รัฐบาลจีนประกาศไฟเขียว ยกเลิกการส่งเด็กจีนให้ต่างชาติรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม หลังจากดำเนินโครงการนี้มานานกว่า 30 ปี ที่มีรากฐานมาจากนโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy) ที่เคยเข้มงวด หวังลดอัตราการเกิดของประชากรในขณะนั้น
สำนักข่าวรอยเตอร์ รายงานว่า ล่าสุดรัฐบาลจีน ได้ประกาศว่าจะไม่ส่งเด็กจีนไปยังต่างประเทศเพื่อไปเป็นบุตรบุญธรรมของชาวต่างชาติอีกต่อไป หลังมาตรการนี้ถูกใช้มานานกว่า 30 ปี หรือเริ่มต้นเมื่อปีพ.ศ. 2535 ซึ่งมาตรการส่งเด็กจีนไปเป็นบุตรบุญธรรมของช่วต่างชาติเกิดขึ้นเมื่อหลังจากนโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy) ที่เข้มงวดของจีน
อย่างไรก็ตาม เหมา หนิง โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า รัฐบาลจีนได้ทำการปรับนโยบายการรับเด็กไปเลี้ยงในต่างประเทศให้สอดคล้องกับแนวโน้มทั่วโลก และมีการปรับมาตรการรับบุตรบุญธรรมหรือลูกเลี้ยงของญาติทางสายเลือดในรุ่นเดียวกันซึ่งเป็นชาวต่างชาติไม่เกิน 3 รุ่นที่มาจีน เท่านั้น แต่หากไม่ใช่ จีนจะไม่ส่งเด็กไปต่างประเทศเพื่อรับเลี้ยงบุตรบุญธรรมอีกต่อไป”
บทความนี้ SPOTLIGHT ชวนทุกคนมาวิเคราะห์ถึงสาเหตุว่าทำไมจีนถึงสั่งยกเลิกมาตรการ ส่งเด็กให้ต่างชาติรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม ผลพวงจากนโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy)
1.นโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy)
มาตรการส่งเด็กจีนให้ต่างชาติรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เป็นผลพวงมาจากนโยบายลูกคนเดียว (One Child Policy) ในปีพ.ศ.2522 นำโดย เติ้งเสี่ยวผิง นโยบายลูกคนเดียวถูกออกมาเพื่อควบคุมจำนวนประชากรไม่ให้เพิ่มขึ้นมากเกินไป แม้ว่านโยบายนี้จะขัดกับความคิดดั้งเดิมของชาวจีนที่นิยมมีลูกมาก แต่ในขณะนั้นจีนยังอยู่ในช่วงฟื้นฟูประเทศ จากสงครามภายในและภายนอกประเทศ ทรัพยากรจำนวนมากถูกทำลาย ประชาชนเผชิญกับความอดอยากอย่างรุนแรง จึงทำให้รัฐบาลต้องนโยบายนี้
โดยนโยบายลูกคนเดียว หรือ One Child Policy อนุญาตให้แต่ละครอบครัวมีลูกได้เพียง 1 คน ยกเว้นครอบครัวในชนบทที่ได้รับอนุญาตให้มีลูก 2 คนได้ แต่หากในกรณีที่ลูกคนแรกเป็นผู้หญิง และครอบครัวที่เป็นชนกลุ่มน้อยก็สามารถมีลูกมากกว่าหนึ่งคนได้ ซึ่งหากครอบครัวไหนฝ่าฝืนก็จะถูกลงโทษตามกฎหมาย เช่น การปรับเป็นเงินในรูปแบบของค่าบำรุงสังคม หรือ หากเป็นข้าราชการมีโทษที่รุนแรงถึงขนานอาจถึงไล่ออกจากงาน
2.นโยบายลูกคนเดียว ผลกระทบต่อประเทศในระยะยาว
แม้ว่านโยบายลูกคนเดียว จะส่งผลให้จีนสามารถควบคุมจำนวนประชากรได้ จากอัตราการเกิดที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ยังสามารถแก้ไขปัญหาความยากจน ทำให้ประชากรมีมาตรฐานในระดับพออยู่พอกิน ลดปัญหาการขาดแคลนปัจจัยการดำรงชีวิตพื้นฐาน
อย่างไรก็ตามกลับส่งผลระยะยาวต่อประเทศ ทั้งในเรื่องของสังคม ค่านิยมและเศรษฐกิจ เช่น
-
ค่านิยมชายเป็นใหญ่ หญิงเป็นรอง : ค่านิยมของชาวจีนให้ความสำคัญกับลูกชายมากกว่าลูกสาว เพราะลูกชายคือผู้สืบสกุล และสามารถใช้แรงงานได้ แต่ลูกผู้หญิงหากเมื่อแต่งงานต้องแตกออกนอกบ้าน นามสกุลก็ต้องเปลี่ยนตามสามี
-
ปัญหาการทำแท้งเพิ่มขึ้นสูง : ปัญหาการทำแท้งเกิดขึ้นเมื่อแม่เด็กทราบว่า ทารกในครรภ์เป็นเพศหญิง เนื่องจากนโยบายลูกคนเดียว แต่บางบ้านอาจไม่ทำแท้ง แต่มีการส่งลูกผู้หญิงจีนให้ต่างชาติรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม โดยข้อมูลจาก จากข้อมูลขององค์กร China Children International (CCI) พบว่า มาตรการส่งเด็กให้ต่างชาติรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรมมากกว่า 160,000 คน เป็นเพศหญิงแล้วกกว่า 82,000 คน
-
ภาวะการขาดแคลนแรงงาน : เนื่องจากอัตราการเกิดของประชากรที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2555 ในปี จีนต้องพบเจอกับปัญหา มีประชากรวัยทำงานลดลงมากกว่า 3.45 ล้านคน โดยในปี 2562 – 2565 ยังพบว่าประชากรวัยทำงานจีนหดตัวลงมากกว่า 40 ล้านคน และดูเหมือนว่ายังคงมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง
-
ปัญหาประชากรเพศชายมากกว่าเพศหญิง : ในปี พ.ศ. 2563 มีการรายงานว่าสัดส่วนประชากรเพศชายมีมากกว่าเพศหญิงมากถึง 34.9 ล้านคน
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตอนนี้รัฐบาลจีนได้มีการยกเลิกนโยบายลูกคนเดียว โดยปรับเปลี่ยนให้เป็นนโยบาลลูก 2 คน และลูก 3 คนได้แล้ว แต่ก็ยังคงพบว่า ค่านิยมและความเชื่อของคนจีนได้ถูกปรับเปลี่ยนไปเสียแล้ว โดยคนรุ่นใหม่มองว่าในภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำ ไม่อยากมีลูก ไม่อยากมีครอบครัวเพิ่อเพิ่มภาระให้ตนเอง เช่นเดียวกันกับเทรนด์ Pet Parents หรือเลี้ยงสัตว์เหมือนลูกได้เติบโตขึ้น คนรุ่นใหม่หันมาเลี้ยงสัตว์เลี้ยงแทนการมีลูก ส่งผลโดยตรงต่ออัตราการแต่งงาน อัตราการเกิดของเด็กในประเทศ ซึ่งเมื่อปี 2565 จีนกลายเป็นหนึ่งประเทศที่มีอัตราการเกิดต่ำที่สุดในโลกอยู่ที่ 1.09 ลดลงจากปี 2564 ที่อยู่ที่ 1.15 ต่ำกว่าอัตราการเกิดของญี่ปุ่นและสูงกว่าเกาหลีใต้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนอัตราการเกิดของจีนเมื่อ 60 ปีที่แล้ว อยู่ที่ 7.5
แม้ว่าการที่รัฐบาลจีน ไฟเขียว สั่งยกเลิกมาตรการ ส่งเด็กให้ต่างชาติรับเลี้ยงเป็นบุตรบุญธรรม เพื่อหวังเพิ่มประชากรในประเทศแต่ก็ปฎิเสธไม่ได้ว่าตอนนี้จีนเริ่มก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุในไม่ช้า
อ้างอิง : reuters