ปล่อยให้ลุ้นมาเกือบๆ 1 ปีกับผลพิจารณาควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่เรื่องให้หน่วยงานกำกับดูแล อย่างคณะกรรมการกำกับกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ตัดlสินใจ
จนในที่สุดเมื่อวานนี้(20 ต.ค. 65 ) หลังการประชุมบอร์ด กสทช. ที่ใช้เวลาถกในการประชุมลากยาวแบบมารธอนถึง 11 ชั่วโมง ในที่สุด บอร์ด กสทช. ได้มีมติเสียงข้างมากรับทราบการควบรวม TRUE และ DTAC พร้อมกำหนดเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะ เพื่อการคุ้มครองผู้บริโภคและการพัฒนากิจการโทรคมนาคม
โดย กสทช.ได้พิจารณาการรวมธุรกิจระหว่าง TRUE และ DTAC เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อนและมีผลกระทบต่อสาธารณะ จึงใช้เวลาในการศึกษาข้อมูลทุกด้านอย่างละเอียดรอบคอบได้หารือ รวมถึงแสดงความคิดเห็นในการพิจารณาร่วมกันในทุกๆ ด้าน ดังนั้นได้ใช้เวลาในการประชุมประมาณ 11 ชั่วโมง
สำหรับมติที่ประชุมเห็นชอบประเด็นการพิจารณาว่าการรวมธุรกิจกรณีนี้เป็นการถือครองธุรกิจในบริการประเภทเดียวกับตาม ประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549
1.กำหนดเพดานราคาของอัตราค่าบริการเฉลี่ย
2.กำหนดราคาค่าบริการ โดยใช้ราคาเฉลี่ยทางเศรษฐศาสตร์ (Average Cost Pricing)
3.การคงทางเลือกของผู้บริโภค การกำหนดให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ยังคงแบรนด์การให้บริการแยกจากกัน เป็นระยะเวลา 3 ปี
4.สัญญาการให้บริการ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องคงไว้ซึ่งเงื่อนไขของสัญญาและข้อตกลงระหว่างบริษัทและผู้ใช้บริการ รวมถึงผลประโยชน์ที่ได้รับตามที่ได้มีการทำสัญญาหรือข้อตกลงไว้ตามระยะเวลาที่กำหนดในสัญญา เว้นแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขของสัญญาที่เป็นคุณหรือเป็นประโยชน์และได้รับการยินยอมจากผู้ใช้บริการแล้ว
5.การประชาสัมพันธ์การให้บริการเพื่อความเชื่อมั่นของผู้ใช้บริการ ภายหลังการรวมธุรกิจ บริษัท TUC และบริษัท DTN จะต้องประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ข้อมูลต่อสาธารณะ เพื่อให้ผู้ใช้บริการทราบถึงการคงไว้ซึ่งคุณภาพในการให้บริการและค่าบริการที่เป็นธรรม และจะต้องกำหนดแนวทางการปฏิบัติเพื่อรักษาคุณภาพของสินค้าและบริการหลังการรวมธุรกิจ โดยสำนักงาน กสทช. อาจกำหนดแนวทางและระยะเวลาการดำเนินการ รวมถึงเงื่อนไขในการปฏิบัติในเรื่องการประชาสัมพันธ์ เพื่อให้บริษัท TUC และบริษัท DTN ดำเนินการต่อไป
1. การรายงานผลการประกอบธุรกิจ ภายใต้การดำเนินการตามกำหนดระยะเวลาและเงื่อนไขที่ได้รับจาก กสทช. ทุก 6 เดือน ในระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี
2. ภายหลังการรวมธุรกิจ หาก กสทช. พิจารณาหรือได้รับการร้องเรียนว่า มีการกระทำ พฤติกรรม หรือเหตุอันเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการ กิจการโทรคมนาคมมีการเปลี่ยนแปลงในสาระสำคัญทำให้เงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะไม่เหมาะสมหรือไม่มีประสิทธิภาพ กสทช. อาจระงับ ยกเลิก เพิ่มเติม หรือปรับปรุงเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะใหม่ก็ได้ตามความเหมาะสมและความจำเป็น
นอกจากนี้ที่ประชุมมอบหมายให้สำนักงาน กสทช. นำประเด็นไปหารือคณะอนุกรรมการที่ปรึษากฎหมายของ กสทช. รวม 3 ประเด็น ได้แก่ เรื่องการเห็นชอบกลไกการขายหุ้นออกไปจนไม่มีอำนาจในการควบคุมเชิงนโยบาย (Divestiture) เรื่องการรวมธุรกิจของบริษัท TUC และบริษัท DTN ในอนาคต และเรื่องร้องเรียนคุณสมบัติของที่ปรึกษาอิสระ (บล.ฟินันซ่า)
- มอบหมายให้สำนักงาน กสทช. ไปศึกษาประกาศรวมธุรกิจปี 2561 และประกาศปี 2559
- เห็นชอบในหลักการในการแต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อติดตามและประเมินผลการรวมธุรกิจตามประกาศปี 2561 ทั้งหมด
- ให้สำนักงาน กสทช. และผู้แจ้งการรวมธุรกิจประกาศให้ผู้ใช้บริการรับทราบเงื่อนไขและมาตรการเฉพาะตามที่มีมติ เพื่อมีการตรวจสอบและมีบทลงโทษกรณีทำไม่ได้ เช่น ปรับเป็นจำนวนร้อยละของรายได้ หรือปรับเป็นขั้นบันได และเพิกถอนใบอนุญาต
เมื่อช่วงปลายปี 2564 บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TRUE) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) ได้ประกาศแผนควบรวมบริษัทและควบรวมกิจการร่วมกัน โดยใช้วิธีการแลกหุ้น(Swap) ซึ่งให้ผู้ถือหุ้นเดิมของทั้ง TRUE และ DTAC ที่ใช้สิทธิ์แลกหุ้นจะเข้าไปถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนใหม่ที่ถูกตั้งขึ้นมาบริษัทที่ควบรวม (MergeCo)
โดยใช้วิธีการตั้งบริษัทร่วมทุน Citrine Global กว้านซื้อหุ้น TRUE-DTAC ใช้แลกหุ้นบริษัทร่วมทุนใหม่ สำหรับฐานจำนวนผู้ใช้งานเครือข่ายโทรศัพท์มือถือของ MergeCo หลังการควบรวม
เมื่อดูข้อมูลของ TRUE กับ DTAC ณ สิ้นปี 2564 การรวมกิจการในครั้งนี้จะส่งให้กบริษัทที่ควบรวมแห่งนี้แซงแชมป์เก่าอย่างเอไอเอส หรือ ADVANC ขึ้นเป็นที่ 1 แทน เอไอเอส ใน 2 เรื่อง เรื่องแรก คือ จำนวนลูกค้า โดยจะมีจำนวนผู้ใช้งานรวมกันเพิ่มเป็น 51.85 ล้านราย แบ่งเป็นของ TRUE มีผู้ใช้งาน 32.25 ล้านราย กับ DTAC มีผู้ใช้งาน 19.60 ล้านราย
ส่วนเรื่องที่สอง คือ รายได้เพราะเมื่อดูรายได้ของทั้งปี 2564 ของ TRUE อยู่ที่ 1.47 แสนล้านบาท ส่วน DTAC อยู่ที่ 8.14 หมื่นบาท เมื่อนำมารวมกันแล้วจะมีรายได้เพิ่มเป็น 2.28 แสนล้านบาท เอาชนะเอไอเอสที่เคยมีรายได้สูงสุดเป็นเบอร์ 1 ในปีที่แล้วอยู่ที่ 1.83 แสนล้านบาท
ส่วนที่เหลือยังคงตามหลัง 'เอไอเอส' ทั้งจำนวนคลื่นในมือที่รวมกันแล้ว TRUE กับ DTAC จะอยู่ที่ 1,350 MHz น้อยกว่าฝั่งเอไอเอสที่มี 1,450 MHz -Itmujมูลค่ามาร์เก็ตแคปล่าสุดเมื่อวันที่ 20 ต.ค.2565 ของTRUE อยู่ที่ประมาณ 1.70 แสนล้านบาท ส่วน DTAC อยู่ที่ 1.09 แสนล้านบาท หากนำมามาร์เก็ตแคปของ TRUE กับ DTAC มารวมกันแล้วจะอยู่ที่ 2.79 ล้านบาท ถือว่ายังเป็นรองเอไอเอสที่มีมูลค่ามาร์เก็ตแคปถึง 5.62 แสนล้านบาทอยู่พอสมควร
ทั้งนี้ปี 2564 ของ MergeCo มีกำไร 1,928 ล้านบาท มาจากที่ TRUE มีผลขาดทุนจำนวน 1,428 ล้านบาท รวมกับ DTAC มีกำไร 3,356 ล้านบาท ทำให้ยังมีกำไรเป็นอันดับ 2 รองจากเอไอเอสที่มีกำไรเป็นอันดับ 1 ที่ 26,922 ล้านบาท และจะมีปริมาณคลื่นในมือ ของ MergeCo รวมอยู่ที่ 1350 MHz แบ่งเป็น TRUE มี 1020 MHz รวมกับ DTAC มี 330 MHz ทำให้ยังมีปริมาณคลื่นเป็นอันดับ 2 รองจากเอไอเอสที่มีกำไรเป็นอันดับ 1 ที่ 1450 MHz
ด้านนักวิชาการจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(TDRI)'ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์' ประธาน TDRI เคยแสดงจุดไม่เห็นด้วยกับดีล TRUE กับ DTAC ควบรวมธุรกิจ โดยให้เหตุผลว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ถือหุ้น เนื่องจากผู้เล่นในตลาดโทรศัพท์มือที่ลดจาก 3 ราย เหลือ 2 ราย แต่จะส่งผลเสียต่อผู้บริโภคและบุคคลอื่นๆที่เกี่ยวข้องเช่น ดีลเลอร์ และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องในหลายๆส่วน
ดังนั้น ไม่ว่าจะเรียกความร่วมมือทางธุรกิจที่เกิดขึ้นว่าอะไร นี่คือ การควบรวมกิจการ มีโครงสร้างกึ่งผูกขาดอยู่แล้วการควบรวมกิจการครั้งนี้จึงค่อนข้างอันตรายต่อการผูกขาดตลาด ผู้ได้อานิสงส์ หรือ ผลกระทบทางบวกจากเรื่องนี้ คือ ผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัท บริษัทคู่แข่งที่ไม่ได้เกี่ยวกับการควบรวมกิจการ แต่มีราคาหุ้นเพิ่มสูงขึ้น
"เอไอเอสที่ไม่ได้อยู่ในดีลควบรวมนี้ ราคาหุ้นก็พุ่งขึ้นอย่างมาก ดังนั้นด้วยเหตุผลทางเศรษฐศาสตร์ที่เมื่อควบรวมแล้ว จะทำให้เหลือผู้เล่นเพียงสองราย การแข่งขัน และตัดราคากันจะน้อยลงไปด้วย"
ส่วนผู้ได้รับผลด้านลบคือ ผู้บริโภค และคู่ค้าของผู้ให้บริการที่อาจจะมีอำนาจต่อรองลดลงธุรกิจสตาร์ทอัพ ที่คาดว่า จะได้รับการสนับสนุน การควบรวมจะทำให้ผู้สนับสนุนลดลงไปหนึ่งราย ส่วนรัฐบาล จะได้รับผลกระทบรายได้ลดลง ถ้ามีการประมูลคลื่นความถี่ ผู้เข้าประมูลลดลงรายได้ของรัฐย่อมลดลง ขณะที่ประชาชนจะต้องถูกเก็บภาษีเพิ่มขึ้นเพื่อไปทดแทนรายได้ของรัฐที่หายไป
ถัดมาคือระบบเศรษฐกิจไทย ผลของการควบรวมกิจการจะทำให้การเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลของไทยมีต้นทุนสูงขึ้น การประกอบอาชีพ การค้าขายออนไลน์ การเรียนออนไลน์ ฯลฯ จะได้รับผลกระทบทั้งหมด
"เมื่อมีการควบรวมกันแล้ว ตลาดจะเหลือผู้เล่นเพียง 2 ราย ผู้เล่น 2 ราย จะมีความจำเป็นที่แข่งขันกัน ตัดราคากัน โปรโมชั่นดีๆ บริการใหม่ๆ จะน้อยลงกว่าการที่มี 3 ราย ด้วยนัยนี้ เอไอเอสจึงได้ประโยชน์ไปด้วย แม้ไม่ใช่คนที่ไปควบรวม"
“ตลาดโทรศัพท์มือถือในยุโรป จะไม่ยอมให้ควบรวมกันเหลือ 3 ราย แล้วมาเหลือ 2 ราย แม้กระทั่งสิงคโปร์ ซึ่งตลาดเล็กๆขนาดนั้นยังมีผู้ประกอบการมากกว่า 3 ราย แล้วทำไมไทยจะรองรับ 3 รายไม่ได้ ดังนั้น ข้อเสนอที่ดีที่สุด คือ ต้องไม่ให้มีการควบรวม หากดีแทคจะออกจากตลาดไทย ก็ให้ขายให้ผู้ประกอบการรายอื่นที่ไม่ใช่เอไอเอสและทรูอีกทั้งเพื่อให้ตลาดมีการแข่งขัน มีต้นทุนลดลง จะต้องลดต้นทุนโครงสร้างพื้นฐาน ให้ใช้โครงข่ายร่วมกัน”
สภาผู้บริโภค ได้อ้างเอกสารหลุด รายงานการศึกษาที่ กสทช. ได้จ้างบริษัทที่ปรึกษาต่างประเทศ SCF Associates Ltd.ในเรื่องผลกระทบของการควบรวมค่ายมือถือ ทรู-ดีแทค ที่มีต่อสังคมไทยทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม โอกาสการแข่งขันในอุตสาหกรรมนี้ และสิทธิการเข้าถึงบริการของสังคม สรุปโดยสาระสำคัญมีดังนี้
1.พื้นที่คนจน พื้นที่ห่างไกล ที่ไม่สร้างผลกำไรจะไม่มีโครงข่าย หรือบริการใหม่ๆ เข้าไปถึง ซึ่งแปลว่า “คนจน คนชายขอบจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” โดนละเมิดสิทธิ์การเข้าถึงบริการคลื่นความถี่ที่ประชาชนเป็นเจ้าของ
2.ในขณะที่กลุ่มรายได้สูง กลุ่มชุมชนเมืองที่จะสร้างกำไรสูงสุดให้สองค่ายที่เหลือในตลาด จะได้รับบริการโดยเฉพาะระบบ 5 จี อย่างเต็มประสิทธิภาพ กลุ่มคนรายได้ปานกลางและคนจนเมืองต้องจ่ายค่าบริการที่สูงเกินความจำเป็น กับเทคโนโลยี่ทันสมัย3.การควบรวมที่มีเหลือสองค่าย หรือ duopoly จะไม่เกิดการแข่งขัน และกลายเป็นระบบร่วมมือกัน หรือ "ฮั้ว" ไปในที่สุด ทั้งนี้เพื่อลดต้นทุนในโครงข่ายสำหรับการให้บริการใหม่ๆ และ ลดการแข่งขันกันเอง
4.การเข้าสู่ระบบสองค่ายหรือ duopoly จะทำให้เศรษฐกิจดิจิทัลของประเทศล้าหลัง ตามหลังประเทศฟิลิปปินส์ ที่ขณะนี้รั้งท้ายในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้าน
5.จะต้องใช้เวลาไม่น้อยกว่าสิบปีถึงจะสามารถพลิกฟื้นระบบตลาดสองค่ายนี้ กลับเป็นตลาดที่มีการแข่งขัน หรือเกิดคู่แข่งหน้าใหม่ในตลาด