สมัยนี้แค่ทำงานมีรายได้บ้าง การออกรถยนต์ใหม่สักคัน ก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากเลย แต่จากข้อมูลของบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (เครดิตบูโร) พบว่า คนที่กู้รถยนต์ในปัจจุบันมีผู้ที่เป็นหนี้เสียและมีการค้างชำระในจำนวนที่ไม่น้อยเลย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนกลุ่ม Gen Z หรืออายุประมาณไม่เกิน 25 ปี ที่อาจยังไม่รู้ตัวว่า การเป็นหนี้เกินตัวและปล่อยให้มีประวัติหนี้เสียจะส่งอย่างไรต่อชีวิตในอนาคต
ดังนั้นก่อนตัดสินใจซื้อรถยนต์ใหม่ซักคัน สำหรับทุกคน โดยเฉพาะ Gen Z ที่เพิ่งเริ่มทำงานอาจะต้องสำรวจตัวเองใน 3 เรื่องต่อไปนี้
1.ทำไมคนเริ่มต้นทำงาน ถึงชอบซื้อรถยนต์
- เพื่อความสะดวกในการเดินทาง
ต้องยอมรับว่าน้อยคนที่จะโชคดีได้ที่ทำงานใกล้บ้านที่อาศัยอยู่ในปัจจุบัน โดยส่วนใหญ่ต้องไปทำงานไกลบ้านหมดเวลาเดินทางในแต่ละวันไปหลายลั่วโมง ซึ่งการเดินทางด้วยรถประจำทางอาจเป็นไปด้วยความยากลำบากทั้งการเดินทางออกจากซอยลึกมาขึ้นรถถนนใหญ่ หรือความไม่ปลอดภัยหากต้องออกเดินทางตั้งแต่เช้ามืดและกลับบ้านช่วงมืดค่ำทุกวัน
แม้การเช่าห้องพักใกล้ที่ทำงานอาจเป็นอีกหนึ่งทางเลือก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเลือกได้ ด้วยข้อจำกัดที่ต่างกัน เช่น ต้องดูแลคนในครอบครัว หรือพ่อแม่ยังไม่สบายใจที่จะให้ออกไปใช้ชีวิตอยู่คนเดียว การขับรถยนต์ไปทำงานที่อาจดูเป็นภาระเกินตัว แต่อาจเป็นความจำเป็นของคน Gen Z บางคน
- ออกรถง่าย ใช้เงินดาวน์น้อย
คน Gen Z ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานหากมีเงินเก็บ 25,000 – 30,000 บาท ก็สามารถออกรถยนต์ใหม่ป้ายแดงได้ไม่ยาก เพราะเงื่อนไขการดาวน์รถหลายแห่งอยู่ที่เพียง 5%เท่านั้น ดังนั้นหากรถยนต์ที่ราคาเริ่มต้นไม่สูงหรือประมาณ 550,000 -600,000 บาท ก็ใช้เงินดาวน์เพียงไม่เกิน 30,000 บาทเท่านั้น
ส่วนยอดผ่อนหากเลือกผ่อนระยะยาว เช่น 84 เดือน ด้วยราคารถยนต์และเงินดาวน์ข้างต้น อาจผ่อนที่ 8,500 – 9,500 บาทเท่านั้น ซึ่งดูแล้วก็อาจรู้สึกว่าเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้สูงนัก หารเฉลี่ย 30 วัน คิดเป็นประมาณ 300 บาท อาจใกล้เคียงหรือต่ำกว่าค่าเดินทาง ไป-กลับ ที่ทำงานด้วยรถประจำทางหรือ Taxi ก็ได้ เพียงแต่ว่าค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนของการมีรถยนต์นั้นอาจไม่ได้จบแค่เพียงค่าผ่อนเท่านั้น
2.ต้นทุน ที่อาจยังมองไม่เห็น
- ค่าน้ำมัน ค่าที่จอด
ต้นทุนที่หลายคนอาจลืมนึกถึง คือ ค่าน้ำมันรถ ที่ขึ้นลงตามราคาหน้าปั๊ม และเป็นสิ่งที่ต้องจ่ายกันอย่างน้อยทุกสัปดาห์ ซึ่งแม้จะใช้รถยนต์แค่ไปกลับที่ทำงาน แต่เมื่อรวมทั้งเดือนแล้วอาจเป็นเงินเกินครึ่งหรือเท่ากับค่าผ่อนรถยนต์เลย
สำหรับค่าที่จอดก็เป็นอีกหนึ่งต้นทุนที่ไม่ใช่จำนวนน้อยเลย โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในตัวเมืองซึ่งค่าที่จอดมีทั้งแบบรายวันหลักสิบถึงหลักร้อย และรายเดือนหลักร้อยถึงหลักพัน โดยยังไม่รวมถึงค่าที่จอดจากกิจกรรมส่วนตัว เช่น แวะทานอาหารในห้างฯ หรือท่องเที่ยวช่วงเสาร์อาทิตย์ ที่บางทริปค่าที่จอดก็ไม่ได้ถูกเลย
- ค่าประกันภัย ค่าซ่อมบำรุง
เป็นเสมือนต้นทุนภาคบังคับสำหรับคนมีรถยนต์ ที่แม้ค่าประกันภัยรถยนต์อาจมีหลายราคาให้เลือกแต่โดยปกติสำหรับคนที่เพิ่งออกรถยนต์ใหม่ป้ายแดงก็มักยอมเลือกประกันรถราคาแพงเพื่อความคุ้มครองรถแสนรักที่ครอบคลุม ส่วนค่าบำรุงรักษาก็มีทั้งค่าตรวจเช็กประจำปีที่จำเป็นต้องจ่ายเพื่อความปลอดภัยในการใช้งาน และค่าล้างรถที่หลายคนยินดีจ่ายเพื่อความสะดวกสบายและความสวยงามของรถยนต์ที่เป็นเสมือนหนึ่งในหน้าตาที่ต้องมี
- เวลาพักผ่อน ที่หายไป
สำหรับคนที่เรียกรถรับจ้างผ่านแอปพลิเคชัน นั่ง Taxi หรือเลือกออกจากบ้านเช้าสักหน่อยเพื่อลุ้นมีที่นั่งสบายๆ บนรถประจำทาง ก็อาจพอจะมีเวลาพักผ่อนบ้าง อาจจะไม่ถึงขั้นต้องนอนหลับระหว่างเดินทาง แต่แค่มีเวลาดูหนัง/ซีรีย์ หรือเล่มเกมที่ชื่นชอบระหว่างเดินทาง ก็ถือเป็นการพักผ่อนที่มีค่าในระหว่างสัปดาห์ที่ต้องทำงานแล้ว ในขณะที่คนที่ขับรถแม้มีข้อดีในเรื่องความเป็นส่วนตัวหรือสะดวกสบาย แต่ก็ทำให้มีเวลาพักผ่อนระหว่างสัปดาห์น้อยกว่าคนอื่นได้
3.สิ่งที่ตามมา หลังเป็นหนี้รถ
- ผ่อนแล้ว ต้องเป็นหนี้ยาว
หนี้ซื้อรถยนต์ จะถูกคิดอัตราดอกเบี้ยแบบคงที่หรือ Flat Rate ซึ่งจะเป็นการคิดดอกเบี้ยไปล่วงหน้านับตั้งแต่วันทำสัญญาจนถึงผ่อนหมด แล้วเฉลี่ยมาเป็นส่วนหนึ่งของยอดผ่อนแต่ละเดือน ดังนั้นการโปะเพิ่มระหว่างสัญญาก็เสมือนการชำระเงินล่วงหน้าเท่านั้น แต่ยอดที่ต้องจ่ายรวมตลอดสัญญายังคงเท่าเดิม หรือก็คือต้องจ่ายดอกเบี้ยรวมเท่าเดิมไม่ว่าจะเร่งโปะแค่ไหนก็ตาม ถึงแม้การเร่งจ่ายจนปิดหนี้ได้ก่อนสัญญา ตามกฎหมายแล้วจะได้รับส่วนลดดอกเบี้ยก็ตาม แต่ส่วนลดที่ว่าหากคิดเป็นจำนวนเงินแล้ว ก็มักไม่สูงนักเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยรวมที่จ่ายไป ดังนั้นเมื่อคิดจะเป็นหนี้ซื้อรถยนต์ก็ต้องยอมรับภาระหนี้ที่ว่าไปตลอดสัญญา
- อุปสรรค การขอสินเชื่อในอนาคต
การขอสินเชื่อใดๆ กับสถาบันการเงิน ปัจจัยหลักที่ถูกนำมาใช้พิจารณา คือ ความสามารถในการชำระหนี้ ซึ่งหากใครมีภาระผ่อนหนี้เกินกว่า 40%-60%ของรายได้หรือเงินเดือนแล้ว ก็เป็นการยากที่จะสามารถขอสินเชื่อเพิ่มได้อีก ซึ่งคน Gen Z ที่เพิ่งเริ่มต้นทำงานไม่นาน รายได้มักยังไม่สูง หากมีผ่อนรถยนต์สัก 1 คัน ย่อมมีภาระหนี้ไม่น้อยกว่า 40%-60%ของรายได้ ไปอีกหลายปี ทำให้ในอนาคตหากมีความจำเป็นต้องขอสินเชื่อ เช่น สินเชื่อบ้าน ฯลฯ ย่อมมีความเป็นไปได้ยากที่จะทำได้แล้ว ยิ่งหากมีประวัติค้างชำระหนี้ด้วยแล้ว แม้อนาคตจะมีรายได้เพิ่ม ก็เป็นไปได้ยากที่จะสามารถขอสินเชื่อใหม่ได้ภายใน 3 ปี หลังจากเคลียร์หนี้เดิมที่เคยเสียไป
รถยนต์ ของที่หลายคนมองว่าฟุ่มเฟือย แต่ก็ยังเป็นของจำเป็นสำหรับบางคน แม้คน Gen Z หลายคนจะเริ่มมีประวัติค้างชำระหนี้ แต่หากเรามีความจำเป็นต้องซื้อรถยนต์ก็ขอให้ประเมินความสามารถของตนเองให้รอบด้าน พร้อมกับเปรียบเทียบทางเลือกอื่น เช่น เช่าห้องพัก เรียกใช้รถผ่านแอปพลิเคชัน ฯลฯ ว่าการซื้อรถยังเป็นทางเลือกที่คุ้มค่าในระยะยาวจริงหรือไม่
สัมภาษณ์เครดิตบูโร เรื่องหนี้เสียสินเชื่อรถยนต์