้งแต่ค่าเช่าและตกแต่งสถานที่ ค่าสั่งซื้อสินค้าเข้าร้านในแต่ละเดือน ไปจนถึงค่าจ้างพนักงาน ส่วนผู้ซื้อแฟรนไชส์ก็รับเงินปันผลเป็นรายเดือนไป ทำให้มีความน่าสงสัยใน "สิทธิความเป็นเจ้าของสาขาแฟรนไชส์"
- ดารุมะ ไม่มีสำนักงาน (ออฟฟิศ) และ "ไม่มีการทำสัญญาจ้างงานกับลูกจ้าง" ทำให้พนักงานทุกคนเข้าข่ายเป็น "แรงงานเถื่อน"
ข้อควรรู้
- ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรสต์ (ยูเออี) ที่หลายคนนิยมลี้ภัยไปรัฐดูไบนั้น "ไม่มีสนธิสัญญาส่งผู้ร้ายข้ามแดนกับไทย"
เปิดรายได้ 6 ปี ของร้านดารุมะ ซูชิ
แหลมเกต ซีฟู๊ด
จุดเด่น
- เปิดโปรขาย Voucher อาหารทะเลในราคาเพียงหลักร้อย โปรโมชั่นตอนนั้นเริ่มตั้งแต่ 100 บาท จากราคาปกติ 888 บาท จึงมีผู้สนใจซื้อเวาเชอร์อย่างล้นหลาม ประกอบกับร้านเน้นทำการตลาดบนโซเชียลที่เข้าถึงคนได้มาก
ปัญหาที่พบ
- เมื่อนำ Voucher ไปใช้จริง ปรากฏว่าบางเมนูอาจต้องจ่ายเพิ่ม หรือต้องจองคิวโต๊ะล่วงหน้านาน ทำให้หลายคนใช้ไม่ทันเวลา
- ต่อมาวันที่ 22 มี.ค. 2562 ร้านได้ประกาศ “ยกเลิกและงดให้บริการทุกโปรโมชั่น” ให้ลูกค้าที่ซื้อบัตรนำมาขอเงินคืน เพราะได้รับการตอบรับอย่างล้นหลาม เกินความคาดหมาย ทำให้วัตถุดิบจากแหล่งผลิตไม่เพียงพอ
- ต้นเดือน มิ.ย. 2562 ร้านประกาศ “ปิดกิจการชั่วคราว" เนื่องจากลูกค้าน้อยลง ทำให้ขนาดพื้นที่และการให้บริการไม่สอดคล้องกัน "สำหรับเรื่องการคืนเงิน Voucher ร้านจะดำเนินการตรวจสอบและประสานงานในขั้นตอนปกติ”
- ต่อมามีข่าวว่า ร้านปิดถาวรทุกสาขา และขนของออกไปจนหมด ทำให้บรรดาลูกค้าที่ซื้อเวาเชอร์ไป รวมตัวเข้าแจ้งความดำเนินคดี
มูลค่าความเสียหาย
- มีผู้เสียหายรวมตัวเข้าแจ้งความร้องทุกข์ 626 คน รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 50 ล้านบาท
ผลการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดี
- จากการสืบสวนของตำรวจพบว่า แหลมเกต ซึ่งมีนายโจม พารณจุลกะ หรือนายอภิชาต บวรบัญชารักข์ เป็นหนึ่งในคณะกรรมการ มีพฤติการณ์จ้างคอลเซ็นเตอร์ ให้โฆษณาขายเวาเชอร์ ตรวจสอบสอบเส้นทางการเงินพบว่า เจ้าของนำเงินไปผ่อนรถยนต์ คอนโดมิเนียม และค่าบ้าน จนเหลือเงินในบัญชีเพียง "90 บาท"
- เมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 2563 ศาลอาญา อ่านคำพิพากษาในคดีหมายเลขดำที่อ.2808/2562 ที่พนักงานอัยการยื่นฟ้อง บริษัท แหลมเกตอินฟินิท จำกัด , นายอพิชาต บวรบัญชารักษ์ หรือโจม พารุณจุลกะ ,น.ส.ประภัสสร บวรบัญชา เป็นจำเลยที่ 1-3 ในความผิด ร่วมกันก่อให้เกิดความเข้าใจผิดในแหล่งกำเนิด คุณภาพ ปริมาณ ในสินค้าหรือบริการด้วยการโฆษณาข้อความอันเป็นเท็จ ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค, ร่วมกันฉ้อโกงประชาชน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 341, 343 เเละ พรบ.คอมฯ
- ศาลมีคำตัดสินลงโทษฐานหลอกหลวงผู้อื่น ด้วยการแสดงข้อความอันเป็นเท็จต่อประชาชนเพียงบทเดียว ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 343 วรรคแรกประกอบมาตรา 341, 83 จำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดรวม 723 กระทงให้จำคุกจำเลยที่ 2,3 ทุกกระทง กระทงละ 2ปี รวมจำคุกคนละ 1,446 ปี
เปิดงบกำไร/ขาดทุน 3 ปี
รายได้ 20 ล้าน แต่กำไรหลักแสน
- จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า บริษัท แหลมเกต อินฟินิท จำกัด จดทะเบียนเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2559 โดยมีงบกำไร/ขาดทุน ดังนี้
ปี 2559 รายได้ 10.8 ล้านบาท ขาดทุน 8.5 ล้านบาท
ปี 2560 รายได้ 19.7 ล้านบาท กำไร 86,253 บาท
ปี 2561 รายได้ 21.2 ล้านบาท กำไร 138,392 บาท
ทรูฟิตเนส
ทรูฟิตเนส เป็นธุรกิจฟิตเนส โยคะ ภายใต้ True Group สัญชาติสิงคโปร์ ประกอบธุรกิจด้านฟิตเนสและด้านสุขภาพ เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2547 ทำตลาดอยู่ใน 5 ประเทศ ได้แก่ สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย ไต้หวัน และจีน
ต่อมาเข้ามาทำตลาดในประเทศไทยในปี 2549 เปิดสาขาแรกที่สาขาเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศก มีพื้นที่ให้บริการ 3 ชั้น ต่อมาได้ขยายสาขาไปยังเซน แอท เซ็นทรัลเวิล์ด และเอสพลานาด งามวงศ์วาน-แคราย
ปัญหาที่พบ
- ผู้ใช้บริการเริ่มร้องเรียนปัญหาความรู้ความสามารถของเทรนเนอร์ และปัญหาของอุปกรณ์ จากนั้นนำไปสู่การปิดให้บริการสาขาแหงแรก คือ เซ็นทรัลเวิล์ด
- จากนั้นในวันที่ 3 มิ.ย. ทรู ฟิตเนสสาขาเอสพลานาด แคราย ได้ติดประกาศขอปิดให้บริการเนื่องจากระบบไฟฟ้าและระบบแอร์ขัดข้องให้สมาชิกเข้าใช้บริการที่สาขาอาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ อโศก ขณะเดียวกันยังพบว่า ลูกค้าทรูเอสคลินิกซึ่งเป็นเจ้าของเดียวกับทรูฟิตเนสได้ปิดการให้บริการเช่นกัน กรณีนี้มีหลายคนที่ซื้อคอร์สเป็นจำนวนเงินหลักแสนบาทแต่ยังใช้บริการไม่ครบคอร์สได้รับผลกระทบ
- จากนั้นมีการประกาศปิดสาขาแห่งสุดท้ายที่อโศก ในเวลาไล่เลี่ยกันตามมา
ผลการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดี
- ผู้ใช้บริการจำนวนมากเข้าทุกข์กับตำรวจและ สคบ. จากการที่ซื้อคอร์สล่วงหน้ารายปีและตลอดชีพ มูลค่าความเสียหาย (รวมกับของเจ้าหนี้) ประมาณ 821 ล้านบาท
- ทรูฟิตเนสชี้แจงว่า มีปัญหาด้านการแข่งขันรุนแรงในธุรกิจจนไม่อาจฝืนต่อไปได้ พนักงานภายในองค์กรถูกค้างค่าแรงเป็นจำนวนมาก บริษัทค้างค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าเช่าที่จนเจ้าของสถานที่ตั้งสั่งหยุดดำเนินงาน ถึงแม้ว่าทางทรูฟิตเนสจะเอ่ยอ้างขอเวลาในการหาผู้ร่วมทุนในการเข้ามากอบกู้กิจการ แต่ทุกอย่างก็ช้าเกินไป มูลค่าหนี้หลายสิบล้านทำให้เจ้าของพื้นที่ให้เช่าไม่อาจทนเฝ้ารอได้อีก
- สมาชิกทรูฟิตเนส และสมาชิกบริการอื่นๆ เกือบ 30 คน นำหลักฐานเข้าแจ้งความพนักงานสอบสวน กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค หรือ ปคบ. ในความผิดฐานฉ้อโกงประชาชน พร้อมยืนยันว่าหากเรื่องไม่คืบหน้า จะทำหนังสือร้องเรียน คสช.และศาลสิงคโปร์ อย่างไรก็ตาม จนถึงปัจจุบัน ยังไม่พบความคืบหน้าในคดีนี้แต่อย่างใด
- กรณีของทรูฟิตเนสนั้น ไม่มีหลักฐานที่ชัดเจนเพียงพอจะสรุปถึงต้นตอปัญหาได้ และไม่เหมือนกับกรณีของแคลิฟอร์เนีย ว้าว ที่พบหลักฐานตั้งใจฉ้อโกง รู้เพียงแต่คำชี้แจงจากทีมบริหารเท่านั้นที่บอกว่ามาจากการแข่งขันในอุตสาหกรรมที่ดุเดือดเกินไป
เปิดงบการเงิน 2 ปีสุดท้ายก่อนปิดกิจการ
ปี 2557 บริษัทมีรายได้ 302,535,246 บาท ขาดทุน 11,654,125 บาท
ปี 2558 บริษัทมีรายได้ 273,810,115 บาท ขาดทุน 49,653,400 บาท
แคลิฟอร์เนีย ว้าว
จุดเด่น
- บริษัท แคลิฟอร์เนีย ว้าว เอ็กซ์พีเรียนซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ California Wow ถือเป็นฟิตเนสแบรนด์แรกๆ ในไทยที่เน้นการทำการตลาดแบบขยายสาขาอย่างจริงจัง โดยเน้นการสร้างภาพลักษณ์ที่ทันสมัย รักสุขภาพ จับกลุ่มเป้าหมายชาวเมืองที่มีรายได้ปานกลางไปถึงสูง ขายคอร์สฟิตเนสเป็นรายเดือน รายปี และตลอดชีพ
ปัญหาที่พบ
- หลังจากที่เข้าตลาดหลักทรัพย์ในปี 2548 บริษัทสามารถแสดงผลประกอบการที่มีกำไรได้เพียงแค่ปีเดียว คือปี 2549 ก่อนที่จะขาดทุนต่อเนื่องเป็นเวลา 5 ปี จนกระทั่งถูกตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย สั่งพักการซื้อขายหุ้น ในปี 2554
- ตอนที่ขยายสาขาเพิ่มประมาณ 10 สาขา เกิดปัญหาต่างๆ เช่น สมาชิกไม่ได้รับความสะดวกในการใช้บริการ บางสาขามีปัญหาการค้างชำระค่าเช่า, ค่าน้ำ, ค่าไฟ และค่าบริหารจัดการ จนไม่สามารถเปิดให้บริการต่อไปได้
- ในที่สุด แคลิฟอร์เนีย ว้าว ก็ทยอยปิดตัวลงทุกสาขาในปี 2551
มูลค่าความเสียหาย
- มีผู้เข้าแจ้งความร้องทุกข์หลายร้อยราย ตั้งแต่เหยื่อที่ซื้อแพ็คเก็จรายเดือน/ตลอดชีพ ไปจนถึงเจ้าหนี้ รวมมูลค่าความเสียหายประมาณ 559 ล้านบาท
ผลการสืบสวนสอบสวนและการดำเนินคดี
- สำนักงาน ปปง. พิจารณาดำเนินการตามพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 และพบว่า พฤติการณ์การทยอยปิดสาขา และให้สมาชิกไปใช้บริการยังสาขาอื่นๆ ที่ยังเปิดจนมีผู้ใช้บริการแออัด อุปกรณ์ไม่เพียงพอ พฤติการณ์ดังกล่าวเป็นการหลอกลวงประชาชนทั่วไป โดยแสดงข้อความอันเป็นเท็จว่า จะให้บริการสถานที่ อุปกรณ์ และมีผู้ฝึกสอนการใช้อุปกรณ์ออกกำลังกาย "ซึ่งความจริงมิได้มีเจตนาจะให้บริการตลอดจนครบกำหนดตามสัญญา"
- จากการวิเคราะห์ธุรกรรมทางการเงิน พบว่า ตั้งแต่ปี 2543 ถึง 2554 มีธุรกรรมการโอนเงินไปให้บุคคลอื่นทั้งภายในและภายนอกประเทศสูงถึงเกือบ 1,700 ล้านบาท ซึ่งเป็นอัตราส่วนถึง 99% ของธุรกรรมทั้งหมด แม้ว่าจะอยู่ในช่วงกิจการประสบภาวะขาดทุนก็ตาม
- ช่วงที่แคลิฟอร์เนีย ว้าว กับพวก ซึ่งมีนายเอริค มาร์ค เลอวีน เป็นกรรมการบริษัทอยู่ด้วยนั้น ได้มีการ "โอนเงิน" จากบริษัท ไปซื้อที่ดิน จำนวน 5 แปลง โดยมีบริษัท ฟิตเนส เอสเตท จำกัด เป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีนายเอริค มาร์ค เลอวีน เป็น "บุคคลผู้รับประโยชน์ที่แท้จริง"
- จากพยานหลักฐานทั้งหมด จึงเชื่อว่าบริษัทแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ กับพวก มีความผิดฐาน "ฉ้อโกงประชาชน"
- ที่ประชุม ปปง. มีมติวันที่ 18 มกราคม 2559 ให้ "อายัดทรัพย์สิน" ที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดของแคลิฟอร์เนีย ว้าวฯ กับพวกไว้ชั่วคราว จำนวน 5 รายการ รวมราคาประเมินทั้งสิ้นประมาณ 88.3 ล้านบาท โดยเป็นที่ดินใน จ.พังงา ทั้งหมด
- ลูกค้าของแคลิฟอร์เนีย ว้าว สามารถยื่นขอชดเชยได้จาก ปปง. ภายในวันที่ 14 เม.ย. 2560
ที่มา: รายการโหนกระแส 20 มิ.ย. 65, ข่าวสดออนไลน์, Finnomena, marketthink, Positioning