ในอดีตบนโลกใบนี้ แนวคิดเรื่องประชาธิปไตยและคอมมิวนิสต์เคยต่อสู้กันอย่างหนัก และระบอบคอมมิวนิสต์ก็เคยรุ่งเรืองในช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังการล่มสลายของสหภาพโซเวียต หลายชาติที่เคยเป็นคอมมิวนิสต์ก็เปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไป และนับจนถึงปัจจุบัน มีเพียง 5 ประเทศที่ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์อยู่ Spotlight World รวบรวมมาให้ว่ามีประเทศอะไรบ้าง แต่ที่สำคัญ ไม่มีรัสเซียอยู่ด้วย
คาร์ล มาร์กซ์ และฟรีดริช เองเงลส์ นักปรัชญาเศรษฐศาสตร์และการเมืองชาวเยอรมัน เริ่มวางพื้นฐานของลัทธิคอมมิวนิสต์ ในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 แต่การกำเนิดประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ครั้งแรก เกิดขึ้นหลังการปฏิวัติรัสเซียในปี ค.ศ. 1917 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งสหภาพโซเวียต
ในช่วงที่ยังคงมีสหภาพโซเวียต คือระหว่างปี 1922-1991 ประเทศที่ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์มีอยู่ในหลายภูมิภาคทั่วโลก ทั้งในยุโรปตะวันออก เอเชีย และแอฟริกา บางประเทศ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน ยังคงความเป็นคอมมิวนิสต์เอาไว้จนถึงทุกวันนี้ ในขณะที่บางประเทศ เช่น เยอรมนีตะวันออก ซึ่งปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์และมีบทบาทสำคัญในยุคสงครามเย็น แต่ปัจจุบันไม่มีอยู่แล้ว
ระบอบคอมมิวนิสต์เป็นทั้งระบบการเมืองและเศรษฐกิจ ในด้านการเมือง พรรคคอมมิวนิสต์มีอำนาจเบ็ดเสร็จในการปกครองประเทศ และการเลือกตั้งจะเป็นระบบพรรคเดียว ส่วนในด้านเศรษฐกิจ พรรคมีบทบาทในการควบคุมระบบเศรษฐกิจของประเทศ และการเป็นเจ้าของของภาคเอกชนถือเป็นเรื่องผิดกฎหมาย อย่างไรก็ตาม ลักษณะนี้ได้เปลี่ยนไปในบางประเทศ เช่น จีน ซึ่งมีการใช้ระบอบคอมมิวนิสต์ทางการเมือง แต่เปิดเสรีทางเศรษฐกิจ
ปัจจุบันมีประเทศที่ยังปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ 5 ประเทศ ได้แก่ จีน สปป.ลาว เวียดนาม เกาหลีเหนือและคิวบา
เหมา เจ๋อตงเข้ามาปกครองประเทศจีนในปี ค.ศ. 1949 และประกาศจัดตั้งประเทศในชื่อ "สาธารณรัฐประชาชนจีน" ปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ และจีนยังคงดำรงความเป็นคอมมิวนิสต์มาจนถึงปัจจุบัน
แม้ว่าจีนจะมีพรรคการเมืองอื่นนอกเหนือจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน (CPC) และมีการจัดเลือกตั้งทั่วประเทศ แต่พรรค CPC ยังคงควบคุมการแต่งตั้งตำแหน่งทางการเมืองทั้งหมด
ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา จีนได้เปิดประเทศสู่โลกภายนอกมากขึ้น และจีนเป็นชาติ หนึ่งประเทศ สองระบบ คือปกครองด้วยคอมมิวนิสต์ แต่ใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเสรี ความเปลี่ยนแปลงนี้ส่งผลให้ช่วยความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ และในปี ค.ศ. 2004 รัฐธรรมนูญของจีนได้รับการแก้ไขเพื่อรับรองสิทธิในทรัพย์สินของเอกชน
ฟิเดล คาสโตรและพรรคพวกเป็นผู้นำการปฏิวัติในปี ค.ศ. 1953 เพื่อยึดอำนาจรัฐบาล และในปี ค.ศ. 1965 คิวบาได้กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์อย่างเต็มตัว พร้อมทั้งพัฒนาความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับสหภาพโซเวียต ขณะเดียวกัน สหรัฐอเมริกาได้ประกาศแบนการค้าทั้งหมดกับคิวบา ทำให้เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในปี ค.ศ. 1991 คิวบาจำเป็นต้องหาประเทศพันธมิตรใหม่สำหรับการค้าและการสนับสนุนทางการเงิน จึงหันไปหาประเทศที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างจีน โบลิเวีย และเวเนซุเอลาแทน
ในปี ค.ศ. 2008 ฟิเดล คาสโตร ลงจากตำแหน่ง และราอูล คาสโตร น้องชายของเขาเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีแทน ก่อนที่ฟิเดลเสียชีวิตในปี ค.ศ. 2016
ในช่วงรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามา ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและคิวบาผ่อนคลายลง โดยมีการลดข้อจำกัดในการเดินทาง อย่างไรก็ตาม ในเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2017 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ยกเลิกนโยบายบางส่วนและเพิ่มความเข้มงวดในการเดินทางอีกครั้ง ขณะที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดนในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนนโยบายบางประการจากยุคทรัมป์ให้มีความผ่อนคลายลง
ลาว มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว หรือสปป.ลาว กลายเป็นประเทศคอมมิวนิสต์ในปี ค.ศ. 1975 หลังจากการปฏิวัติที่ได้รับการสนับสนุนจากเวียดนามและสหภาพโซเวียต โดยก่อนหน้านั้น ลาวปกครองด้วยระบอบกษัตริย์
รัฐบาลลาวในปัจจุบันส่วนใหญ่ ดำเนินการโดยทหารที่สนับสนุนระบบพรรคการเมืองพรรคเดียว โดยมีพื้นฐานจากอุดมการณ์แบบ “มาร์กซิสต์” อย่างไรก็ตาม ในปี ค.ศ. 1988 ลาวได้เริ่มอนุญาตให้มีการถือครองทรัพย์สินเอกชนในบางรูปแบบ และในปี ค.ศ. 2013 ลาวได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกขององค์การการค้าโลก (WTO) ซึ่งสะท้อนถึงการเปิดกว้างทางเศรษฐกิจของประเทศ
เมื่อปี ค.ศ. 1945 หลังจากสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่สอง ญี่ปุ่นที่เคยปกครองคาบสมุทรเกาหลีได้ถอนกำลังออกไป แต่ในเวลานั้น เกาหลีเหนือและเกาหลีใต้กลับถูกแบ่งแยกออกจากกัน โดยฝั่งเกาหลีเหนือ ซึ่งมีรัสเซียสนับสนุน ประกาศจัดตั้งรัฐบาลที่มีนายคิม อิลซองเป็นผู้นำ อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในตอนนั้นจะปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์ แต่คิม อิลซองได้พัฒนาแนวคิดเฉพาะที่เรียกว่า จูเช่ หรือการพึ่งพาตนเองขึ้นมา ดังนั้นระบอบคอมมิวนิสต์ของเกาหลีเหนือจึงแตกต่างจากที่อื่น
เวียดนามถูกแบ่งแยกออกเป็นสองส่วนในปี ค.ศ. 1954 หลังเกิดสงครามอินโดจีนครั้งที่หนึ่ง ในตอนแรก การแบ่งแยกดังกล่าวถูกวางแผนให้เป็นเพียงชั่วคราว แต่กลับกลายเป็นถาวร โดยเวียดนามเหนือกลายเป็นคอมมิวนิสต์ที่ได้รับการสนับสนุนจากสหภาพโซเวียต ขณะที่เวียดนามใต้เป็นประชาธิปไตยและได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐอเมริกา
หลังสงครามกลางเมืองที่ยาวนานกว่า 20 ปี เวียดนามทั้งสองส่วนได้รวมเป็นหนึ่งเดียว และในปี ค.ศ. 1976 เวียดนามก็เปลี่ยนสู่ระบอบคอมมิวนิสต์ อย่างไรก็ตาม ในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา เวียดนามได้เปลี่ยนแปลงนำระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมเข้ามาใช้
ที่มา thoughtco