หากช่วงนี้เราได้เล่น Instagram เราคงพบภาพๆหนึ่งดูคล้ายกับภาพถ่ายมุมสูงของค่ายเต็นท์แห่งหนึ่ง ที่มีตัวอักษรเขียนว่า All eyes on Rafah ที่แปลได้ว่า ทุกสายตาจับจ้องไปที่ราฟาห์ แต่ทุกคนทราบหรือไม่ว่าแท้จริงแล้วภาพๆนี้ไม่ได้เป็นภาพจริงแต่เป็นภาพที่สร้างขึ้นจาก AI
ภาพ All eyes on Rafah ถูกแชร์โดยผู้ใช้ Instagram เกือบ 45 ล้านคน เช่นเดียวกันกับไวรัลบน Twitter (X) และ TikTok ที่เหล่าคนดังมากมายต่างเข้ามาแชร์ภาพดังกล่าวและแสดงความคิดเห็น เช่น Bella Hadid นางแบบชาวอเมริกัน, Dua Lipa นักร้องชาวอังกฤษ หรือ Nicola Coughlan นักแสดงหญิงชื่อดังจาก Netflix Bridgerton
บทความนี้ SPOTLIGHT ชวนทุกคนมาหาคำตอบภายใต้ภาพ AI ที่มีตัวอักษรเขียนว่า All eyes on Rafah มีอะไรซ่อนอยู่ ทำไมไม่ใช้ภาพถ่ายจริงในการกระจายข่าว?
All eyes on Rafah แปลตรงตัวได้ว่า ทุกสายตาจับจ้องไปที่ราฟาห์ วลีนี้ถูกใช้เพื่อดึงดูดความสนใจไปยังเมืองราฟาห์ เมืองเล็กๆตั้งอยู่ทางใต้สุดของฉนวนกาซา และติดกับจุดผ่านแดนของประเทศอียิปต์ ทางตอนเหนือติดกับอิสราเอล จุดผ่านแดนราฟาห์ที่กำลังเกิดความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลและปาเลสไต เนื่องจากสถานการณ์ยังคงตึงเครียด และดูเหมือนว่ายังไม่มีทีท่าจะคลี่คลายลงง่ายๆ
เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 67 ที่ผ่านมากองทัพอิสราเอลโจมตีทางอากาศทิ้งระเบิดหนัก 900 กิโลกรัม จำนวน 7 ลูกรวมถึงขีปนาวุธ ในค่ายผู้ลี้ภัยบริเวณฉนวนกาซา โดยไม่มีการแจ้งเตือนให้อพยพล่วงหน้า ส่งผลให้พื้นที่หลายแห่งเกิดเพลิงไหม้ทั้งๆที่มีผู้อยู่อาศัยข้างใน คาดว่ามีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 คน และในจำนวนนั้นอย่างน้อย 23 คน เป็นคนชรา ผู้หญิง และเด็ก
หลังจากนั้นเพียงแค่ 2 วัน (28 พฤษภาคม 67) กองทัพอิสราเอลเปิดฉากปฏิบัติการภาคพื้นดินบุกเข้าถึงใจกลางเมืองราฟาห์อีกครั้ง เหตุการณ์ครั้งนี้ทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 21 คน และอย่างน้อย 12 คนเป็นผู้หญิง รวมถึงมีผู้บาดเจ็บถึง 64 คน
ทั้ง 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นภายในช่วงเวลา 2 วัน ได้สร้างความเสียหายทั้งด้านร่างกายและจิดใจแก่ผู้บริสุทธ์ เนื่องจากราฟาห์ กลายเป็นค่ายผู้ลี้ภัยขนาดใหญ่ ที่คนปาเลสไตน์จำนวนมากได้ย้ายมาจากบริเวณอื่นเพราะคิดว่าพื้นที่นี่ปลอดภัย
จุดผ่านแดนราฟาห์ จึงเป็นเหมือน ทางเข้า-ออกเดียวที่เหลืออยู่ โดยก่อนเกิดสงคราม ราฟาห์ มีประชากรอาศัยอยู่เพียง 2.8 แสนคน แต่หลังสงครามมีประชากรอพยพมาอยู่กว่า 1.5 ล้านคน ดังนั้นการโจมตีที่มั่นสุดท้ายอย่าง ราฟาห์ จึงถูกจับตาจากคนทั้งโลก
ในขณะที่ เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล ได้กล่าวเพียงแค่ว่า สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ราฟาห์เป็นแค่'ความผิดพลาด' ที่คร่าชีวิตคนบริสุทธิ์ แต่หลายๆคนกลับมองว่าการโจมตีที่เกิดขึ้นคือการวางแผนมาอย่างดีแล้ว
คาดว่า รูปภาพ All eyes on Rafah รูปเเรกได้ถูกเผยเเพร่ครั้งเเรก เมื่อวัน 27 พ.ค.67 โดยผู้ใช้งาน @shahv40212 เเต่สำนักข่าว Aljazeera ยังคงไม่สามารถยืนยันได้ว่าผู้ใช้รายนี้เป็นผู้สร้างภาพนี้หรือไม่ เเต่ผู้ใช้รายนี้ได้เเสดงความคิดเห็นใน Instagram Story ของตนว่า
“เเม้คนจํานวนมากอาจไม่พอใจกับภาพดังกล่าว เเต่อยากให้ทุกคนช่วยกันกระจายข่าวอย่างเร่งด่วนเพื่อหยุดสิ่งที่เกิดขึ้นในราฟาห์”
ด้านสำนักข่าว Aljazeera ได้ออกมาวิเคราะห์ว่า รูปภาพ AI นี้ มีประโยชน์ในการกระจายข่าวให้แพร่หลายโดยเฉพาะในสื่อออนไลน์ให้รอดพ้นจากการเซ็นเซอร์ เนื่องจากรูปภาพไม่น่ากลัว และหากเราใช้ภาพถ่ายจริงที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นอยู่อันน่าหดหู่ เช่นภาพเลือด ศพ หรือ ความรุนแรง ภาพเหล่านี้ก็ถูกโดนแบนทันที
อัลกอริทึมบนแพลตฟอร์มเช่น Meta [Facebook และ Instagram] ที่ออกแบบมาเพื่อกรองความรุนแรงด้านภาพจึงไม่ตั้งค่าสถานะภาพนี้ ต่างจากภาพกราฟิกของสงครามจริง ๆ ซึ่งอาจถูกจำกัดหรือลบออกเนื่องจากนโยบายเนื้อหา รูปภาพที่สร้างโดย AI นี้สามารถแพร่กระจายได้อย่างอิสระมากขึ้น ซึ่งมีส่วนทำให้เกิดกระแสไวรัลอย่างรวดเร็ว
ส่วนสาเหตุที่รูปภาพนี้ถูกแชร์อย่างแพร่หลายเนื่องจากรูปภาพนี้ถูกแชร์โดยใช้ฟีเจอร์ “เพิ่มของคุณ” (Add your story) ของ Instagram ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถโพสต์ใหม่ได้ภายในไม่กี่วินาทีโดยไม่ต้องค้นหารูปภาพ
เอ็ดดี้ บอร์เกส -เรย์ รองศาสตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์นในกาตาร์ ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นกับ สำนักข่าว Aljazeera ว่า “ฉันเชื่อว่าความแพร่หลายของภาพนี้ส่วนใหญ่เนื่องมาจากความแตกต่างโดยสิ้นเชิงกับภาพที่เราเห็นในสงคราม เพื่อให้ดูมีมนุษยธรรม และโดยปกติแล้วผู้ใช้โซเชียลมีเดียมักจะแชร์ภาพที่สดใส มากกว่าภาพที่หดหู่”
แม้ว่าผู้ใช้โซเชียลมีเดียหลายคนจะมีการแชร์ภาพนี้เกือบ 45 ล้านครั้งใน Instagram แต่หลายคนกลับรู้สึกไม่พอใจกับภาพดังกล่าว เนื่องจาก ผู้วิพากษ์วิจารณ์มองว่าโพสต์นี้ถือว่าการแชร์ซ้ำเป็นการเคลื่อนไหวเชิงปฏิบัติที่เบี่ยงเบนความสนใจจากรูปภาพจริงและการอัปเดตที่สำคัญจากราฟาห์ เช่น
“เนื่องจากมีนักข่าวชาวปาเลสไตน์จำนวนมากในฉนวนกาซาที่เสี่ยงชีวิตเพื่อบันทึกความเป็นจริงของตนในพื้นที่ ภาพที่สร้างโดย AI จึงดูเหมือนเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการลบข้อมูลทางดิจิทัล”
“ภาพดังกล่าวเป็นบ่อนทำลายประจักษ์พยานของชาวปาเลสไตน์และประสบการณ์การใช้ชีวิต มันแสดงถึงฉากที่สร้างโดย AI โดยมีเต็นท์ดิจิทัลจัดเรียงเป็นข้อความที่อ่านได้ทั่วทั้งพื้นที่กว้างใหญ่โดยมีภูเขาที่ปกคลุมไปด้วยหิมะเป็นฉากหลัง ซึ่งห่างไกลจากฉนวนกาซา”
สำนักข่าว Aljazeera ได้วิเคราะห์ว่า นี้อาจเป็นคำถามใหญ่ ในขณะที่การโจมตีของอิสราเอลทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆโดยเฉพาะการบุกโจมตีในพื้นที่ค่ายลี้ภัยขนาดใหญ่ที่คาดว่าจะปลอดภัยที่สุดอย่างราฟาห์
แม้ภาพ AI ที่เป็นกระแสไวรัลช่วยให้ทั่วโลกได้ฉายแสงเกี่ยวกับวิกฤตทางตอนใต้ของกาซา เพื่อเรียกร้องด้านมนุษยธรรม โดยเฉพาะการหยุดยิง อย่างไรก็ตามขอเรียกร้องนี้เหมือนถูกเมินเฉย ทำให้เรายังคงต้องคอยจับตามองสงครามระหว่างอิสราเอลและปาเลสไตน์ว่าสงครามในครั้งนี้จะจบลงอย่างไร
ที่มา : Aljazeera