อินไซต์เศรษฐกิจ

เปิดรายชื่อแบรนด์เครื่องใช้คนไทย ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่ต้องพึ่งพาสินค้าจีน

29 ส.ค. 67
เปิดรายชื่อแบรนด์เครื่องใช้คนไทย ปลอดภัย ได้มาตรฐาน ไม่ต้องพึ่งพาสินค้าจีน

ปัจจุบัน สินค้าจีนเข้ามาตีตลาดไทยผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากมาย ทั้งช้อปปี้ (Shopee), ลาซาด้า (Lazada) และล่าสุด เทมู (Temu) ที่ได้เข้ามาเปิดตัวให้บริการในไทยเมื่อเดือนกรกฎาคม ซึ่งได้รับความนิยมในจีนเพราะเป็นแพลตฟอร์มขายของจากโรงงานในจีนโดยตรง ทำให้มีราคาถูกกว่าสินค้าทั่วไปในตลาดมาก

การเข้ามาของสินค้าจีนสร้างความเสี่ยงให้แก่ผู้ผลิตสินค้า และธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กของไทย เพราะผู้บริโภคอาจหันไปสั่งสินค้าราคาถูกจากจีนมากขึ้น และอาจส่งผลให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศไทยสามารถจำหน่ายสินค้าได้น้อยลง เป็นการบ่อนทำลายอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคของไทย

นอกจากนี้ สินค้าจากจีนยังเสี่ยงสร้างผลกระทบต่อสุขภาพและความปลอดภัยของผู้บริโภค เพราะผู้บริโภคสามารถสั่งสินค้ามาจากจีนได้โดยตรง โดยที่ไม่มีหน่วยงานใดคอยตรวจสอบคุณภาพสินค้าให้ โดยในช่วงต้นเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา สินค้าจีนก็เคยเป็นประเด็นมาแล้ว หลังทางการกรุงโซล เกาหลีใต้ ได้ออกมาเปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่ได้สุ่มตรวจสินค้าหลายรายการจากแพลตฟอร์มจีนอย่าง AliExpress, Temu และ Shein และพบว่าบางสินค้ามีสารพิษปนเปื้อนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดหลายเท่า

ในบทความนี้ SPOTLIGHT จึงอยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักแบรนด์และผู้ผลิตเครื่องใช้รายใหญ่ของไทยที่หลายๆ คนอาจยังไม่รู้ว่าเป็นคนไทย ที่ทั้งราคาถูก และผ่านกระบวนการผลิตที่ได้มาตรฐาน เพื่อเป็นอีกทางเลือกของคนไทย ที่ต้องการความปลอดภัย และสนับสนุนสินค้าไทยและบริษัทไทย ให้สามารถเติบโต และเป็นฐานที่สำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตไทยต่อไปได้
artboard1_6

‘ซีกัล’ หรือ ‘นกนางนวล’ แบรนด์สเตนเลสคู่ครัวคนไทย

ซีกัล (Seagull) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ "นกนางนวล" เป็นแบรนด์เครื่องครัวสเตนเลสสตีลชั้นนำของไทยที่มีประวัติยาวนานและเป็นที่ยอมรับในตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยแบรนด์นี้เป็นของบริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด (Thai Stainless Steel Co., Ltd.) และเริ่มก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2515 หรือเมื่อ 52 ปีก่อน

ในช่วงเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจ ซีกัลได้มุ่งเน้นไปที่การผลิตเครื่องครัวพื้นฐาน เช่น หม้อ กระทะ และภาชนะสำหรับการทำอาหาร โดยมีเป้าหมายในการตอบสนองความต้องการของครอบครัวไทยที่กำลังเติบโต ซึ่งในเวลานั้นตลาดเครื่องครัวสเตนเลสสตีลยังไม่เติบโตมากนัก ซีกัลจึงกลายเป็นหนึ่งในผู้บุกเบิกตลาดนี้ในประเทศไทย

ในช่วงทศวรรษแรกของการดำเนินงาน ซีกัลได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เพราะผลิตภัณฑ์ของซีกัลถูกออกแบบมาให้มีความทนทานต่อการใช้งานหนัก ไม่เกิดสนิม และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้ เนื่องจากสเตนเลสสตีลเป็นวัสดุที่ไม่ทำปฏิกิริยากับอาหาร และเริ่มมองหาโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ 

นอกจากความทนทานและคุณภาพของวัสดุแล้ว ซีกัลยังให้ความสำคัญกับการออกแบบที่สวยงามและใช้งานได้ง่าย ไม่หยุดยั้งในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อตอบสนองต่อความต้องการที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค และได้รับรางวัลมากมายในด้านการออกแบบและนวัตกรรมจากหลายองค์กรทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น Design Excellence Award (DEmark Award 2021) กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรมและดิจิทัล และการรับรองมาตรฐานต่างๆ เช่น ISO 9001 และ ISO 14001

โดยในปี 2549 ซีกัลได้จดสิทธิบัตรฐานหม้อที่มีลักษณะเป็นเกลียวครีบรูปใบพัด ซึ่งช่วยเพิ่มผิวสัมผัสกับเปลวไฟ ทำให้ได้รับความร้อนมากขึ้น และประหยัดพลังงานในการประกอบอาหาร และในปี 2551 ได้ร่วมมือกับบริษัท Whitford ผู้ผลิตสารเคลือบกันติดรายใหญ่ระดับโลก เพื่อผลิตสินค้ากลุ่มนอนสติ๊ก (non-stick) เข้าสู่ตลาด

นอกจากนี้ ซีกัลยังมีศักยภาพเป็นผู้ผลิตเครื่องครัวระดับพรีเมียมของไทย โดยในปี 2553 ซีกัลได้เพิ่มไลน์เครื่องครัวคุณภาพเกรดพรีเมี่ยม พรีเมียร์ ฮาร์ด อโนไดซ์ (Premier Hard Anodized) ซึ่งทำจากอลูมิเนียมผ่านกรรมวิธีฮาร์ดอโนไดซ์ ทำให้พื้นผิวมีความแข็งแรงมากกว่าสเตนเลสสตีลถึง 30% และสตีลลินอกซ์ ไฟฟ์ ไพล (Steelinox 5 Ply) ซึ่งผลิตด้วยสเตนเลสสตีลถึง 5 ชั้น เสริมอลูมิเนียมเพื่อกระจายความร้อนได้ทั่วถึง สม่ำเสมอทั่วทั้งใบ

ดังนั้น จะเห็นได้ว่า ซีกัลเป็นอีกแบรนด์เครื่องครัวหนึ่งของไทยที่มีความโดดเด่น สามารถผลิตสินค้าเครื่องครัวสเตนเลสตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้ทุกระดับ และสามารถสร้างรายได้และกำไรจากการผลิตและส่งออกสินค้าได้ติตด่อกันทุกปี โดยข้อมูลจาก DataforThai ระบุว่า ในระหว่างปี 2562-2566 บริษัท ไทยสเตนเลสสตีล จำกัด มีรายได้และกำไร ดังนี้

  • ปี 2562 รายได้ 1.14 พันล้านบาท กำไร 25.6 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 1.1 พันล้านบาท กำไร 42.2 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 1.12 พันล้านบาท กำไร 92.3 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 1.05 พันล้านบาท กำไร 51.6 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 847 ล้านบาท กำไร 4.3 ล้านบาท

seagull_แบรนด์ไทย

Ocean แบรนด์แก้วน้ำไทยมาตรฐานระดับโลก

‘โอเชี่ยน’ (Ocean) เป็นแบรนด์แก้วน้ำของไทยภายใต้บริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน) ซึ่งได้รับการก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2522 โดย กฤษณ์ อัสสกุล ผู้ก่อตั้ง บริษัท ไทยสมุทรประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งบริษัทโอเชี่ยนกลาสขึ้นเพราะเห็นว่า ในขณะนั้นไทยยังไม่มีบริษัทผลิตแก้วน้ำระดับสูงภายในประเทศ

บริษัทโอเชียนกลาสเริ่มต้นด้วยการผลิตแก้วน้ำและผลิตภัณฑ์แก้วที่หลากหลาย โดยมีโรงงานผลิตตั้งอยู่ที่บางปู จังหวัดสมุทรปราการ โดยในช่วงแรกของการดำเนินงาน บริษัทมุ่งเน้นการผลิตแก้วน้ำสำหรับการใช้ในครัวเรือนและธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม โดยเฉพาะในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และบริษัทสายการบิน ซึ่งต้องการแก้วน้ำคุณภาพสูงสำหรับใช้ในธุรกิจของตน 

ในปี พ.ศ. 2534 โอเชียนกลาสได้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย โดยใช้ชื่อย่อในการซื้อขายว่า "OGC" ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการขยายธุรกิจและเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางการเงิน ทำให้บริษัทสามารถลงทุนในการวิจัยและพัฒนา รวมถึง การขยายตลาดไปยังต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ

โดยหลังจากการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โอเชียนกลาสได้เริ่มขยายธุรกิจไปยังตลาดต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ยุโรป และตะวันออกกลาง และเป็นที่นิยมในกลุ่มโรงแรมระดับห้าดาว ร้านอาหารชั้นนำ และสายการบินระหว่างประเทศหลายแห่ง จนปัจจุบัน โอเชียนกลาสเป็นผู้ส่งออกแก้วไปถึง 90 ประเทศทั่วโลก

ซึ่งนี่ก็เป็นเพราะ โอเชียนกลาส มีการลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ เพื่อรองรับความต้องการที่หลากหลายของลูกค้าอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นแก้วหลายรูปร่างและขนาดสำหรับไวน์ชนิดต่างๆ แก้วสำหรับเบียร์ แก้วสำหรับค็อกเทลและเครื่องดื่มในบาร์ที่ถูกออกแบบมาให้มีความหนาและทนทานมากขึ้น รวมถึง ภาชนะสำหรับการเสิร์ฟอาหารและเครื่องดื่มที่มีดีไซน์ทันสมัยและสวยงาม

นอกจากนี้ โอเชียนกลาสยังมุ่งเน้นการพัฒนาและนำนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตอย่างต่อเนื่อง เช่น นวัตกรรม “แอร์ลูเม่ย์” (Aerlumer) ของแบรนด์ ลูคาริส (LUCARIS) แบรนด์แก้วไวน์ของโอเชียนกลาส ซึ่งเป็นลายเส้นโค้งเว้าบริเวณกระเปาะแก้วด้านล่างที่ถูกออกแบบมา เพื่อช่วยกระตุ้นกระบวนการ Micro-oxidation ที่ช่วยให้ไวน์เกิดการพัฒนารสชาติที่ดีขึ้น เมื่อสัมผัสกับอากาศในโมเลกุลที่เล็กมาก และดึงคาแรคเตอร์หลักของไวน์ รวมถึงบูเก้ และอโรมาต่างๆให้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น 

ทั้งนี้ ในช่วงปี 2563 ถึง 2566 บริษัทเจอความท้าทายจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ที่หลากหลาย เช่น สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ทำให้มีการขาดทุนในปี 2563 แต่ก็สามารถฟื้นตัวจนกลับมาทำกำไรได้ในปี 2564 โดยจากรายงานที่บริษัทส่งต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย รายได้และกำไรของบริษัท โอเชียนกลาส จำกัด (มหาชน) ระหว่างปี 2563-2566 เป็นดังนี้

  • ปี 2563 รายได้ 1.1 พันล้านบาท ขาดทุน -245.9 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 1.6 พันล้านบาท กำไร 3.02 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 1.97 พันล้านบาท กำไร 20.31 ล้านบาท 
  • ปี 2566 รายได้ 2 พันล้านบาท กำไร 14.02 ล้านบาท

ocean_แบรนด์ไทย

‘ออตโต้’ แบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้าไทยรายได้หลักพันล้าน

ออตโต้ (OTTO) เป็นแบรนด์เครื่องใช้ไฟฟ้า ภายใต้ บริษัท ออตโต้ คิงส์กลาส จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนสัญชาติไทย เช่น หม้อหุงข้าว หม้ออบลมร้อน กระทะไฟฟ้า เตาแก๊ส เครื่องปั่น เตาแม่เหล็กไฟฟ้า หม้อตุ๋น และอื่นๆ 

ออตโต้เริ่มต้นจากการเป็นบริษัทนำเข้าและจัดจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าจากต่างประเทศในช่วงแรก โดยแต่เดิมมีชื่อว่า บริษัท วรเทพการไฟฟ้า จำกัด ซึ่งถูกก่อตั้งขึ้น เมื่อ พ.ศ. 2519 โดย นาย วรเทพ บันดาลธนวงศ์ และดำเนินธุรกิจเป็นร้านขายอุปกรณ์ไฟฟ้า ก่อนที่จะปรับเปลี่ยนธุรกิจเป็นการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ เพื่อรับมือกับการเข้ามาของห้างสรรพสินค้า โดยผลิตภัณฑ์ที่นำเข้ามาชนิดแรกคือ กาต้มน้ำทนความร้อนชนิดแก้ว จึงเป็นที่มาในการเปลี่ยนชื่อบริษัทใหม่เป็นบริษัท ออตโต้ คิงส์กลาส จำกัด 

ต่อมา นอกจากการนำเข้าสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้า ออตโต้ได้พัฒนาและเริ่มผลิตสินค้าภายใต้แบรนด์ของตนเอง โดยใช้ชื่อว่า "OTTO" ซึ่งเกิดมาจากความคิดที่ว่า ทำอย่างไรที่จะทำให้ ผู้บริโภคในไทยสามารถซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้า ในครัวเรือนได้ในราคาที่ไม่สูง แต่คุณภาพทัดเทียมกับสินค้าจากต่างประเทศที่โด่งดังเรื่องเครื่องใช้ไฟฟ้า อย่างเช่น ญี่ปุ่น

ปัจจุบัน ออตโต้ได้ขยายสายผลิตภัณฑ์ให้ครอบคลุมมากขึ้น และเริ่มเน้นการพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆ ในการผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ตอบสนองต่อการใช้ชีวิตสมัยใหม่ เช่น หม้อทอดไร้น้ำมัน หม้อหุงข้าวดิจิทัล และเครื่องปั่นแบบพกพารวมถึงเครื่องปั่นอเนกประสงค์ เตาอบไฟฟ้า และเครื่องปิ้งขนมปัง 

ผลิตภัณฑ์ของ OTTO ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภค เนื่องจากมีคุณภาพที่ดีในราคาที่เข้าถึงได้ง่าย นอกจากนี้ บริษัทยังเน้นการออกแบบที่ใช้งานง่ายและทนทาน เหมาะสมกับการใช้งานในชีวิตประจำวัน โดยจากข้อมูลของ DataforThai ในช่วงปี 2562-2566 บริษัท ออตโต้ คิงส์กลาส จำกัด มีรายได้และกำไรดังนี้

  • ปี 2562 รายได้ 1.5 พันล้านบาท กำไร 38.4 ล้านบาท
  • ปี 2563 รายได้ 1.5 พันล้านบาท กำไร 28.5 ล้านบาท
  • ปี 2564 รายได้ 1.47 พันล้านบาท กำไร 22.3 ล้านบาท
  • ปี 2565 รายได้ 1.2 พันล้านบาท กำไร 17.9 ล้านบาท
  • ปี 2566 รายได้ 957 ล้านบาท กำไร 14.2 ล้านบาท

otto_แบรนด์ไทย

‘ฮาตาริ’ พัดลมสัญชาติไทย รายได้ 7 พันล้าน

เมื่อพูดถึงพัดลม ชื่อของ "ฮาตาริ (HATARI)" มักจะเป็นหนึ่งในแบรนด์ที่หลายคนคุ้นเคย ไม่ว่าจะเป็นในบ้าน ร้านค้า หรือร้านอาหาร ด้วยดีไซน์และรูปแบบที่หลากหลาย รวมถึง คุณภาพและความคงทน โดยหลายๆ คนน่าจะเพิ่งทราบว่าแบรนด์นี้เป็นแบรนด์ของคนไทยก็เมื่อครั้งที่ บริษัทได้บริจาคเงิน 900 ล้านบาทให้กับมูลนิธิรามาธิบดี

แบรนด์ฮาตาริเริ่มต้นจาก นาย จุน วนวิทย์ ซึ่งจบการศึกษาเพียงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 แต่มีประสบการณ์ทำงานหลากหลายตั้งแต่อายุยังน้อย ตั้งแต่การเป็นลูกจ้างกวาดพื้นร้านขายข้าวสารตั้งแต่อายุ 12 ปี ไปเป็นช่างทำทอง ขับรถโดยสารรับจ้าง ลูกจ้างทำป้ายพลาสติก และโรงกลึง 

ทั้งนี้ ประสบการณ์ทำงานที่ทำให้นายจุนสามารถนำมาใช้พัฒนาพัดลมฮาตาริได้ในภายหลัง คือ งานช่างทำแม่พิมพ์สำหรับฉีดช้นงานพลาสติก โดยนายจุนได้เริ่มออกแบบพัฒนาโครงพัดลมที่ทำด้วยด้วยพลาสติกขึ้นมา ซึ่งถือเป็นของใหม่ เพราะในขณะนั้นพัดลมส่วนใหญ่ทำด้วยโลหะอลูมิเนียม 

นายจุนเริ่มเสนอขายชิ้นงานให้โรงงานผลิตพัดลม จากนั้นได้ไปเรียนรู้การพันมอเตอร์ที่ไต้หวัน จึงนำความรู้นั้นมาผลิตพัดลมที่ใช้ชิ้นส่วนพลาสติกทั้งหมดออกจำหน่ายเป็นแบรนด์ของตัวเอง โดยเริ่มแรกใช้ชื่อยี่ห้อ ‘K’ และยี่ห้อ ‘TORY’ ก่อนที่ในปี พ.ศ. 2533 นายจุน จะได้ก่อตั้งบริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด ขึ้นมาเพื่อผลิตพัดลมภายใต้แบรนด์ “ฮาตาริ” 

ปัจจุบัน ฮาตาริอยู่ภายใต้การบริหารของ ศิริวรรณ พานิชตระกูล และวิทยา พานิชตระกูล ซึ่งเป็นทายาทรุ่นที่ 2 รวมถึงทายาทรุ่นที่ 3 ท่านอื่นๆ ที่มีบทบาทในการพัฒนาดีไซน์ และการตลาด ทำให้ฮาตาริในปัจจุบันมีสินค้าหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นพัดลมสำหรับใช้งานภายในบ้านและอุตสาหกรรม พัดลมระบายอากาศ เครื่องฟอกอากาศ และพัดลมไอเย็น (Air Cooler) โดยฮาตาริครองส่วนแบ่งตลาดพัดลมในประเทศไทยสูงถึง 70%

ในช่วงปี 2562-2566 บริษัท ฮาตาริ อิเลคทริค จำกัด มีผลประกอบการ ดังนี้

  • ปี 2562  รายได้ 6.5 พันล้านบาท กำไร 58.6 ล้านบาท
  • ปี 2563  รายได้ 6.2 พันล้านบาท กำไร 73.8 ล้านบาท
  • ปี 2564  รายได้ 6.3 พันล้านบาท กำไร 65.8 ล้านบาท
  • ปี 2565  รายได้ 5.98 พันล้านบาท กำไร 45.8 ล้านบาท
  • ปี 2566  รายได้ 7 พันล้านบาท กำไร 37.66 ล้านบาท

้hatari_แบรนด์ไทย









 

 

advertisement

SPOTLIGHT