‘เมืองโบราณศรีเทพ’ เพิ่งได้รับการประกาศจากยูเนสโกให้ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 4 ของไทย และกลายเป็นมรดกโลกที่ 7 ของคนไทย
เมืองโบราณศรีเทพ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า The Ancient Town of Si Thep and its Associated Dvaravati Monuments หลังจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลก ครั้งที่ 45 ที่กรุงริยาด ประเทศซาอุดิอาระเบีย เมื่อวันที่ 19 ก.ย.66 ที่ผ่านมา
ด้านนายกรัฐมนตรีคนที่ 30 ของไทย นายเศรษฐา ทวีสิน ได้มีการแถลงขอบคุณคณะกรรมการมรดกโลก ที่เมืองโบราณศรีเทพ ได้มีความโดดเด่นเข้าเกณฑ์สายตาในระดับสากล จนได้รับการบรรจุขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกแห่งใหม่ของประเทศไทย พร้อมส่งสารถึงประชาชนคนไทย ให้ช่วยกันดูแลรักษาปกป้องสถานที่อันทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เพื่อเป็นสมบัติให้คนรุ่นหลัง และเชิญชวนให้ทุกคนมาเที่ยวยังเมืองโบราณศรีเทพ
หลังจาก เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลก ส่งผลให้ปัจจุบันประเทศไทยมีมรดกโลกอยู่ 7 แห่ง แบ่งเป็นมรดกทางวัฒนธรรม 4 เเห่ง มรดกทางธรรมชาติ 3 เเห่ง
มรดกโลกทางวัฒนธรรมของไทย
1.เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย และเมืองบริวาร
ขึ้นทะเบียน : พ.ศ. 2534
ที่ตั้ง : จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดกำแพงเพชร
จุดเด่น : หลักฐานร่องรอย “รุ่งอรุณแห่งความสุข” เมืองหลวงแรกของชาวสยาม (ช่วง พ.ศ.1781 - 2117) จุดกำเนิดของสถาปัตยกรรมไทย
2.นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยาและเมืองบริวาร
ขึ้นทะเบียน : พ.ศ. 2534
ที่ตั้ง : เกาะเมืองอยุธยา อำเภอพระนครศรีอยุธยา
จุดเด่น : ร่องรอยแห่งความเจริญรุ่งเรือง ของศิลปวัฒนธรรมอันยิ่งใหญ่ เเละทรงคุณค่า สะท้อนความฉลาดของการเลือกที่ตั้งของชุมชน เพื่อให้เป็นแหล่งอาหารและแหล่งเกษตรกรรม
3.แหล่งโบราณคดีบ้านเชียง
ขึ้นทะเบียน : 2535
ที่ตั้ง : ตำบลบ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี
จุดเด่น : บริเวณนี้เคยเป็นที่อยู่อาศัยและที่ฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ คือ ยุคโลหะ เมื่อราวๆ 5,000 กว่าปีที่เเล้ว
4.เมืองโบราณศรีเทพ / อุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ
ขึ้นทะเบียน : พ.ศ.2566
ที่ตั้ง : อำเภอศรีเทพ จังหวัดเพชรบูรณ์
จุดเด่น : แหล่งอารยธรรมที่สำคัญแห่งหนึ่งของประวัติศาสตร์ไทย ที่มาอายุราว 1,500 – 1,700 ปี สะท้อนการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในอดีต ที่ผสมผสานวัฒนธรรมทวารวดี และเขมร ที่เคยรุ่งเรืองนานกว่า 800 ปี ก่อนถูกทิ้งให้รกร้างเพราะภัยแล้งและโรคระบาดที่ร้ายแรงในช่วง พ.ศ.18 – 19
กรมศิลปากร ใช้เวลาขุดตกแต่งและบูรณะเมืองโบราณศรีเทพ นานถึง 10 ปี จนได้บรรจุเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรม ภายใต้เกณฑ์คุณค่าโดดเด่นอันเป็นสากล 2 ข้อ
- เกณฑ์ข้อที่ 2 - ความสำคัญของการแลกเปลี่ยนคุณค่าของมนุษย์ในช่วงเวลาใด เวลาหนึ่ง หรือในพื้นที่ในวัฒนธรรมใดๆ ของโลกผ่านการพัฒนาด้านสถาปัตยกรรม หรือ ทางเทคโนโลยีอนุสรณ์ศิลป์ การวางแผนผังเมืองหรือการออกแบบภูมิทัศน์
- เกณฑ์ข้อที่ 3 - เป็นพยานหลักฐานที่ยอดเยี่ยมหรือหาที่เสมอเหมือนไม่ได้ของประเพณีวัฒนธรรม หรือวัฒนธรรมที่ยังคงอยู่ หรือสูญหายไปแล้ว
มรดกโลกทางธรรมชาติของไทย
1.เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข็ง
ขึ้นทะเบียน : พ.ศ.2534
ที่ตั้ง : จังหวัดอุทัยธานี กาญจนบุรี และตาก
จุดเด่น : พื้นที่อนุรักษ์ที่ใหญ่ที่สุดในคาบสมุทรอินโดจีน บ้านของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่ 77% นกขนาดใหญ่ 50% สัตว์มีกระดูกสันหลังบก 33%
2.ผืนป่าดงพญาเย็น- เขาใหญ่
ขึ้นทะเบียน : พ.ศ.2548
ที่ตั้ง : จังหวัดสระบุรี นครนายก นครราชสีมา ปราจีนบุรี สระแก้ว และบุรีรัมย์
จุดเด่น : ผืนป่าที่มีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่ากว่า 800 ชนิด
3.กลุ่มป่าแก่งกระจาน
ขึ้นทะเบียน : พ.ศ.2564
ที่ตั้ง : จังหวัดราชบุรี เพชรบุรี และ ประจวบคีรีขันธ์
จุดเด่น : พื้นที่ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงที่สุดแห่งหนึ่งในทวีปเอเชีย
โจทย์ใหม่ที่ท้าทายของรัฐบาลไทย
การที่ประเทศไทยมีมรดกโลกเพิ่มขึ้นนั้น แปลว่าเรามีแหล่งท่องเที่ยวที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เพราะเป็นสถานที่ ที่มีคุณค่าด้านประวัติศาสตร์ ศิลปกรรม สถาปัตยกรรม หรือวัฒนธรรมที่หาชมได้ยาก
และปฎิเสธไม่ได้เลยว่าหลังจาก เมืองโบราณศรีเทพ ได้รับการขึ้นทะเบียนมรดกโลกแห่งใหม่ นับเป็นเรื่องดีที่สถานที่อันทรงคุณค่านี้จะสามารถสร้างมูลค่าทางการท่องเที่ยวไทย และสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจไทยให้มีการกระจายรายได้ต่อชาวบ้านและคนในพื้นที่ได้
นับตั้งแต่การเริ่มผลักดันให้เมืองโบราณศรีเทพ จำนวนนักท่องเที่ยวได้หลั่งไหลเข้ามาเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าในช่วงปีก่อนหน้า โดยปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวอยู่ 2,000 คน/วัน
ดังนั้น รัฐบาลอาจต้องมีนโยบายที่เข้มงวดเข้ามาช่วยผลักดันส่งเสริมมรดกโลกของไทยเพื่อ’สร้างคุณค่า’ แต่ก็ต้องคำนึงถึงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต'อย่างไม่ปล่อยปละละเลย' เช่นความเสียหายทางกายภาพ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
หรืออาจเรียกได้ว่า 'ต้องสร้างความสมดุล' ระหว่างชาวบ้านที่อยู่อาศัย นักท่องเที่ยว และสถานที่สำคัญ เพราะก่อนหน้านี้องค์การยูเนสโก เคยมีคำเตือนบรรจุเมืองเวนิส ไว้ในบัญชีแหล่งมรดกโลกที่ตกอยู่ในสภาวะอันตราย เนื่องจากปัญหานักท่องเที่ยวล้นเมือง ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ และทางรัฐบาลก็ยังไม่มีมาตรการออกมาป้องกันอย่างจริงจัง
ที่มา : อุทยานเเห่งชาติเขาใหญ่